“ตราด” จุกทุเรียน 100 บ./กก.จี้รัฐถกจีนปลดล็อก-ปรับค่า BY2

Trat Durian

นับถอยหลังอีกไม่กี่วันทุเรียนลอตแรกของฤดูกาลภาคตะวันออกจะเริ่มทยอยออกมา โดย “ตราด” ถือเป็นเมืองหน้าด่านของภาคตะวันออก ที่ผลผลิตทุเรียนจะออกก่อน ขณะที่สถานการณ์ปัญหาสารเคมีตกค้างยังคงคุกรุ่น เนื่องจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ยังคงมาตรการตรวจเข้มหน้าด่าน 100%

ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรยังคงมาตรการให้ผู้ส่งออกทุเรียน ต้องแนบใบรับรองผลตรวจวิเคราะห์สารแคดเมียม (Cd) ไม่เกินค่ามาตรฐาน 0.05 มล. และสารย้อมสี Basic Yellow 2 หรือ BY2 ต้องไม่พบ ล่าสุดเครือข่ายสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจังหวัดตราดร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้เปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตปี 2568 และสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญ

ชะนี-พวงมณีราคาดิ่ง 80-200%

นายวินัย ขยันยิ่ง เกษตรกรจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ทุเรียนภาคตะวันออกปี 2568 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ 1,045,410 ล้านตัน ปริมาณผลผลิตโดยรวมเพิ่ม 56.89% จันทบุรี 708,377 ตัน เพิ่มขึ้น 57.88% ระยอง 204,796 ตัน เพิ่มขึ้น 51.09 ตัน หรือ 51.09% ตราด 132,237 ตัน เพิ่มขึ้น 50,143 ตันหรือ 61.08%

และคาดว่าผลผลิตจะใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย แต่มาตรการความเข้มงวดการนำเข้าของจีน ทำให้ผู้ประกอบการในปีนี้ยังดูท่าทีไม่กล้าเหมาทุเรียนกัน ต่างจากปีก่อน ๆ ช่วงนี้จะเหมากันหมดแล้ว และราคาทุเรียนลดต่ำกว่าปีที่ผ่านมาถึง 80-200% ราคาที่เริ่มออกต้นฤดูที่ ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมืองตราด จ.ตราด

ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทุเรียนออกก่อนในภาคตะวันออก ราคาทุเรียนชะนี พวงมณี ราคาตัดในสวน กก.ละ 100 บาท เป็นการขายตลาดในประเทศยังไม่ได้ส่งออก เปรียบเทียบกับราคาปีก่อน ราคาเหมาโดยทั่ว ๆ ไป 280-300 บาท และมีราคาสูงถึง 350 บาท

“สถานการณ์ทุเรียนไทยปีนี้น่าห่วง ทั้งปัญหาแคดเมียมและ BY2 ทุเรียนภาคใต้ และภาคตะวันออก รวมกันประมาณ 2 ล้านตัน และยังปลูกทั่วประเทศ ทุเรียนมีตลาดภายในประเทศ 30% ต่างประเทศ 70% หากการส่งออกมีปัญหาจากการตรวจเข้มของจีน ตลาดภายในประเทศตื่นกลัว BY2 จากสื่อโซเชียลจากข้อมูล จ.ตราด กรมพัฒนาที่ดินได้สุ่มตรวจค่าแคดเมียมไม่เกินค่ามาตรฐานและการตรวจ BY2 เป็นขั้นตอนปฏิบัติที่ล้ง เกษตรกรเพียงแต่ปฏิบัติตามข้อกำหนด GAP และใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันเกษตรกรต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงราคาทุเรียน ต้องรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อลดต้นทุน พัฒนา-ถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ และเพื่อต่อรองราคา” นายวินัยกล่าว

ADVERTISMENT

กรมสุ่ม Cd 3 จังหวัดให้จบ มี.ค.

นายพินิจ กัลยาศิลปิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี (ศวพ.จันทบุรี) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อให้กระบวนการส่งออกทุเรียนผ่านไปด้วยดี มี 3 เรื่องหลัก คือ ทุเรียนอ่อน สารปนเปื้อนแคดเมียม และ BY2 จากการแจ้งของ GACC ตรวจพบสารปนเปื้อนจากทุเรียนในภาคใต้ และมีการระงับโรงคัดบรรจุไป 3-4 ล้ง แต่ยังให้โอกาสไทยปรับตัวและส่งออกได้ ไม่ถึงกับระงับการส่งออกและไม่กำหนดเวลาปลดล็อกเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งเป็นที่มาของการตรวจสอบผลผลิตและกำหนดให้ทุเรียนทุกตู้ที่ส่งออกต้องมีใบรับรองผลตรวจแคดเมียมไม่เกินค่ามาตรฐาน และต้องไม่พบ BY2 กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจสารแคดเมียมในจันทบุรี ตราด ระยอง เพราะมีการแจ้งเตือนมาก่อนหน้านี้แล้ว คาดว่าเดือนมีนาคม 2568 จะครบ และนำข้อมูลเจรจากับจีน เพื่อผ่อนปรนการตรวจเข้ม 100%

ADVERTISMENT

“BY2 จีนประกาศตรวจเข้มตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 มีทุเรียนที่ส่งออกไปแล้วอยู่ระหว่างการเดินทาง ไปติดที่ด่าน เราตั้งรับไม่ทันในการแนบใบรับรองผลตรวจแคดเมียมและ BY2 จากนั้นไทยพยายามสื่อสารให้จีนรับรู้ถึงการประกาศ SET ZERO และมาตรการ Big Cleaning ของโรงคัดบรรจุในภาคตะวันออกที่ส่วนใหญ่อยู่ จ.จันทบุรี และมีการออกใบรับรองให้โรงคัดบรรจุ

แสดงให้เห็นว่ามีการทดสอบจากเจ้าหน้าที่เพื่อลดอัตราความเสี่ยง การตรวจเข้มของจีนเป็นการทดสอบโรงคัดบรรจุ ไม่ได้ลงถึงระดับแปลงที่ผลิตในสวน เกษตรกรจึงไม่ต้องวิตกกังวล หรือตื่นตระหนก แต่ถ้าเกษตรกรต้องการตรวจสอบเพื่อทราบผล สามารถใช้แล็บของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จ.จันทบุรีได้ ค่าตรวจตัวอย่างละ 600 บาท” นายพินิจกล่าว

ประชุมทุเรียน

ด่านจีนตรวจเข้มหวั่นตู้ขาด

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทยและเจ้าของล้งดราก้อน ฟรุ๊ต จ.จันทบุรี กล่าวว่า BY2 เป็นสารย้อมสีที่ใช้ในล้ง และองค์การอนามัยโลก (WHO) ห้ามใช้ จีนประกาศห้ามใช้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง หากล้งไม่นำมาใช้ ปัญหาจะหมดไป ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ทุกตู้ทุกชิปเมนต์ที่ต้องแนบใบรับรองผลตรวจสารแคดเมียมไม่เกินมาตรฐานและ BY2 ต้องไม่พบ และทางหน้าด่านจีนมีมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้น คือ สุ่มตรวจทุกตู้ คือ 100% การส่งออกจะมีปัญหาระบบโลจิสติกส์ ไม่สามารถระบายผลผลิตออกนอกพื้นที่ได้ทัน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์หรือทำให้ราคาค่าเช่าสูงขึ้น

จากระยะเวลาการขนส่งที่นานขึ้นและมีผลต่อคุณภาพทุเรียน อันนี้กระทบกับชาวสวนแน่นอน จากนี้ภาครัฐต้องมีมาตรการ ยุทธศาสตร์ของไทยที่จะเจรจากับจีนผ่อนผันมาตรการตรวจเข้ม BY2 เรียบร้อยก่อนผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกจะออกสู่ตลาด ถ้าไม่เร่งเจรจากับจีนให้สุ่มตรวจ สื่อโซเชียลที่กระหน่ำเรื่อง BY2 เป็นสารที่ก่อมะเร็งจะทำให้คนไทยเข้าใจผิดว่าทุเรียนไทยมีสาร BY2 ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง

“ตั้งแต่ 1-26 กุมภาพันธ์ จีนตรวจไม่พบ BY2 สารย้อมสีไม่ได้อยู่ในสวน ชาวสวนไม่ต้องตื่นตระหนก ส่วนสารแคดเมียมอยู่ในดิน น้ำ ใบ แต่เกษตรกรไม่รู้ แต่กรมพัฒนาที่ดินสุ่มตรวจแล้วผลคือค่าไม่เกินมาตรฐาน ดังนั้นปัญหาสำคัญอยู่ที่การตรวจเข้ม 100% ที่ด่านของจีนจะมีผลกระทบอย่างมาก ก่อนหน้านี้มีการสุ่มตรวจ 5-10% การนำเข้าปกติใช้เวลา 7-8 วัน จะใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ถ้าตรวจได้ 20 ตู้ต่อวัน

ปริมาณการส่งออกช่วงพีก 700-1,000 ตู้ จะใช้เวลานานเท่าไหร่ ถ้าไม่ปลดล็อกให้สุ่มตรวจจะเดือดร้อนกันไปหมด ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่จะติดค้างที่ด่านตรวจเป็นระยะเวลานาน ๆ ตามปริมาณส่งออกจำนวนมากขึ้น ตู้จะหายไป 7,000-8,000 ตู้ ระบบการหมุนเวียนของตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ขาดแคลนหรือต้นทุนสูงขึ้น ราคาทุเรียนจะตกลงเมื่อส่งออกไม่ได้” นายสัญชัยกล่าว

ปรับมาตรฐาน BY2 เท่าจีน

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า กรณีการตรวจวิเคราะห์ค่ามาตรฐาน BY2 มักจะมีการตรวจสอบพบเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด คือ Not Detect ซึ่งในแล็บตรวจสอบของไทยเครื่องจะกำหนดค่า ต่ำกว่า 0.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ในขณะที่มาตรฐานของจีน ค่ามาตรฐานคือ ไม่เกิน 2.0 ไมโครกรัม/กิโลกรัม

ซึ่งการตรวจของไทยที่ไม่ผ่าน จะอยู่ค่าประมาณ 0.7-0.8 ไม่ถึง 1.0 ไมโครกรัม/กก. ซึ่งอาจจะมีการปนเปื้อนติดอยู่ในภาชนะหลงเหลืออยู่ ถ้ามีการชุบสีจริงต้องมีค่ามากกว่า 10 ไมโครกรัม/กก. ดังนั้นกรณีตรวจไม่พบเจอในเนื้อทุเรียน กรมวิชาการเกษตรจะให้มีการทำเรื่องอุทธรณ์ได้ และให้สุ่มตัวอย่างตรวจใหม่ ถ้าตรวจใหม่ผ่านคือ ส่งออกได้ ถ้าไม่ผ่านคือ ต้องทำลาย

“ทุกวันนี้คือ ค่ามาตรฐาน BY2 ไทย-จีนไม่ตรงกัน ถ้าแก้ไขค่ามาตรฐานไทยให้ตรงกับจีนได้ คาดว่าการตรวจ BY2 จะผ่าน เพราะมั่นใจว่าถ้าทุกล้งทำ Big Cleaning จะไม่เจออีก” นายสัญชัยกล่าว

สวนตรวจ Cd 400-600 บาท

นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานเครือข่ายสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจังหวัดตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เสนอมุมมองให้ชาวสวนตระหนักว่าประเทศจีนผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ได้เพิ่มความเข้มงวดด้านสุขอนามัยพืช ดังนั้นชาวสวนควรใช้โอกาสนี้ยกระดับมาตรฐานการผลิตของตนเองให้สูงขึ้น ปฏิบัติตามข้อกำหนด GAP ทั้ง 8 ข้อ ยึดมั่นในหลัก ไม่อ่อน ไม่สวมสิทธิ ไม่มีสารตกค้าง ไม่ปนเปื้อนศัตรูพืช ทำผลผลิตในสวนสะอาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

“การตรวจแคดเมียม กรมพัฒนาที่ดินได้ตรวจกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ จ.ตราด ไม่พบเกินค่ามาตรฐาน และกรมวิชาการเกษตรกำลังสุ่มตรวจเอง เป็นข้อมูลที่ภาครัฐต้องนำไปเจรจากับจีน เกษตรกรต้องตัดสินใจเองเป็นภาคความสมัครใจ ถ้าสวนที่มีความพร้อมสามารถเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ได้ ค่าบริการกรมพัฒนาที่ดินตัวอย่างละ 400 บาท หรือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ตัวอย่างละ 600 บาท

เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับล้งผู้ซื้อ และในภาวะผลผลิตล้นตลาดจะเป็นช่องทางการตลาด ส่วนสารย้อม BY2 ใช้เฉพาะในล้ง ไม่พบในสวนอยู่แล้ว แต่เพื่อความสบายใจของผู้ซื้อ ชาวสวนต้องเว้นการใช้สารเคมีที่มีส่วนผสมของสีแล้วทำให้เกิดคราบติดที่ผิวผลทุเรียน รวมถึงงดใช้สารเคมีที่อาจตกค้างในผลผลิต 30 วันก่อนเก็บเกี่ยว และกรณีมีการถกเถียงเรื่องค่ามาตรฐานแคดเมียมของไทยสูงกว่าจีน อยู่ที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและจีน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการตรวจ

ทั้งนี้ ต้องรีบดำเนินการเตรียมความพร้อม การเจรจาแก้ไขในจุดต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะเดือนเมษายน 2568 ผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกจะเริ่มออกสู่ตลาด” นายวุฒิพงศ์กล่าว

นายสว่าง ชื่นอารมณ์ อดีตประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลการประชุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 สถานการณ์ยังอึมครึมไม่มีใครให้คำตอบได้ถึงการผ่อนปรน “ปลดล็อก” มาตรการตรวจเข้มของจีน ที่จะมีผลต่อการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก

รวมทั้งความพร้อมการให้บริการห้องแล็บตรวจรับรอง เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกปิดตู้ เพราะในช่วงพีกคาดว่าจะมีทุเรียนส่งออก 1,000 ตู้/วัน จังหวัดตราดจะประสานความร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ประมาณ 1,200 คน มารวมตัวกันที่ อบจ.จันทบุรี เพื่อขอร้องให้นายกรัฐมนตรี มาตอบข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนทุเรียน