
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
ปัญหาหนี้ครัวเรือนภาคเหนือ เป็นความเปราะบางต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา และยังคงมีสัญญาณความเปราะบางต่อเนื่อง โดยหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนในภาคเหนือ ปี 2566 อยู่ที่ราว 182,968 บาทต่อครัวเรือน เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี สูงกว่าประเทศถึง 1 เท่า สะท้อนฐานะครัวเรือนที่มีความเปราะบางและความเป็นอยู่ที่แย่ลงอย่างปฏิเสธไม่ได้
“พรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง” ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอันเปราะบางนี้ มีแนวโน้มทิศทางอย่างไร และแนวทางการแก้ไขที่ยั่งยืน
เศรษฐกิจภาคเหนือโตต่ำ โตช้า
ภาพรวมอัตราการเติบโตเศรษฐกิจภาคเหนือในระยะ 10 ปี และภาพรวมรายได้ครัวเรือนภาคเหนือระยะ 10 ปี ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2565 ตามข้อมูล GRP ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เศรษฐกิจภาคเหนือโตเฉลี่ย 0.6% ซึ่งเติบโตต่ำกว่าประเทศที่ร้อยละ 1.9 และเติบโตช้ากว่าอดีต
โดยล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) ได้ทำรายงานประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเหนือ (GRP ของภาคเหนือ) ในปี 2567-2568 โดยมีอัตราการขยายตัวที่ประมาณ 1.7% และ 2.1% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าประมาณการ GDP ของประเทศปี 2567 และ 2568 ที่ 2.6% และ 3.0% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจภาคเหนือก็ยังคงโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและประเทศ ส่วนหนึ่งจากความเปราะบางของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจในพื้นที่
สำหรับรายได้ครัวเรือนในภาคเหนือพบว่า รายได้ครัวเรือนภาคเหนือเติบโตต่ำและกระจายตัวไม่ทั่วถึง พัฒนาการของการกระจายรายได้ปรับดีขึ้นน้อย และรายได้ที่เติบโตต่ำถูกชดเชยด้วยการพึ่งพิงเงินช่วยเหลือที่มากขึ้น
ปัจจัยสำคัญใดที่ทำให้หนี้ครัวเรือนภาคเหนือเพิ่มขึ้น
ช่วงก่อนหน้าโควิด มีการกระตุ้นให้คนกู้ยืม/สร้างหนี้ ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้จากการทำงาน ทำให้ครัวเรือนในภาคเหนือมีความเปราะบางเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการทำงานของครัวเรือนในภาคเหนือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.1 ต่อปี ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 3 ต่อปี เทียบกับประเทศที่โตถึงร้อยละ 2.6
โดยข้อมูลการสำรวจรายได้ครัวเรือนในภาคเหนือปี 2556 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 1.5 หมื่นบาท และจำนวนครัวเรือนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 69 มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี จนถึงปี 2566 พบว่าครัวเรือนในภาคเหนือมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 2.1 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 1.8 หมื่นบาท แต่ยังคงมีจำนวนครัวเรือนร้อยละ 67 ที่รายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จะเห็นว่าพัฒนาการของการกระจายรายได้ปรับดีขึ้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับเวลาที่ผ่านไป
รายได้จากการทำงานของครัวเรือนภาคเหนือที่เติบโตต่ำเป็นอุปสรรคที่ทำให้การกระจายรายได้ปรับดีขึ้นได้ช้า หากคำนวณโดยใช้ข้อมูลรายได้จากการทำงานของครัวเรือนภาคเหนือ ปี 2566 แบ่งกลุ่มครัวเรือนเป็น 4 ระดับชั้น กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้จากการทำงานอยู่ระดับล่าง (Percentile ที่ 25) จะมีรายได้อยู่ที่ 60,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาทต่อครัวเรือนเท่านั้น
หากสมมุติให้รายได้เติบโตต่ำเช่นที่ผ่านมา ประมาณร้อยละ 1 จะต้องใช้เวลายาวนานถึง 33 ปี กว่าครัวเรือนในกลุ่มนี้จะเลื่อนชั้นไปเป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง (Percentile ที่ 50) ที่รายได้ 142,164 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
อีกปัจจัยสำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้จากการทำงาน เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนเปราะบางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการทำงานของครัวเรือนในภาคเหนือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.1 ต่อปี ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 3 ต่อปี หากพิจารณาถึงหมวดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนพบว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากอยู่ในหมวดค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งครัวเรือนยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นที่สามารถลดได้อีกร้อยละ 10
อาทิ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบันเทิง ดังนั้น เมื่อค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้จากการทำงาน ครัวเรือนจึงต้องอาศัยรายได้จากแหล่งอื่นมาช่วย โดยเฉพาะเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ เงินส่งกลับของคนในครอบครัว รวมถึงการกู้ยืม
รายได้น้อย รายจ่ายสูง
ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่า หนี้เฉลี่ยของครัวเรือนในภาคเหนือ ปี 2566 เท่ากับ 182,968 บาทต่อครัวเรือน เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี (ประเทศร้อยละ 1.9) ซึ่งสูงกว่าประเทศถึง 1 เท่า ภาระหนี้สินที่สูงขึ้น สะท้อนฐานะครัวเรือนที่มีความเปราะบางและความเป็นอยู่ที่แย่ลง โดยการก่อหนี้ของครัวเรือนในภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้ระยะสั้นเพื่อใช้อุปโภคบริโภคในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 34
ขณะที่การก่อหนี้ระยะยาวเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้เป็นปัจจัยกดดันฐานะการเงินครัวเรือนและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ที่ต่ำด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบวนซ้ำไปเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ รายได้ที่เติบโตต่ำถูกชดเชยด้วยการพึ่งพิงเงินช่วยเหลือที่มากขึ้น ทั้งการพึ่งพิงรายได้จากบุคคลอื่นและภาครัฐเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาตามแหล่งที่มาของรายได้พบว่าในอดีตครัวเรือนพึ่งพิงเงินช่วยเหลือ 22% ของรายได้ ผ่านไป 10 ปี ครัวเรือนในภาคเหนือพึ่งพิงเงินช่วยเหลือมากขึ้นเป็น 28% ของรายได้ โดย 1 ใน 4 เป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ
และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนความเปราะบางจากรายได้ที่โตต่ำ รวมถึงต้องพึ่งพารายได้ที่ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงตามนโยบายในแต่ละช่วงเวลา
หนี้ครัวเรือนปี’68 วิกฤตหรือไม่
หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ประเทศ ไตรมาส 3/2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากร้อยละ 89.8 เป็นร้อยละ 89.0 จากการขยายตัวของหนี้ที่น้อยกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยการก่อหนี้ใหม่ลดลง ส่วนหนึ่งจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดตัวต่อเนื่อง สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวลดลง ทำให้สินเชื่อครัวเรือนต่อ GDP ทยอยปรับลดลง แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ด้อยลง
แนวโน้มหนี้ครัวเรือน และแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน
จากการจับชีพจรความเป็นอยู่ของคนภาคเหนือผ่านมิติรายได้ รายจ่าย และหนี้ จะเห็นว่ามีสัญญาณความเปราะบางต่อเนื่อง การเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้คาดว่าจะยังต่ำกว่าในอดีต ค่าใช้จ่ายยังอยู่ในระดับสูงและมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก ขณะที่หนี้ครัวเรือนในภูมิภาคแม้ชะลอลงได้บ้าง แต่คุณภาพของสินเชื่อด้อยคุณภาพยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในภาคเหนือให้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน
นอกจากแนวทางที่ ธปท.ช่วยดูแลใน 3 ด้าน ทั้งด้านเสถียรภาพราคาหรือรายจ่าย ด้านรายได้ และด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ยังต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ และคนในพื้นที่ เข้ามาร่วมกันสร้างโอกาสและอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน แบงก์ชาติให้ความสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.ผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้สินผ่านมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending หรือ RL) เพื่อให้สถาบันการเงินเข้ามาดูแลตลอดวงจรการเป็นหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ รวมทั้งช่วยเหลือแก้หนี้ที่มีปัญหา ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้
กำหนดให้สถาบันการเงินต้องเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง (Pre-emptive) และถ้าเป็น NPL แล้วต้องเสนอการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Troubled Debt Restructuring/TDR) ให้อย่างน้อย 1 ครั้ง และต้องไม่โอนขายหนี้ก่อน 60 วัน
วมถึงสร้างทางออกให้ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ในรายที่ได้จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นแล้ว ให้เข้ามาตรการแก้หนี้เรื้อรังเพื่อปิดจบหนี้ภายใน 7 ปี ซึ่งจะช่วยลดภาระการจ่ายค่างวดด้วยอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี
2.เผยแพร่ความรู้ทางการเงิน ทั้งในภาคประชาชนและการศึกษา มุ่งเน้นสร้างวินัยและภูมิคุ้มกันทางการเงินให้เท่าทันและยั่งยืน รวมทั้งปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี นอกจากนี้ คือ สื่อสารเตือนภัยทางการเงิน เพื่อป้องกันประชาชนจากภัยการเงิน ยกระดับการจัดการภัยทุจริตทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ออกมาตรการจัดการและป้องกันภัยการเงิน เพื่อช่วยดูแลให้ประชาชนใช้บริการได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น
3.ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ในกลุ่มเปราะบาง ล่าสุดในภาคเหนือมีผู้ประสงค์ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วราว 1 แสนราย โดยขยายเวลาเปิดรับเข้าร่วมโครงการถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
นอกจากนี้ บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ยังได้เน้นหนักในเรื่องการเพิ่มพูนความรู้ด้านสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้บริการทางการเงิน ทั้งการให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการมุ่งเน้นเสริมความรู้ความเข้าใจด้านบัญชีและงบการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเตรียมพร้อมก่อนขอสินเชื่อ ให้คำปรึกษาวิเคราะห์สุขภาพทางการเงิน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น