สนามบินเชียงใหม่เผย เที่ยวบินปี’67 เพิ่ม 6.88% ไฟลต์จากจีน – ตะวันออกกลางพุ่ง

สนามบินเชียงใหม่

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ครบรอบ 37 ปี แห่งการดำเนินงานในฐานะศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศที่สำคัญของภาคเหนือ เผยปี’67 จำนวนเที่ยวบินพาณิชย์พุ่งกว่า 5.9 หมื่นเที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 6.88% จำนวนผู้โดยสารกว่า 9 ล้านคน พร้อมเร่งแผนพัฒนาระยะ 1-2 รองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนในอีก 9 ปีข้างหน้า ไฟลต์จากจีน-ตะวันออกกลางจ่อบินคึกคัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาวาอากาศโทรณกร เฉลิมแสนยากร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสครบรอบ 37 ปี ของการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ (1 มีนาคม 2568) โดยได้รับเกียรติจากหัวหน้าส่วนราชการ สายการบิน ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้บริหาร และพนักงานลูกจ้างท่าอากาศยานเชียงใหม่เข้าร่วมพิธี พร้อมแถลงข่าวผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ปี 2567

นาวาอากาศโท รณกร เฉลิมแสนยากร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่รองรับผู้โดยสารมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี และมีเส้นทางบินเชื่อมต่อทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสายการบินชั้นนำที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง ให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ 21 เส้นทาง จากจำนวนสายการบินทั้งหมด 24 สายการบิน และให้บริการเส้นทางการบินภายในประเทศ 11 เส้นทาง จากสายการบินทั้งหมด 6 สายการบิน

โดยล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีสายการบินใหม่ที่บินเพิ่มเข้ามาคือเมียนมาแอร์ไลน์ เส้นทางบินมัณฑเลย์-เชียงใหม่ และวันที่ 27 มีนาคม 2568 คือสายการบินเฉิงตูแอร์ไลน์ จะทำการบินเส้นทางเฉิงตู-เชียงใหม่-เฉิงตู นอกจากนี้ ยังมีสายการบินจากตะวันออกกลางที่อยู่ระหว่างการดำเนินการขอใบอนุญาต คือ สายการบินเอทิฮัด ในเส้นทางบินอาบูดาบี-เชียงใหม่ เพื่อทำการบินมายังเชียงใหม่ในช่วงปลายปีนี้

สนามบินเชียงใหม่

รวมถึงอินดิโกแอร์ไลน์ สายการบินสัญชาติอินเดีย ที่จะบินเข้าสู่เชียงใหม่ในช่วงฤดูหนาวปีนี้เช่นกัน

ADVERTISMENT

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2567 ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีผลการดำเนินงานที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวและเติบโตของภาคการบินและการท่องเที่ยว ดังนี้ จำนวนเที่ยวบินพาณิชย์ 59,493 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 6.88 จำนวนผู้โดยสาร 9,082,071 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 10.43 ปริมาณสินค้า 5,478,134 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 4.23

และเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีแผนพัฒนาขยายศักยภาพการรองรับผู้โดยสารให้เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนต่อปี โดยมีการดำเนินโครงการพัฒนาใน 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 สร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ รีโนเวตอาคารผู้โดยสารหลังเก่า เพิ่มหลุมจอดเป็น 31 หลุม จากเดิม 16 หลุม ซึ่งปัจจุบันมีความสามารถรองรับเที่ยวบินได้ 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เมื่อพัฒนาระยะที่ 1 ทั้งระบบแล้วจะรองรับได้ 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มขีดความสามารถจาก 8.5 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 2 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนต่อปี

ADVERTISMENT

ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาระยะที่ 1 ควบคู่กับการดำเนินการโครงการศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ : แผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยโครงการพัฒนาไม่เพียงมุ่งเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ล้านนา การพัฒนาการให้บริการ และความสะดวกสบายของผู้โดยสาร รวมถึงการรองรับระบบขนส่งมวลชน เช่น โครงการรถไฟฟ้า และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านจราจรบริเวณโดยรอบ

สนามบินเชียงใหม่

นาวาอากาศโทรณกร เฉลิมแสนยากร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า ตลอด 37 ปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันให้มีการเจริญเติบโตในทุกมิติของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาสนามบินให้ทันสมัย สะดวกสบาย และปลอดภัย รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบิน และส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ยังมีแผนพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต โดยมุ่งเน้นการขยายอาคารผู้โดยสาร การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และมาตรการเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้พลังงานสะอาดและการลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ เพื่อให้สนามบินเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม อยู่เคียงข้างกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

การครบรอบ 37 ปีของท่าอากาศยานเชียงใหม่ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการฉลองความสำเร็จที่ผ่านมา แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการมุ่งสู่อนาคตของศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค ที่พร้อมรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวในระดับสากล

นาวาอากาศโทรณกรกล่าวต่อว่า สำหรับสนามบินแห่งที่ 2 หรือสนามบินล้านนา แผนพัฒนายังคงเดินหน้าอยู่ และมีการทบทวนแผนทุกปี ยังไม่ได้เริ่มศึกษาโครงการในรายละเอียด ขณะนี้อยู่ระหว่างหาบริษัทที่ปรึกษา คาดว่าจะได้บริษัทที่ปรึกษาภายในปีนี้ โดยจะดูปัจจัยหลักจากสนามบินเชียงใหม่เดิมที่พัฒนาใน 2 ระยะภายในปี 2577 หลังจากปรับปรุงและพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้วจะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปีได้หรือไม่

นอกจากนี้ ต้องขึ้นอยู่กับผลการศึกษาโครงการสนามบินแห่งที่ 2 (สนามบินล้านนา) ด้วยที่จะเป็นองค์ประกอบหลักว่าสนามบินแห่งที่ 2 จำเป็นต้องเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากมีการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ต้องมีการเชื่อมต่อกันระหว่างสนามบินเดิมและสนามบินใหม่ (สนามบินล้านนา) ซึ่งจะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีการเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร ทั้งรถไฟ รถราง รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องต่อเชื่อมกับ Mass Transit (ระบบขนส่งมวลชน) ระหว่างสนามบินเก่าและสนามบินแห่งที่ 2 อย่างเป็นระบบ

สนามบินเชียงใหม่

สนามบินเชียงใหม่