ทส. หนุนท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน หลังปี’67 กวาดรายได้ 1.6 ล้านล้านบาท

ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดงาน Andaman Sustainable Tourism Forum 2025 พร้อมลงนามความร่วมมือ Green Hotel Plus Phuket Sandbox ยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมการท่องเที่ยว

ณ ห้องประชุม โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน Andaman  Sustainable Tourism Forum 2025  และพิธีลงนามความร่วมมือ Green Hotel Plus Phuket Sandbox โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นาย ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน, นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, ผู้อำนวยการกองพัฒนาบริการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมฯ

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องมือที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมประเพณีของเรา เป็นที่มาที่ทำให้รัฐบาล ได้กำหนดขับเคลื่อนเป็นนโยบาย Soft Power ทำให้ปี 2567 สามารถ ขยายตัวการท่องเที่ยว 26.27% สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวน 1.67 ล้านล้านบาท

ซึ่งวิกฤตที่โลกต้องเผชิญ คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีผลการศึกษาคาดว่า อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในวงกว้าง น้ำทะเลสูงขึ้น มีพายุในทะเลที่มรุนแรงและถี่ขึ้น รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและภัยพิบัติต่างๆ จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พวกเราจะต้องร่วมมือช่วยเหลือกันเพื่อลดทอนความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ประเทศไทยเป็นหนึ่งภาคีและเป็นสมาชิก ที่ออกมาร่วมกันปกป้องเรื่องภูมิอากาศ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตามสภาพกำลังที่มี แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับต้นของโลก แต่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความรุนแรงที่ยากต่อการคาดเดา โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่มที่ผ่านมา เกิดความสูญเสียต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นมูลค่าหลายล้านบาท  เป็นภัยคุกคามสำคัญที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยและจังหวัดภูเก็ตทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงการปกป้องระบบนิเวศ และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ที่นับว่าเป็นต้นทุนในการดำรงชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงพัฒนาเครื่องมือและกลไกที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อน

ได้แก่ “ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”และ “แผนปฏิบัติต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ”  ซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งพิจารณารับฟังความคิดเห็น สิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานและเป็นเครื่องมือที่เข้ามารองรับการจัดการความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Model จะช่วยสร้างสมดุลการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคม ให้พร้อมต่อการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่แนวทางที่แก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  จัดการอบรมการสอนดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ คือ ดำน้ำอย่างปลอดภัยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล รวมถึงมีอาสาสมัครทะเลและชายฝั่งร่วมกันเก็บขยะ

ในส่วนการสร้างภูมิคุ้มกันหรือสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยว  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย และมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต สนับสนุนการรับรองเกณฑ์โรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน(Green Hotel Plus) ซึ่งเท่ากับเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณ์ของธุรกิจการท่องเที่ยวให้ตอบสนองแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ดึงดูดการท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูง โดยดำเนินการภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์

ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสถาบันการเงิน ในการเพิ่มประสิทธิภาพและสิทธิประโยชน์ของผู้มาใช้งานในโรงแรม ผ่านการรับรองสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการโรงแรม เพื่อยกระดับรับรองตามเกณฑ์ของโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเตรียมความพร้อมที่ดีเพื่อจะก้าวเข้าสู่ความยั่งยืน เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของกระทรวงทรัพฯ ที่จะทำให้สำเร็จภายในปี 2050-2065 ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานโดยเฉพาะองค์การการศึกษาหลายแห่ง เริ่มมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว และคาดว่าอาจทำได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคตอันใกล้ของประเทศ  การดำเนินงานในวันนี้จึงถือว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือทุกหน่วยงาน รวมถึงประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ จะต้องตระหนักและให้ความร่วมมือด้วยช่วยกัน

“ผมขอชื่นชมและแสดงความยินดีที่จังหวัดภูเก็ต นับเป็นจังหวัดแรกที่ได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนพร้อมกันทั้งจังหวัดและสามารถทำภูเก็ต sandbox ไปขยายผลในพื้นที่อื่นได้ ขออำนวยพรให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้เพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รักษาธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติที่ล้ำค่าให้คงอยู่กับเราจนถึงลูกหลานและของภูเก็ตสืบต่อไป” นายนราพัฒน์กล่าว

ทางด้านนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ในการเชิญหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ตและฝั่งอันดามันเข้ารับฟังและทำความเข้าใจมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับที่พัก และสิทธิในการเข้าร่วมมาตรฐาน Green Hotel Plus ที่ได้รับการรับรองจาก GSTC

โดยมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง Thailand Tourism Green plan โดยนางสาว วรธีรา สุวรรณศร ผู้อำนวยการกองพัฒนาบริการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การบรรยายสรุปเรื่อง Green Fin  โดยนายปรานต์ ดิลกคุณากุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล, การบรรยายสรุปเรื่อง Phuket Robotic for Sustainability Sandbox  โดยดร.ปาษาณ กุลวานิช กรมวิทยาศาสตร์บริการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม,

การบรรยายพิเศษเรื่องความสำคัญของการท่องเที่ยวยั่งยืนในบริบทการท่องเที่ยวโลกโดย นายอัครวิชย์ เทพาสิต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, การบรรยายพิเศษเรื่อง Blue economy โอกาสของอันดามัน โดยดร. วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ต่อมามีการร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือ ภายใต้ความเข้มแข็งของจังหวัดภูเก็ตและฝั่งอันดามัน 3 ฉบับ ได้แก่

1. Green Hotel Plus Phuket Sandbox ลงนามร่วมกัน 11 หน่วยงาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนา และยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการ ให้ได้รับมาตรฐานกรีนโฮเทล พลัส ไม่น้อยกว่า 60% ของโรงแรมที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดภายในระยะเวลา 2 ปี

โดยมีการอบรมผู้ประกอบการและอบรมผู้ทวนสอบ หรือออดิเตอร์ ถ้ามีผู้ทวนสอบ 100 คน เริ่มอบรม 13-14 มีนาคมนี้ จะทำให้มีโรงแรมที่ผ่นมาตรฐานมากถึง 600 แห่งภายใน 2 ปี ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ดังนั้นการได้รับการรับรองมาตรฐานที่พักจะทำให้ผู้ประกอบการอย่างน้อย 600 แห่งของภูเก็ตสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น

2. Green Fin Phuket Sandbox ลงนามกับกรมทรัพยากรชายฝั่งทางทะเล เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวดำน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่อันดามัน ส่งเสริมการพัฒนาสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่อันดามันให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวดำน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานกรีนฟินและมาตรฐานกิจกรรมดำน้ำของกรมการท่องเที่ยว

3. Phuket Robotic for Sustainability Sandbox ลงนามกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์อัตโนมัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดภูเก็ต

ซึ่งปัจจุบันขยะอินทรีย์ที่ถือเป็นปัญหาสำคัญในย่านเมืองเก่าภูเก็ตคือ ลูกมะพร้าว ซึ่งสร้างความยากลำบากในการจัดเก็บให้แก่เทศบาลนครภูเก็ต จึงริเริ่มคิดค้น “หุ่นยนต์ช่วยเก็บขยะ” โดยจะร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเก็บขยะอินทรีย์ตัวแรกของประเทศไทย ภายใน 3 เดือนจะเห็นอย่างเป็นรูปธรรมและภายใน 1 ปีจะเห็นหุ่นยนต์เดินเก็บขยะที่เมืองเก่าภูเก็ต