รถแทรกเตอร์ใต้ดั้มพ์ราคาเดือด แก้เกมไฟแนนซ์เข้มสินเชื่อ-จูงใจผ่อนน้อย

Southern Tractor

ตลาดรถแทรกเตอร์ปี’68 เดือด ดัมพ์ราคาลง 20-30% แก้เกมไฟแนนซ์เข้มปล่อยสินเชื่อยาก ทั้งที่เกษตรกรมีความต้องการสูง ทำยอดขายปี’67 ภาพรวมทั้งตลาดเม็ดเงินหดหายไปหมื่นล้าน โดยเฉพาะค่ายรถจีนมาแรง ขายราคาต่ำ มีบริษัทไฟแนนซ์ของตัวเอง ส่วนค่ายญี่ปุ่น ยุโรป อินเดีย ไม่มีไฟแนนซ์ของตัวเอง ด้านบริษัทไฟแนนซ์เล็งผ่อนปรนเงื่อนไข ปรับตัวผ่อนชำระน้อย ดอกเบี้ยต่ำ

นายวินัย ปิ่นทองพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิ่นทองวิศวะ 2023 จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถแทรกเตอร์ แบรนด์อิเซกิ จากประเทศญี่ปุ่น, เอฟเอ็มเวิลด์ จากประเทศจีน และนิวออร์แลนด์ จากประเทศอังกฤษ ในพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2568 สถานการณ์ตลาดการค้ารถแทรกเตอร์มีความต้องการสูงมาก ตามสถานการณ์และทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ โกโก้ กล้วย ทุเรียน ยกเว้นข้าว ที่ราคาปรับตัวลง โดยมียอดจองมาเต็ม 100%

แต่ปรากฏว่า เกษตรกรที่จะซื้อสามารถขอสินเชื่อผ่านบริษัทไฟแนนซ์ได้ไม่เกิน 50% หรือจากยอดจองรถมา 100 คัน ผ่านการพิจารณาได้ไม่เกิน 50 คัน โดยบริษัทไฟแนนซ์ตรวจพบลูกค้าส่วนใหญ่มีบัญชีรายชื่อกับเครดิตบูโร ทั้งที่เกษตรกรหลายราย แม้มียอดค้างชำระกับสถาบันการเงิน แต่ได้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ และทยอยจ่ายชำระตามกำหนดเวลาแล้วก็ตาม แต่ประวัติการผิดนัดชำระในเครดิตบูโร ยังไม่มีการลบประวัติเก่าออก

ตลาดรถแทรกเตอร์ปี 2567 ที่ผ่านมา อยู่ในระดับทรงตัว ทั้งที่มีแคมเปญ ทั้งแจกและแถม แต่ไม่สามารถกระตุ้นยอดขายได้ ดังนั้น ในปี 2568 จึงมีการเปิดกลยุทธ์ใหม่ คือการลดราคาลงประมาณ 20-30% เพื่อเปิดช่องทางให้กับผู้ที่มีความต้องการที่จะซื้อรถ ซึ่งการลดราคาถือว่าเป็นทางออกที่พอจะกระตุ้นยอดขายได้ เพราะผู้ซื้อมียอดการผ่อนชำระที่ไม่หนักมาก ที่สำคัญเมื่อปริมาณสินเชื่อไม่สูง โอกาสที่จะผ่านระบบไฟแนนซ์จะมีมากขึ้น

นอกจากนี้ ในปี 2568 กลุ่มไฟแนนซ์จะมีการพิจารณาออกแบบเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อในลักษณะผ่อนปรนขึ้น คาดว่าจะเป็นลักษณะให้ผ่อนชำระน้อย ดอกเบี้ยต่ำ เพราะถ้าไม่มีการผ่อนปรน การตลาดรถแทรกเตอร์ในปี 2568 น่าจะไม่ต่างกับปี 2567 ที่อยู่ในภาวะทรงตัว

“ตอนนี้เกษตรกรจำนวนมากต้องการรถแทรกเตอร์ โดยเฉพาะแบรนด์ญี่ปุ่น และยุโรป แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของไฟแนนซ์ ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อกับค่ายรถแทรกเตอร์จีน ซึ่งมีการทำตลาดค่อนข้างจะคล่องตัวกว่ารถค่ายอื่น ๆ ไม่มีการตรวจสอบเครดิตบูโร และราคาไม่สูง ที่สำคัญค่ายรถแทรกเตอร์จีนก็มีไฟแนนซ์เองคู่ขนานเป็นตัวสนับสนุน จึงเป็นจุดแข็งทางการตลาดมาก ทำให้รถแทรกเตอร์จีนสามารถทำตลาดไปได้ดี ต่างกับรถแทรกเตอร์ค่ายญี่ปุ่น ยุโรป และอินเดีย ไม่มีไฟแนนซ์คู่ขนาน และมีเงื่อนไขสำคัญ คือต้องใช้เงินดาวน์ค่อนข้างสูง”

ADVERTISMENT

นายวินัยกล่าวต่อไปว่า ภาพรวมตลาดรถแทรกเตอร์ทั้งประเทศไทยปี 2567 มียอดขายประมาณกว่า 30,000 คัน มูลค่าประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท จากปี 2566 ประมาณ 40,000 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายหดตัวไปประมาณ 10,000 ล้านบาท สำหรับเจ้าตลาดรถแทรกเตอร์รายใหญ่ สัดส่วนยังเป็นของบริษัท คูโบต้า จากประเทศญี่ปุ่น 70-80% รองลงมาเป็นค่ายอินเดีย จีน ยุโรป ฯลฯ 20% และกลุ่มบริษัท ปิ่นทองวิศวะจะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 5-10% สำหรับยอดขายในเขตภาคใต้

ปัจจุบันค่ายบริษัทรถแทรกเตอร์ทั้งหมด ได้โยกย้ายศูนย์ทางภาคใต้ ซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มารวมศูนย์จำหน่ายที่ จ.สุราษฎร์ธานีทั้งหมด ทั้งค่ายญี่ปุ่น ยุโรป จีน และอินเดีย เพราะเป็นพื้นที่จุดศูนย์กลางที่ใกล้เคียงกับจังหวัดต่าง ๆ เช่น ชุมพร ระนอง ภูเก็ต กระบี่ พังงา และนครศรีธรรมราช เนื่องจากพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส มีอุปสรรคเรื่องการทำการตลาดที่ค่อนข้างลำบาก

ADVERTISMENT

นายวินัยกล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของบริษัท ปิ่นทองวิศวะได้ขยายสาขาเพิ่มอีก 1 สาขา ที่บ้านนาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง จากเดิมมี 2 สาขา คือสาขาเขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง และสาขาทุ่ง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถแทรกเตอร์แบรนด์นิวออร์แลนด์ จากประเทศอังกฤษเพิ่มอีก 1 แบรนด์ จากที่มีอยู่ 2 แบรนด์ คือ อิเซกิ จากประเทศญี่ปุ่น และเอฟเอ็มเวิลด์ จากประเทศจีน โดยราคาเฉลี่ยรถแทรกเตอร์จะมี 3 ระดับ ขนาดเล็กราคา 500,000 บาทลงมา ขนาดกลาง 500,000 บาทขึ้นไป ส่วนขนาดใหญ่ราคา 1 ล้านบาทขึ้นไป