
สภาลมหายใจเชียงใหม่ค้าน “อนุทิน” สั่งห้ามเผา ชี้อีเว้นต์ดับไฟไม่แก้ปัญหา จี้ทบทวนนโยบายใหม่แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ต้องฟังเสียงคนท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่ แถลงข่าว “นโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ต้องฟังเสียงคนท้องถิ่น” โดยประเด็นไฮไลท์สำคัญคือ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายห้ามเผาเด็ดขาด ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมาตรการห้ามเผาที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ไม่ได้ผล เป็นปัญหาที่วนในอ่าง และต้องการให้ทบทวนนโยบายใหม่ ก่อนที่ภาคีเครือข่ายจะมีการพิจารณาถอนตัว
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ของเชียงใหม่ ใช้วิธีการอีเว้นต์ดับไฟมาโดยตลอด ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ขณะที่ในช่วงระยะ 5 ปี มีการบูรณาการทุกภาคส่วนของเชียงใหม่ในการร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการดึงนวัตกรรมเข้ามายกระดับการแก้ปัญหา
ซึ่งค่อยๆปรากฏและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวางแผนกลุ่มป่า แผนชุมชน แผนตำบลฯลฯ แต่ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก ซึ่งมองว่ากระบวนการของเชียงใหม่ที่บูรณาการการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน อาจจะยังไม่เห็นผลอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็ได้เห็นพัฒนาการของการมีส่วนที่เข้มแข็งมากขึ้นของหลายหน่วยงาน อาทิ กพร. ฝ่ายวิชาการ สกสว. บพท. อบจ. ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ซึ่งทุกอย่างกำลังช่วยกันขับเคลื่อนร่วมมือมากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อมีคำสั่งจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งห้ามเผาเด็ดขาด ถ้าจังหวัดไหนเผาจะเด้งผู้ว่าฯ ซึ่งเหมือนย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว ตอนนี้เชียงใหม่กำลังออกจากอ่าง แต่ถูกกลับให้เข้าไปวนอยู่ในอ่างเหมือนเดิม เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งถึงพัฒนาการที่ค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่ทุกอย่างต้องถูกหยุด จึงขอเสนอไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล ว่า
ให้มีการทบทวนคำสั่งใหม่ ซึ่งไม่ควรเป็นคำสั่งเดียวที่ใช้ทั่วประเทศ เพราะต้องดูบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น เชียงใหม่มีแผนอยู่แล้วในปีนี้ที่จะลดการเผา 25% ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐอยู่แล้ว แต่กระบวนการและวิธีการเป็นการบูรณาการแบบมีส่วนร่วม ดังนั้น เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูและสนับสนุน จังหวัดไหนที่มีแผนทำได้ดีก็ควรสนับสนุนให้ดียิ่งขึ้น เพราะเป้าหมายคือ ต้องการลดฝุ่นและลดไฟ หากกลับไปใช้วิธีการเดิมคือ ห้ามเผาเด็ดขาด ก็จะเกิดปรากฏการณ์ลักลอบเผา การเผาก็จะไร้ระบบไร้ระเบียบ เผาแล้วหนี และยังอาจมีประเด็นการท้าทายอำนาจรัฐ ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และควบคุมไม่ได้มากขึ้น
“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระบวนการของเชียงใหม่คือ เน้นการป้องกัน พูดคุย สร้างความรู้ สร้างระบบ สร้างระเบียบ และยกระดับบริหารการจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดฝุ่นควันและไฟ ไฟที่ไม่จำเป็น เราเห็นด้วยที่ต้อง Zero Burning คือห้ามเด็ดขาด แต่พื้นที่ที่มีความจำเป็น เราควรจะบริหารแบบควบคุมจริงจัง ยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้เริ่มมีการใช้ความรู้ของชุมชนในการจัดการไฟหรือการเผา ซึ่งหากเลยระยะเวลาการบริหารจัดการเชื้อเพลิง จะเกิดไฟที่ควบคุมไม่ได้”
นายชัชวาลย์ กล่าวต่อว่า เชียงใหม่ถูกวางเป็น Government Lab ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันPM 2.5 โดยมี กพร. สกสว.สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีมากมาย ที่ร่วมกันสร้างนวัตกรรมทางสังคมในการแก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นควัน ดำเนินการมา 5 ปีแล้ว
โดยมีพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาที่ดีมาโดยลำดับ แต่อยู่ๆก็ต้องหยุดชะงัก สะท้อนปัญหาการใช้อำนาจทางการเมืองจากส่วนกลางที่มองการแก้ปัญหาแบบเสื้อโหล ใช้คำสั่งแก้แบบเดียวกันทั้งประเทศ ทั้งๆที่บริบทของแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน กรุงเทพฯ ไม่มีป่า มีเรื่องคมนาคมขนส่งโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องแก้แบบหนึ่ง เชียงใหม่มีป่า 70% มีรถยนต์ 1.5 ล้านคัน ก็ต้องแก้แบบหนึ่ง แม่ฮ่องสอนมีป่า 86% รถยนต์มีน้อยนิดก็ต้องแก้อีกแบบหนึ่ง
ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยทบทวนคำสั่ง มีการติดตามประเมินโดยใช้ข้อมูลวิชาการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัด หากจังหวัดไหนที่มีผลงานที่ดีก็ควรสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่อง จังหวัดไหนที่ยังมีข้อจำกัด ก็เข้าไปสนับสนุนให้มากยิ่งขึ้น ขอเรียกร้องให้จังหวัดเชียงใหม่มีกระบวนการเดินหน้าต่อเนื่องต่อไป หากไม่เห็นคุณค่าการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา 5 ปี หากไม่เห็นคุณค่าการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และไม่มีการการทบทวนอย่างเร่งด่วน ภาคีต่างๆน่าจะมีการพิจารณาถอนตัว