
หลังจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) แจ้งพบทุเรียนไทยใช้สารย้อมสี Basic Yellow 2 หรือ BY2 ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 จีนบังคับการนำเข้าต้องแนบใบผลตรวจแคดเมียม และ BY2 โดยกรมวิชาการเกษตรประกาศทุเรียนผลสดที่จะส่งจีนต้องมีค่าแคดเมียมไม่เกิน 0.05 มก./กก. และ BY2 ต้องไม่พบการปนเปื้อน
โดยจีนสุ่มตรวจที่ด่าน 100% ล่าสุดเกษตรกร ล้ง ผู้ส่งออกใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกมาประชุมร่วมกว่า 2,000 คน เพื่อหาทางออก เพื่อให้จีนปลดล็อกการตรวจ 100% ก่อนฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออก 1.04 ล้านตัน จะออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568
หวั่นปัญหาสวมใบ GAP
นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา เจ้าของกลุ่มทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน และที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย (ATDP) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงนี้ทุเรียนภาคตะวันออกยังออกน้อยมาก รวม ๆ ไม่เกินวันละ 2 ตู้ ส่งออกไปทางเครื่องบิน ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือการนำทุเรียนที่อื่นมาแพ็ก และสวมสิทธิ GAP ภาคตะวันออก ในขณะที่เรา Set Zero พยายามทำ Big Cleaning กันอยู่ ถ้าจีนมีการตรวจเจอสารแคดเมียม และ BY2 จะมีผลกระทบกับทุเรียนภาคตะวันออกที่จะออกมาใน 20-30 วันนี้ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าขณะนี้มีโรงงานแพ็กทุเรียนเปิดรับแพ็กทุเรียน 3-4 แห่ง เกรงว่าจะนำทุเรียนที่อื่นมาแพ็กที่จันทบุรี และใช้ GAP ของภาคตะวันออก เกรงว่าจะเป็นทุเรียนภาคใต้ แต่ใช้ใบ GAP ตะวันออก
“ล้งจะมีโรงแพ็กทั้งภาคใต้ และตะวันออก การนำทุเรียนภาคใต้มาแพ็กที่ตะวันออกทำได้ แต่อยากให้ใช้ใบ GAP ของภาคใต้เท่านั้น เพราะตอนนี้ทางด่านจีนตรวจเจอ BY2 ทุเรียนภาคตะวันออกยังไม่มีปริมาณที่จะส่งออกทางบกได้ เกรงว่าถ้าตรวจสอบเป็น GAP ภาคตะวันออกจะมีผลกระทบต่อการสร้างความเชื่อมั่นที่เราพยายามทำกันในขณะนี้” นายสัญชัยกล่าว
จี้รัฐสกัดทุเรียนข้ามเขต
นายทวีวงศ์ ชื่นอารมณ์ เกษตรกร อ.เขาสมิง จ.ตราด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ยังกังวลปัญหาเรื่องการนำทุเรียนจากจังหวัดอื่นนอกพื้นที่มาแพ็กบรรจุที่ล้งในภาคตะวันออก เนื่องจากจังหวัดอื่นที่ยังไม่ได้ยื่นขอตรวจดิน และน้ำ อาจมีความเสี่ยงพบการปนเปื้อนของสารเคมีที่กรมวิชาการเกษตรห้ามใช้
จึงอยากเสนอแนวทางการแก้ปัญหา โดยให้กรมวิชาการเกษตรควรจัดทำมาตรการคล้ายกับที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการเวลาขนย้ายสัตว์ข้ามเขต กรณีเกิดโรคระบาด โดยให้หน่วยราชการต้นทางออก “ใบขนย้ายทุเรียน” ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่า ทุเรียนจำนวนนี้มาจากสวนใด จังหวัดใด ขอเคลื่อนย้ายข้ามเขตไปล้งใด จังหวัดใด พร้อมกับแนบใบตรวจทุเรียนจำนวนดังกล่าวว่าปลอดสารแคดเมียม และ BY2 ที่ชัดเจน
“ตอนเกิดโรคระบาดในหมู การจะเคลื่อนย้ายสัตว์เป็น สัตว์ตายจะต้องมีใบกำกับการเคลื่อนย้ายข้ามเขตชัดเจน จึงอยากให้กรมวิชาการเกษตรออกกฎระเบียบ เพื่อป้องกันปัญหาสารตกค้างในทุเรียนเช่นเดียวกัน ไม่อย่างนั้นอาจจะพบปัญหาทุเรียนจากจังหวัดอื่นนอกภาคตะวันออกส่งมาแพ็กที่ล้งในจังหวัดจันทบุรี และส่งออกไปขายในนามของทุเรียนจันทบุรี จะเกิดปัญหาได้” นายทวีวงศ์กล่าว
นายทวีวงศ์กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกตื่นตัวในการตรวจดิน และน้ำ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นให้ล้งในการเข้ามาเหมาสวน เพื่อซื้อทุเรียน ขณะเดียวกันได้ยินว่า ผู้ประกอบการที่ผลิตปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ทั้งปุ๋ย ยาหลายแห่งได้มีการนำเสนอว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองไม่มีสารปนเปื้อน เพื่อจูงใจให้เกษตรกรมาซื้อสินค้า ซึ่งต่อไปเกษตรกรเองควรระมัดระวังในการซื้อปุ๋ย และยา หากสารเคมีตัวใดไม่จดทะเบียนการค้าถูกต้องตามกฎหมาย เกษตรกรอย่าไปซื้อใช้ ทั้งนี้ คาดว่าหากผลตรวจดิน และน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซีอย่างต่อเนื่อง และพบปริมาณน้อย คาดว่าทางการจีนอาจจะปลดล็อกการตรวจที่ด่าน 100%
ร้านค้าแห่ตรวจปุ๋ย-ยา
นายวิสุทธิ์ นพพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จันทบุรีคลังเกษตร อ.มะขาม จ.จันทบุรี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าทางร้านจะขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร จำหน่ายปุ๋ย ยา สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร แน่ใจ 100% ว่าปลอดภัยจากสารแคดเมียม (ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด) และสาร BY2 แน่นอน แต่กระแสการพบสาร BY2 ที่มีข้อสงสัยว่าอาจจะมาจากสวน
ทำให้เกษตรกรมีความวิตกกังวล ในการใช้ปัจจัยการผลิต บริษัทได้นำปัจจัยการผลิตที่มีจำหน่ายส่งเข้าตรวจห้องแล็บ เพื่อออกใบรับรอง ขณะนี้บริษัทตรวจปุ๋ย ยา สารเคมีได้ประมาณ 50% จากนั้นจะนำผลการตรวจใบรับรองแจ้งมาร้านตัวแทนจำหน่าย ให้ทางร้านแสดงหลักฐานให้ลูกค้าดู เพื่อสร้างความมั่นใจ ซึ่งราคาปัจจัยการผลิต ตอนนี้ราคายังคงนิ่ง ๆ ไม่มีการปรับขึ้นหรือปรับลงแต่อย่างใด
ทางด้านบริษัท เขาแก้ว กรุ๊ป จำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์เคมี “ตราเขาแก้ว” ให้ข้อมูลว่า ด้วยสถานการณ์ และปัญหาที่เกิดขึ้นในการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน มีผลกระทบของการปนเปื้อนสารแคดเมียม (Cd) ในผลิตภัณฑ์ ได้ส่งผลิตภัณฑ์ปุ๋ยตราเขาแก้วทุกสูตรตรวจกับห้องปฏิบัติการ บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด (SGS)
ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทดสอบทางกายภาพ เทคโนโลยี และเคมีที่ครอบคลุมสําหรับสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานระดับโลก ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ปุ๋ยตราเขาแก้วทุกสูตร ตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารแคดเมียม (Cd) แต่อย่างใด และได้แจ้งร้านค้าตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ พร้อมทั้งแสดงใบรับรอง (Test Report) ให้ลูกค้ามั่นใจ ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยตราเขาแก้วทุกสูตรไม่มีการปนเปื้อนสารแคดเมียม (Cd)
ขณะนี้มีบางล้ง และสวนได้ดำเนินการทำความสะอาดไปก่อนแล้ว รวมถึงมีเกษตรกรจำนวนมากได้เก็บตัวอย่างดิน และน้ำในสวนมายื่นขอตรวจการปนเปื้อนของแคดเมียม และ BY2 จำนวนมาก เพื่อจะได้มีใบรับรองยืนยันให้ล้งที่จะเข้ามาซื้อมั่นใจว่าสวนตัวเองปลอดภัยจากสารตกค้างต้องห้าม
จันท์ดีเดย์บิ๊กคลีนนิ่ง 24 ก.พ.
นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการของ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากการตรวจติดตามงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 นั้น
ขณะนี้ได้ข้อสรุปจะดำเนินการจัด Big Cleaning Day ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 จ.จันทบุรี ตั้งแต่แหล่งผลิตในสวน โรงคัดบรรจุ (ล้ง) กระบวนการขนส่ง รวมทั้งรถ และอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ ให้ปราศจากสารเคมีตกค้าง และสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภคเห็นความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาทุกภาคส่วน
โดยกิจกรรมครั้งนี้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจะเป็นประธานในพิธีเปิดขบวนคาราวาน และมอบประกาศนียบัตรรับรองผู้ผ่านการดำเนินการ Big Cleaning ตามมาตรการป้องกันสารปนเปื้อน Basic Yellow 2 (เกษตรกร 10 ราย โรงคัดบรรจุ 10 ราย) ณ ตลาดทุเรียนจันท์ (ห้องเย็นเกาฟง) อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี