
ท่าเรือระนอง 10 ท่ารายได้พุ่ง 3 เท่าตัว อานิสงส์ปัญหาเมียวดี-ท่าขี้เหล็ก ผู้นำเข้า-ส่งออกย้ายจากด่านแม่สอด-แม่สาย ลงมาระนองเกือบ 3 หมื่นล้าน โดยเฉพาะนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ส่งออกปูนซีเมนต์พุ่ง เผยส่งสินค้าผ่านด่านแม่สอดถูกเรียกค่าธรรมเนียมด่านลอยเพิ่มสูงจาก 3 พันบาทเป็น 1 หมื่นบาทต่อคัน ด้านรัฐบาลกลางเมียนมาหนุนส่งทางด่านระนองเก็บภาษีได้เต็มที่
นายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดระนอง และเจ้าของท่าเรือโกม๊ก จังหวัดระนอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีสินค้านำเข้าและส่งออกไปประเทศเมียนมา รวมถึงสินค้าผ่านแดน ซึ่งเคยผ่านทางด่านแม่สอด จังหวัดตาก และผ่านด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย ย้ายมาใช้บริการนำเข้า-ส่งออกผ่านด่านจังหวัดระนองเพิ่มจำนวนมากขึ้น ตั้งแต่เกิดการระเบิดในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 และปัญหาในท่าขี้เหล็ก ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเรื่องคอลเซ็นเตอร์ ส่งผลให้ท่าเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และท่าเรือเอกชน รวม 10 ท่าคึกคัก คิดเป็นมูลค่าสินค้าผ่านท่าเพื่อนำเข้า-ส่งออก ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อเดือน
สินค้าผ่านด่านศุลกากรระนองทั้งนำเข้าและส่งออกช่วงปีงบประมาณ 2567 ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนกันยายน 2567 มีทั้งหมดรวม 1,295,123.94 ตัน คิดเป็นมูลค่า 29,630.85 ล้านบาท เทียบปีงบประมาณ 2566 มีสินค้าผ่านท่า น้ำหนัก 803,273.14 ตัน มูลค่า 21,626.04 ล้านบาท เท่ากับมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 491,850.8 ตัน คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 8,004.81 ล้านบาท และปี 2568 มีแนวโน้มจะมีสินค้าผ่านทางท่าเรือระนองเพิ่มขึ้นอีก ล่าสุดทางสมาคมนักธุรกิจไทยในประเทศเมียนมา (TBAM) ได้เดินทางเข้ามาติดต่อทางจังหวัดระนอง รวมถึงมีพ่อค้าเมียนมาอีกหลายรายเดินทางเข้ามาติดต่อว่าจะนำสินค้าผ่านเข้ามาเพิ่มอีก
และในอนาคตอาจจะมีสินค้าส่งไปเมืองยูนนาน ประเทศจีน ส่งผ่านทางระนองด้วย โดยไทยถือเป็นประตูการค้าโลก เพื่อส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 สินค้าจาก สปป.ลาว เข้ามาทาง จ.นครพนม ขนลงมา จ.ระนอง เพื่อส่งไปยูนนาน
“ผู้ประกอบการธุรกิจท่าเรือมีรายได้จากค่าบริการผ่านท่าจำนวนมาก เฉลี่ยประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อตู้คอนเทนเนอร์ ขนาดน้ำหนัก ประมาณ 25 ตัน รวมถึงได้ค่าเช่าโกดังสินค้าอีก เพราะบางครั้งสินค้าขนไม่ทัน รถใหม่เข้ามาต้องเอาลงใส่โกดังไว้ก่อน หรือบางครั้งเรือมาช้า รถรอไม่ไหว ก็เอาสินค้าลงใส่โกดังไว้ก่อน ส่วนชาวบ้านร้านค้าบริเวณใกล้ท่าเรือจะค้าขายได้เพิ่มขึ้น ส่วนชาวบ้านทั่วไปจะไม่ได้อะไร” นายธีระพลกล่าวและว่า “สำหรับสินค้านำเข้าจำนวนมากที่เห็นชัด ๆ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการนำเข้าพุ่งขึ้นอย่างมาก รวมถึงสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากคือ ปูนซีเมนต์ รวมถึงสินค้าผ่านแดนใส่ตู้คอนเทนเนอร์จากประเทศจีนผ่านเข้ามาทางท่าเรือแหลมฉบัง ใส่รถวิ่งมาลงเรือที่ท่าเรือระนอง”
โดยเฉพาะสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาพรวมประเทศไทยจะนำเข้าจากเมียนมาประมาณ 2 ล้านตันต่อปี เดิมนำเข้าผ่านทางด่านแม่สอด จ.ตาก ตอนนี้กระจายมานำเข้าทางด่านจังหวัดระนอง ปริมาณ 3.5 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาท คาดว่าปีนี้ปริมาณการนำเข้าผ่านด่าน จ.ระนอง จะเพิ่มเป็น 5 แสนตัน
ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลอตใหญ่เป็นล้านตันกระจายไปนำเข้าด้วยเรือขนาดใหญ่ผ่านทางเกาะสีชัง จ.ชลบุรี และมีการขนถ่ายจากเรือขนสินค้าขนาดใหญ่ลงเรือลำเลียง เพื่อขนส่งทางน้ำมาขึ้นที่ท่าเรือนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงการนำเข้าผ่านด่านศุลกากรกันตัง จ.ตรัง และท่าเรือสงขลา
9 ท่าเรือรายได้พุ่ง 2-3 เท่าตัว
นายพัฒนพงษ์ รุจิวิวัฒนกุล เจ้าของท่าเรือกิจไพศาล ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธุรกิจท่าเรือจังหวัดระนองทั้ง 9 แห่งคึกคักมาก เนื่องจากมีสินค้านำเข้าและส่งออกไปประเทศเมียนมา ทั้งสินค้าชายแดนและสินค้าผ่านแดนมาใช้บริการเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมืองเมียวดีในประเทศเมียนมามีปัญหากระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกผ่านทางด่านแม่สอด จ.ตาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่าเรือ จ.ระนอง มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2-3 เท่า และคาดการณ์ว่าแนวโน้มการนำเข้า-ส่งออกทางท่าเรือ จ.ระนอง จะยังดีต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยต้นทุนการขนทางเรือ ผู้ประกอบการสามารถควบคุมได้แม่นยำ
“ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2567 เป็นต้นมา ธุรกิจท่าเรือจังหวัดระนองคึกคักขึ้น มีสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านด่าน จ.ระนอง เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยสินค้าหลักที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเดิมนำเข้าน้อยมากประมาณ 2,000-6,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 300,000 กว่าตันต่อปี และส่วนสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาก เช่น ปูนซีเมนต์และอุปกรณ์ประมง โดยเฉพาะปูนซีเมนต์เดิมส่งออกประมาณ 10 ลำต่อเดือน ตอนนี้เพิ่มเป็น 20 ลำต่อเดือน”
แหล่งข่าวจากอำเภอแม่สอด จ.ตาก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนหนึ่งของสินค้าที่ย้ายไปนำเข้า-ส่งออกที่ท่าเรือจังหวัดระนอง เพราะรัฐบาลกลางเมียนมาเองต้องการให้ขนส่งผ่านทางท่าเรือระนอง เพราะสามารถเก็บภาษีนำเข้า-ส่งออก ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพิ่มขึ้น
ขณะที่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกทางด่านแม่สอด มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการที่ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ มีการตั้งด่านเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายทางถี่ขึ้น กว่าจะวิ่งไปถึงเมืองย่างกุ้งมีหลายด่านมาก โดยรถบรรทุกแต่ละคันมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากก่อนหน้านี้เสียค่าผ่านทางประมาณ 3,000 บาทต่อคัน ปัจจุบันเสียค่าผ่านทางรวมเกือบ 10,000 บาทต่อคัน ขณะที่การขนส่งทางเรือที่จังหวัดระนองเสียค่าธรรมเนียมให้รัฐบาลกลางชัดเจน สามารถคำนวณต้นทุนได้แน่นอน
สินค้าผ่านท่า ม.ค. 68 พุ่ง 3 พันล้าน
รายงานจากด่านศุลกากรระนอง ถึงสถิติสินค้าส่งออก ปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือนมกราคม 2568 มีมูลค่า 2,184.05 ล้านบาท (64,605.93 ตัน) เพิ่มขึ้น 516.98 ล้านบาท (19,011.98 ตัน) เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ 1,667.07 ล้านบาท (45,593.95 ตัน)
โดยสินค้าที่ถูกส่งออกมากที่สุด 10 อันดับ คือ 1.น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น มูลค่า 428.40 ล้านบาท (16,834.87 ตัน) 2.เครื่องยนต์ต้นกำลังกังหันขับก๊าซพร้อมอุปกรณ์ มูลค่า 345.90 ล้านบาท (23.32 ตัน) 3.ไขมันหรือน้ำมันที่ได้จากสัตว์หรือพืช 1,843.29 ตัน มูลค่า 90.44 ล้านบาท (1,843.29 ตัน) 4.เม็ดพลาสติก มูลค่า 89.63 ล้านบาท (2,418.50 ตัน) 5.เครื่องดื่มให้พลังงาน 79.70 ล้านบาท (1,844.63 ตัน)
6.กระเบื้องปูพื้นและทางเดิน กระเบื้องปูพื้นเตาหรือกระเบื้องติดผนัง ที่เป็นเซรามิก รวมทั้งหินโมเสก 49.72 ล้านบาท (5,561.33 ตัน) 7.ของปรุงแต่งชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ 45.25 ล้านบาท (1,139.50 ตัน) 8.โพลิโพรพิลีน เป็นเม็ดพลาสติก มูลค่า 39.74 ล้านบาท (1,1170.50 ตัน) 9.กระเบื้องแผ่นเรียบไฟเบอร์ซีเมนต์ไม่มีใยหิน มูลค่า 37.22 ล้านบาท (5,343.53 ตัน) 10.กระดาษและกระดาษแข็งที่ไม่เคลือบ ชนิดที่ใช้สำหรับเขียน พิมพ์ มูลค่า 36.65 ล้านบาท (1,198.74 ตัน) และอื่น ๆ 941.40 ล้านบาท (27,280.72 ตัน)
เทียบภาพรวมการส่งออก 10 อันดับ ปี 2567 มูลค่ารวม 18,405.97 ล้านบาท (587,489.79 ตัน) เพิ่มขึ้น 2,172.39 ล้านบาท (76,169.75 ล้านตัน) เมื่อเทียบกับปี 2566 มูลค่ารวม 16,233.58 ล้านบาท (511,320.04 ตัน)
สินค้าผ่านท่าปี’67 พุ่งเฉียด 3 หมื่นล้าน
รายงานข่าวจากด่านศุลกากรระนองช่วงปีงบประมาณ 2567 (เดือน ต.ค. 66-ก.ย. 67) มีสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านท่าทั้งหมดรวม 1,295,123.94 ตัน คิดเป็นมูลค่า 29,630.85 ล้านบาท แบ่งเป็นสินค้านำเข้า รวมทั้งหมด 707,634.15 ตัน คิดเป็นมูลค่า 11,224.88 ล้านบาท แบ่งเป็น
สถิติสินค้านำเข้า 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.เมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกรด 2 นำเข้าประมาณ 353,430 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,530.04 ล้านบาท 2.สัตว์น้ำ (ปลาแช่เย็น) นำเข้า 170,423.01 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,410.86 ล้านบาท 3.ปลาป่น นำเข้า 41,180 ตัน มูลค่า 1,625.26 ล้านบาท 4.เศษอะลูมิเนียมเก่าใช้แล้ว (นำเข้ามาหลอม) 6,826.23 ตัน มูลค่า 444.19 ล้านบาท 5.ถ่านไม้ป่าชายเลน นำเข้า 61,132.61 ตัน มูลค่า 275.09 ล้านบาท
6.ดีบุกสภาพสินแร่ 1,096.21 ตัน มูลค่า 246.14 ล้านบาท 7.เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ นำเข้า 1,827.51 ตัน มูลค่า 203.73 ล้านบาท 8.ปลาหมึกแช่เย็น, แช่เย็นจนแข็ง, หอยแครงมีชีวิต นำเข้า 8,151.45 ตัน มูลค่า 198.89 ล้านบาท 9.เครื่องยนต์ต้นกำลังกังหันขับก๊าซพร้อมอุปกรณ์ นำเข้า 32.50 ตัน มูลค่า 160.43 ล้านบาท 10.อวนทำจากวัตถุดิบไนลอน นำเข้า 272.39 ตัน มูลค่า 149.78 ล้านบาท อื่น ๆ นำเข้า 63,262.10 ตัน มูลค่า 1,980.47 ล้านบาท
สถิติสินค้าส่งออก 10 อันดับ ณ ด่านศุลกากรระนอง ปีงบประมาณ 2567 (เดือน ต.ค. 66-ก.ย. 67) รวมทั้งหมด 587,489.79 ตัน คิดเป็นมูลค่า 18,405.97 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.น้ำมันเชื้อเพลิง หล่อลื่น ส่งออก 135,115.94 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,070.14 ล้านบาท 2.ไขมันหรือน้ำมันที่ได้จากสัตว์หรือพืช ส่งออก 15,200.70 ตัน มูลค่า 607.37 ล้านบาท 3.เครื่องดื่มให้พลังงาน ส่งออก 15,276.92 ตัน มูลค่า 569.13 ล้านบาท 4.ท่อผนังชนิดไร้ตะเข็บใช้ในการขุดเจาะ ส่งออก 5,155.63 ตัน มูลค่า 526.45 ล้านบาท 5.กระเบื้องปูพื้น กระเบื้องติดผนัง ที่เป็นเซรามิก ส่งออก 60,832.50 ตัน มูลค่า 501.54 ล้านบาท
6.ของปรุงแต่งชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ส่งออก 11,108.68 ตัน มูลค่า 466.18 ล้านบาท 7.เม็ดพลาสติก ส่งออก 10,293.96 ตัน มูลค่า 396.77 ล้านบาท 8.กระเบื้องแผ่นเรียบ ส่งออก 55,052.23 ตัน มูลค่า 387.88 ล้านบาท 9.ตาข่ายจับปลา ส่งออก 1,701.03 ตัน มูลค่า 367.19 ล้านบาท 10.กระดาษ ส่งออก 11,047.72 ตัน มูลค่า 362.77 ล้านบาท อื่น ๆ ส่งออก 266,704.48 ตัน มูลค่า 10,150.55 ล้านบาท
ไทยได้ดุลค้าเมียนมา 2.4 หมื่น ล.
รายงานข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศแจ้งว่า การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปี 2567 โดยเฉพาะด่านชายแดนไทย-เมียนมา มีมูลค่าการค้ารวม 211,105 ล้านบาท หดตัว 5.52% โดยคิดเป็นการส่งออก อยู่ที่ 117,680 ล้านบาท หดตัว 8.51% ส่วนการนำเข้า 93,426 ล้านบาท หดตัว 1.48% ทั้งนี้ ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้าอยู่ที่ 24,254 ล้านบาท
สำหรับด่านสำคัญในการส่งออก-นำเข้าระหว่างไทย-เมียนมา มีด่านสำคัญ เช่น ด่านแม่สอด มีการส่งออกอยู่ที่ 68,217 ล้านบาท นำเข้าอยู่ที่ 8,058 ล้านบาท ด่านสังขละบุรี มีการส่งออกอยู่ที่ 6,455 ล้านบาท นำเข้าอยู่ที่ 65,598 ล้านบาท
ด่านระนอง มีการส่งออกอยู่ที่ 22,709 ล้านบาท นำเข้าอยู่ที่ 11,584 ล้านบาท และด่านแม่สาย มีการส่งออกอยู่ที่ 17,147 ล้านบาท นำเข้าอยู่ที่ 3,629 ล้านบาท
โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับสำคัญที่ไทยส่งออกไปเมียนมา เช่น น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน น้ำมันปาล์ม ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก เช่น ก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช สินแร่และผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น