
มช. รับมอบเงินสนับสนุนจาก “กัญจนา ศิลปอาชา” 49.25 ล้านบาท ร่วมก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า บนพื้นที่ 26 ไร่ ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดพิธีรับมอบเงินสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา จำนวน 49.25 ล้านบาท ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีแผนที่จะทำโรงพยาบาลช้างมานานถึง 20 ปี แต่ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ และ มช.ได้ทำเรื่องของบประมาณไปทางภาครัฐมาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่ได้
ดังนั้น จึงมอบเงินส่วนตัวของตัวเองจำนวน 49.25 ล้านบาท ให้กับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการสร้างโรงพยาบาลช้างที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างโครงการให้เสร็จภายใน 1 ปีนับจากนี้
ทั้งนี้ ตนได้พิจารณาแล้วว่าโครงการนี้เพื่อประโยชน์ของช้างในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือทั้งยังจะเป็นที่ฝึกหัดนักศึกษาสัตวแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาสัตวแพทย์ที่เป็นหมอช้างจำนวนน้อยมาก การมีโรงพยาบาลช้างจะทำให้สามารถผลิตหมอช้างได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตขณะเดียวกัน จำนวนช้างเลี้ยงในภาคเหนือมีจำนวนมาก และมีโรงพยาบาลรักษาช้างเป็นหลักอยู่แห่งเดียวคือ ศูนย์คชบาล จังหวัดลำปาง ซึ่งอาจไม่เพียงพอในการรองรับการรักษาช้างที่เจ็บป่วยในภาคเหนือ
“ดิฉันเต็มใจอย่างยิ่งที่ได้มอบเงินจำนวน 49.25 ล้านบาท ให้กับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเงินที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งทุกคนทราบกันดีว่าดิฉันรักช้างและช่วยเหลือช้างมาตลอด ปัญหาช้างเป็นเรื่องใหญ่ การมีโรงพยาบาลช้างในเชียงใหม่ จะสามารถช่วยเหลือช้างยามเจ็บป่วยได้ทันท่วงที” นางสาวกัญจนา กล่าว
ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องขอขอบคุณคุณกัญจนา ศิลปอาชา ที่มีจิตเป็นกุศล ที่ได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อสร้าง “โรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า” แห่งใหม่ในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง มช.ได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 26 ไร่
โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากคุณกัญจนา ศิลปอาชา จำนวน 49.25 ล้านบาท สำหรับเป็นพื้นที่เพื่อการรองรับการดูแลและรักษาช้างป่วยอย่างทันท่วงที ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา ฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพช้างและสัตว์ป่าที่ถูกต้องให้กับนักศึกษาสัตวแพทย์และผู้ที่สนใจ บนพื้นที่ 26 ไร่ ใน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะเร่งเนินการก่อสร้างโครงการให้เสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี
ประเทศไทยมีความผูกพันกับช้างเลี้ยงมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ซึ่งมีจำนวนช้างเลี้ยงคิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรช้างเลี้ยงทั้งหมดของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศถึง 418 เชือก ซึ่งพบว่าเคสช้างป่วยมีไม่ต่ำกว่า 20 เคสต่อเดือน
ศ.ปฏิบัติ ดร.น.สพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ และผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพช้าง ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย
จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า” ขึ้น เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพช้างในรูปแบบคลินิกเคลื่อนที่ด้วยรถกระบะ 2 คัน ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภายนอก ควบคู่ไปกับการวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับช้างและสัตว์ป่า เพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาแนวทางการดูแลรักษาสุขภาพช้างให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่ามีการออกให้บริการดูแลสุขภาพช้างและรักษาช้างป่วยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20 เคสต่อเดือน ซึ่งทีมสัตวแพทย์ยังคงประสบปัญหาในการรักษาช้างป่วยในพื้นที่ ด้วยข้อจำกัดในด้านสถานที่ บุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ อีกทั้งสถานที่เลี้ยงช้างในจังหวัดเชียงใหม่ยังอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลสัตว์ที่สามารถรองรับช้างป่วยได้ และการขนย้ายช้างป่วยเป็นระยะทางไกลนั้นมีความยากลำบาก
ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการการดูแลสุขภาพช้าง คณะสัตวแพทยศาสตร์จึงมีแผนที่จะจัดตั้ง “โรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า” แห่งใหม่ในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า แห่งใหม่นี้ ประกอบไปด้วย อาคารโรงพยาบาลช้าง อาคารสำนักงาน อาคารพักฟื้นช้างป่วย อาคารโรงเก็บอาหารและบ้านพักควาญช้าง ระบบไฟฟ้าและน้ำประปา ครุภัณฑ์ประกอบอาคาร ครุภัณฑ์สำนักงาน และ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์
และหากการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผน จะสามารถรองรับช้างป่วยที่มีอาการหนักหรืออยู่ในขั้นวิกฤตไว้รักษาได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 6 เชือก พร้อมสามารถจัดการอบรมภาคปฏิบัติระยะสั้นสำหรับนักศึกษาคณะสัตวแพทย์และผู้ที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ช้าง สัตว์ป่า ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำหรับภาคเหนือซึ่งมีจำนวนช้างเลี้ยงคิดเป็นหนึ่งในสาม มีจำนวนช้างราว 1,500 – 1,600 เชือก ของประชากรช้างเลี้ยงทั้งหมดของประเทศกว่า 4,000 เชือก จังหวัดเชียงใหม่มีช้างรวมทั้งสิ้นราว 838 เชือก เฉพาะอำเภอแม่แตง มีจำนวนช้างเลี้ยงมากที่สุดถึง 418 เชือก ขณะที่ปัจจุบันคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลิตนักศึกษาสัตวแพทย์ได้ราว 80 คนต่อปี ในจำนวนนี้มีหมอช้าง 1 – 2 คนต่อปี หรือบางทีอาจจะ 10 คนต่อปี ซึ่งมีจำนวนที่ค่อนข้างน้อยมาก
ทั้งนี้ เมื่อมีโรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า อำเภอแม่แตง จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาสัตวแพทย์ ได้มาฝึกปฏิบัติงานในพื้นที่ได้จริง และจะมีหมอช้างที่เป็นแพทย์เฉพาะทางเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อช้างที่เจ็บป่วยที่จะมีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที