ส่งสัญญาณเตือน! ประธาน คยปท.ชี้ฝนตกเยอะ-น้ำท่าดี ส่อทำปาล์มล้นประเทศ จี้รัฐเตรียมหาแนวทางรับมือ

นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของสวนปาล์มน้ำมันรายย่อย และประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการรายงานของที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการและปฏิบัติการ คยปท. เกี่ยวกับปาล์มน้ำมันในปลายปี 2561 จนถึงปี 2562 ตลอดทั้งปี ซึ่งคาดว่าจะเกิดสถานการณ์ผลผลิตปาล์มล้นประเทศ สาเหตุจากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2559 จนถึงกลางปี 2560 และต่อเนื่องมาถึงขณะนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลดีต่อสวนปาล์ม ส่งผลให้เกิดผลผลิตปาล์มจำนวนมาก

นายทศพล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การที่ปริมาณฝนอุดมสมบูรณ์จนผลผลิตออกมาจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้ปริมาณปาล์มล้นตลาดได้ จึงต้องการส่งสัญญาณนี้ถึงรัฐบาล ให้เร่งเตรียมออกแบบแนวทางดำเนินการบริหารจัดการป้องกันผลผลิตปาล์มน้ำมันที่จะออกสู่ตลาด เพราะหากการออกแบบแนวทางไม่ดี จะเกิดผลกระทบขนาดใหญ่ได้ โดยมองว่ารัฐควรต้องจัดโซนนิ่งของการทำปาล์มน้ำมัน ยางพารา และข้าว เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันจนรุกพื้นที่การปลูกยางพารา รวมไปถึงชาวนาที่เลิกปลูกข้าว ก็หันมาปลูกปาล์มน้ำมันแทน

ขณะเดียวกันแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จรดถึงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ยังมีการขยายปลูกปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง บางรายกวาดซื้อที่ดินสะสมปลูกปาล์มรวมพื้นที่ได้ถึง 4,000 ไร่ ส่งผลให้กล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันเริ่มมีราคาขยับสูงขึ้นตามลำดับ จากเมื่อปี 2558 ราคา 70 บาท/ต้น มากลางปี 2559 ราคาขยับมาอยู่ที่ 110 บาท และมาปี 2560 กล้าพันธุ์ปาล์มขยับมาจนถึง 120 บาท/ต้น

“หากอนาคตพื้นที่ปลูกปาล์มเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาดแล้ว ยังอาจกระทบกับระบบนิเวศ รวมไปถึงเกิดภัยแล้งได้ เนื่องจากปาล์มเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก เมื่อพื้นที่ปลูกปาล์มมากขึ้น ก็ต้องใช้น้ำมากขึ้น จนสุดท้ายอาจสูญเสียแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง พื้นที่ชุ่มน้ำ และทะเลสาบ” นายทศพลกล่าว