
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
“พีระรักษ์ พิชญกุล” ได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง สมัยที่ 21 (วาระปี 2568-2569) อย่างเป็นทางการเมื่อเร็ว ๆ นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ถึงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โฟกัส 2 ยุทธศาสตร์
พีระรักษ์บอกว่า ยุทธศาสตร์ที่วางไว้จะโฟกัส 2 ทางหลัก ๆ คือ 1.มุ่งเป้าพาลำปางไปสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยจะเร่งผลักดันให้เกิด “นิคมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด” ในพื้นที่ (Green Power HUB) ซึ่งโครงการนี้จะเป็น New S-curve ของลำปางที่สำคัญ
รวมถึงการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลเทคโนโลยีและอินโนเวชั่น 2.การนำสิ่งที่ลำปางมีอยู่แล้วออกมาใช้ให้เกิดศักยภาพสูงสุด โดยการสร้างแบรนด์ของเมือง (City Branding) โฟกัสทรัพยากรที่มีค่าของเมืองที่จะสามารถยกระดับและเพิ่มมูลค่าผ่านอัตลักษณ์
นโยบาย NEC ยังไม่คืบ
หลังจากการประกาศให้ลำปางเป็นหนึ่งใน 4 จังหวัดในกลุ่มระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) พบว่า ความคาดหวังในช่วงแรกคือ จะเกิดการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และดึงดูดการลงทุนเข้าพื้นที่แบบ EEC
แต่เมื่อเวลาผ่านไป การดำเนินการไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานบริหารจัดการ ไม่มีแนวทาง และไม่มีกลไกการดำเนินการ สิ่งที่อาจเป็นความชัดเจนที่สุดในตอนนี้คือ แผนแม่บท NEC ที่ทำโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายรัฐ เอกชน อุดมศึกษาในพื้นที่ที่สภาพัฒน์เป็นหัวเรื่อง
ดันนิคมพลังงานสะอาด
พีระรักษ์บอกต่อว่า ที่ผ่านมาหอการค้าจังหวัดลำปาง ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (แม่เมาะ) เริ่มหารือแนวทางการสร้าง New S-curve ที่จะรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการลดกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานถ่านหินลงตั้งแต่ปี 2564
โดยสังเคราะห์ประเด็นโอกาส และจุดแข็งสำคัญที่มีคือ ความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ในอนาคต เกิดเป็นโมเดล “นิคมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด” ขึ้น และหอการค้าสมัยที่ 21 นี้ จะขับเคลื่อนและผลักดันโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่ต้องดึงการลงทุนมูลค่าสูงโครงการนี้เข้ามาในพื้นที่ให้ได้
ลำปางมีพื้นที่รองรับเมกะโปรเจ็กต์นี้ได้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ได้ดี เป็นจุดขายที่ดีของประเทศ รัฐบาลลงทุนเพียงสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบ และปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้สามารถสร้างนิคมพลังงานสะอาดได้ และจังหวัดลำปางจะได้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจที่มีการลงทุนเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ขนาดของเศรษฐกิจโตขึ้น
ทั้งนี้ แม่เมาะมีพื้นที่อีกหลายหมื่นไร่ที่จะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมได้ โดยพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะที่ได้รับสัมปทานมีมากกว่าร้อยละ 80 ที่ยังไม่ได้ใช้งาน และรัฐบาลสามารถเพิ่มเม็ดเงินในพื้นที่และประเทศได้จากการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยรัฐบาลลงทุนน้อย แต่ต้องปรับระเบียบการใช้งานพื้นที่ และมีการดำเนินการจัดการพื้นที่อุตสาหกรรม และสิทธิประโยชน์เชิงการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาโครงการ
โดยที่ผ่านมาการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เบื้องต้นแล้ว พื้นที่แม่เมาะถือเป็นเขตนวัตกรรมมูลค่าสูง ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศ ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริงจะดึงการลงทุนได้มาก โดยเฉพาะกลุ่มทุน Green Energy กลุ่ม Data Center หรือกลุ่ม Digital Technology สำหรับนิคมพลังงานสะอาด จะไม่เหมือนนิคมทั่วไปที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เป็นการดึงคนคุณภาพเข้ามาในพื้นที่
ประเด็นนี้ยื่นร่วมไปในแผนแม่บท NEC และมีบรรจุในแผน รวมถึงเป็นประเด็นหลักในโครงการยกระดับเมืองรองด้วย แต่ความก้าวหน้าสำคัญเกิดขึ้นที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับหลักการ นำพื้นที่แม่เมาะเข้าเป็นเขตนวัตกรรมมูลค่าสูง
และเป็นนโยบายหลักของกระทรวง ก่อนเตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการขับเคลื่อนและออกกฎหมาย โดยมอบให้ กนอ.ศึกษาข้อกฎหมายการนำเขตนวัตกรรมที่เข้าข่ายประกาศพื้นที่และให้สิทธิประโยชน์ก่อน
การพัฒนานี้จะส่งผลบวกกับเมืองหลายด้าน ทั้งการเพิ่มการลงทุนในพื้นที่และกระแสเงินหมุนเวียน การเพิ่มขึ้นของประชากรรายได้สูง และจะส่งผลให้เกิดการลงทุนในภาคการค้าและการบริการ ที่ทำให้ยกระดับเศรษฐกิจของลำปางและภูมิภาคได้ต่อไป
ชูอัตลักษณ์ Lampang Proud
พีระรักษ์บอกว่า จังหวัดลำปางเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยทรัพยากรมีค่ามากมาย ทั้งในเชิงวัตถุดิบ ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ที่เป็น Soft Power ทว่า ในด้านผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจพบว่า ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของลำปางคือ ผลิตภาพไม่สูง ทำมากได้น้อย มูลค่าเพิ่มไม่มาก ทำที่ลำปางแต่ไปแพงที่คนอื่น
ดังนั้น ความเข้าใจของผู้ผลิตเป็นเรื่องสำคัญ มีทักษะ มีภูมิปัญญา แต่ไม่รู้จักตลาด เชื่อมโยงตลาดไม่เป็น จึงต้องเชื่อมปลายทางกับผู้ผลิตให้ใกล้กันมากขึ้น ลดอำนาจของคนกลางลง
ด้วยมุมมองทางการตลาดจะพบสาเหตุที่สามารถแก้ไขพัฒนาได้ 3 ประการ คือ 1.การส่งเสริมการศึกษาตลาด การทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจความต้องการของตลาด เพื่อสร้างคุณค่าที่แปรมาเป็นมูลค่าได้ 2.การส่งเสริมการตลาด การสร้างการรับรู้ การจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย การสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ 3.การสร้างเมืองแห่งนักขาย คือ การทำให้คนลำปางเอง ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่ลำปางมี ทำได้ และสร้างความภาคภูมิใจ
มีโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ในภูมิภาค (Driving Regional Development) ของเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์และหลักสูตร ผู้จัดการนวัตกรรม (CIM) ปีที่ผ่านมา ทีมลำปางนำเสนอโครงการการจัดทำ “แผนที่กินดีจังหวัดลำปาง” เพื่อรวบรวมเอาร้านอาหาร ของกินเล่น คาเฟ่ ประเภทต่าง ๆ จำนวน 200 แห่ง มาเป็นคู่มือให้ชาวลำปางสามารถนำไปใช้ต่อได้
ทั้งเป็นเครื่องมือพัฒนา และเป็นแนวทางการถ่ายทอด ซึ่งจะเป็นการพัฒนาจากประเด็นแก้ไขปัญหาข้อที่ 3 คือ การสร้างเมืองนักขาย โดยเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวและเข้าใจง่าย คือ ของกิน
โดยหอการค้าจังหวัดลำปางและห้างเซ็นทรัลพลาซ่าลำปาง ยกระดับภาพรวมเป็นโมเดลอัตลักษณ์ลำปาง หรือ Lampang Proud ที่มุ่งเป้าการสร้างความ “อิน” ในบ้านเกิดให้คนลำปาง ผ่านความภูมิใจในหลากมิติ อาทิ ของกิน งานฝีมือ ภูมิปัญญา และความ “ชิก” ของลำปาง ขณะเดียวกัน ได้ประสานไปยังหน่วยงานราชการ เพื่อหาแนวทางการสร้าง “City Branding” ผ่านความเป็น Lampang Proud ร่วมกัน และจะเริ่มดำเนินการในปี 2568 คล้าย ๆ รางวัลมิชลิน
โดยจะเริ่มจากกลุ่มสินค้าอาหารก่อน ตามมาด้วยสินค้าผลิตภัณฑ์ เพื่อหาทางบอกเล่าให้คนในลำปางรู้ว่าเราเป็นใคร เราภูมิใจอะไร เราทำอะไรได้ดี และเราจะมุ่งหน้าไปไหน “ร่วมกัน”
เฟ้น DNA ดันเที่ยวเมืองรอง
พีระรักษ์บอกว่า ลำปางในฐานะเป็นเมืองรอง แต่ทุนด้านการท่องเที่ยวมีอยู่มาก ต้องชูให้เด่นขึ้นมา เทรนด์นักท่องเที่ยวยุคนี้ กำลังมามองหาอะไรใหม่ ๆ ซึ่งลำปางมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม อาหาร เซรามิก โดยเฉพาะอาหารของเมืองลำปางได้รับการยอมรับว่า “ดี” ร้านอาหารหลายร้านกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่คนต้องการเดินทางมาชิม อย่างก๋วยเตี๋ยวปู่โย่ง เป็นต้น
แม้ลำปางมีทุนอยู่มาก แต่ความน่าตะลึงของลำปางคือ ไม่มี Sector ไหนที่เด่น จึงต้องหา DNA เมืองและดึงออกมา เอาของที่มีอยู่มาจัดกลุ่ม และขายทั้ง Sector เพื่อชี้เป้าง่ายขึ้นและรวมเป็นแผนที่ เพื่อวางแผนการท่องเที่ยวได้
ขณะที่ปัจจุบันภาคการผลิตเริ่มลดลง โดยเฉพาะโรงงานเซรามิกลดจำนวนลง มีการเลิกกิจการของโรงงานขนาดเล็ก แต่รายใหญ่ยังผลิตได้อยู่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น เป็นช่วงเปลี่ยนยุคของอุตสาหกรรมเซรามิก จำนวนโรงงานเซรามิกของลำปางเคยมีมากสุดกว่า 500 โรงงาน
ปัจจุบันเหลือเพียง 100 โรงงาน ที่เลิกกิจการไปคือ โรงงานขนาดเล็กที่ทำอยู่ในบ้าน แต่ภาคการผลิตอีกด้านหนึ่ง อย่างโรงงานเกษตรแปรรูป ปัจจุบันถือว่าเป็นฐานการผลิตและส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มข้าวโพดกระป๋อง และผลไม้กระป๋อง เป็น Sector การผลิตที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของลำปางได้ดี