
เกษตรกรภาคใต้ชี้พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันหด ขณะที่แนวโน้มราคาปี 2568 คาดทะลุเกิน 12 บาทต่อ กก. จากที่ปัจจุบันเคลื่อนไหว 9-10 บาทต่อ กก. หลังป้องกันน้ำมันปาล์มเถื่อนไหลเข้าไทยอยู่หมัด จี้ภาครัฐอัดงบประมาณหนุนพัฒนายกระดับการปลูกในพื้นที่เดิมให้ได้ผลผลิตเพิ่ม 7-8 ตันต่อไร่ จากปัจจุบันเฉลี่ย 4 ตันต่อไร่ ด้านเครือข่าย คยปท.เผยพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี นำร่องนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากมาเลย์ มาผสมข้ามสายพันธุ์ หวังเพิ่มผลผลิตต่อไร่
นายโอภาส หนูชิต สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดพัทลุง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ปาล์มน้ำมันจังหวัดพัทลุง และเจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้มีการลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล และนครศรีธรรมราช ปลูกกันมากในโซนลุ่มน้ำ และโซนชุ่มน้ำ
เนื่องจากสถานการณ์ปาล์มน้ำมันในปี 2568 มีทิศทางราคาที่ดี โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 9-10 บาทต่อ กก. สมดุลกับราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 47-48 บาทต่อ กก. ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปาล์มน้ำมันราคาดี เพราะรัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มีนโยบายไม่นำเข้าปาล์มน้ำมันจากต่างประเทศ และมีการควบคุมดูแลที่ดี
“ตอนนี้ปาล์มน้ำมันราคาดี แต่เกษตรกรในจังหวัดพัทลุงประสบปัญหาพื้นที่เหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมันกลับทยอยลดลง ขณะที่บางพื้นที่ปลูกได้ไม่ถึงหลักหมื่นไร่ บางพื้นที่ต้องโค่นทิ้งต้นปาล์มน้ำมันเก่าที่ครบอายุ ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องหาทางเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่จากต้นเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยปัจจุบันได้ผลผลิตเฉลี่ยไม่เกิน 4 ตันต่อไร่ต่อปี แต่สามารถพัฒนาเพิ่มผลผลิตให้ได้ถึง 6-8 ตันต่อไร่
ดังนั้น ที่ผ่านมาได้ขอให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณมาทำโครงการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ และการบริหารจัดการให้เกษตรกรทั่วประเทศกว่า 6 ล้านไร่อย่างจริงจัง ทั้งการปลูก การดูแลรักษา การบำรุงต้น แต่ภาครัฐบอกไม่มีงบประมาณสนับสนุน” นายโอภาสกล่าว
ทางด้าน นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน และประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) กล่าวว่า ปาล์มน้ำมันราคาดี แต่พื้นที่เหมาะสมในการปลูกที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ที่มีน้ำฝนปริมาณมากลดน้อยลง ดังนั้นการจะปลูกเพิ่มได้ต้องโค่นต้นยางพาราออก เพราะผลผลิตที่มีปริมาณมากจึงจะคุ้มทุน การขุดคลองไส้ไก่ผลผลิตก็ไม่ได้ปริมาณมากตามเป้าหมาย
ขณะที่อนาคตยังมีความต้องการผลผลิตปาล์มน้ำมันอีกจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณผลผลิต โดยยกระดับพัฒนาคุณภาพเพื่อให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสวนปาล์มน้ำมันบางแห่งสามารถปลูกได้ระดับ 7-8 ตันต่อไร่ แต่ภาพรวมน่าจะมีไม่เกิน 5% ของสวนปาล์มทั่วประเทศ
“เกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มเครือข่ายของ คยปท.ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีการพัฒนายกระดับคุณภาพปาล์มน้ำมันมาแล้วระยะหนึ่ง โดยทยอยปลูกรุ่นละ 1,000 ต้น รวมประมาณ 8,000 ต้น ตอนนี้อายุ 2 ปี จะเริ่มให้ผลผลิตรุ่นแรก ประมาณ 35 ทะลายต่อต้น หรือประมาณ 7-8 ตันต่อไร่ เป็นต้น โดยต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ได้เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งเกิดจากการนำปาล์มน้ำมันถึง 7 สายพันธุ์มาผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ เอ เอ ไฮบริดา 1 (AA Hybrida 1S) โดยมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศมาเลเซีย ประมาณ 30,000 เมล็ดต่อปี ซึ่งมาเลเซียถือว่าเป็นผู้ผลิตสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันอันดับต้น ๆ ของโลก” นายทศพลกล่าว
นายทศพลกล่าวต่อไปว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ราคาปาล์มปรับตัวในทิศทางที่ดี 1.เรื่องดีมานด์ซัพพลาย 2.เรื่องการป้องกันน้ำมันปาล์มเถื่อนได้มีประสิทธิภาพ 3.สภาพอากาศผันผวนเปลี่ยนแปลง และในปี 2567 ปริมาณน้ำฝนมาก ทำให้ปาล์มน้ำมันไม่ขาดคอ หลังจากนี้ประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2568 ผลผลิตปาล์มน้ำมันจะออกปริมาณมาก คาดว่าปีนี้แนวโน้มราคาจะปรับตัวขึ้นอีก อาจจะทะลุถึง 12 บาทต่อ กก. จากที่ขณะนี้เคลื่อนไหวกว่า 10 บาทต่อ กก.