
ภัยพิบัติน้ำท่วมหนัก ดินโคลนถล่ม ในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2567 ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างรุนแรง และที่สำคัญ นักวิชาการได้ฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สภาพทางธรณีวิทยา เขตชุมชนเมืองใน อ.แม่สาย ตั้งอยู่บนเนินตะกอนรูปพัด ซึ่งเกิดจากดินที่ไหลทับถมมาตั้งแต่ในอดีต เเละตะกอนที่ถูกกัดเซาะไหลออกมาตรงปากของร่องเขา
และแผ่ออกเป็นรูปพัด ไม่ใช่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทั่วไป จึงถือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ล่อแหลมที่จำเป็นต้องย้ายเมืองออกไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นแผนระยะยาวที่ต้องดำเนินการ
แต่แผนงานในระยะสั้นที่จะต้องเตรียมรับมือก่อนฤดูฝนปี 2568 จะมาถึง หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดได้เร่งดำเนินการป้องกัน และแก้ต้นตอของปัญหาใหญ่ในเบื้องต้น นั่นคือ การปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือน รุกล้ำลงไปใน “แม่น้ำสาย” ของทั้งฝั่งประเทศไทย และประเทศเมียนมา
เมียนมารุกล้ำไทย 33 จุด
นายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการต่าง ๆ ว่า ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมาเกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก (JCR) โดย JCR เป็นกลไกความร่วมมือการจัดการบริหารพื้นที่บริเวณแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ซึ่งเป็นเขตแดนคงที่ระยะทาง 59 กิโลเมตร ได้ข้อสรุปว่าต้องดำเนินการสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำไปอยู่บนเขตของเมียนมาและเขตของไทย ซึ่งฝั่งไทยที่รุกล้ำเขตเมียนมามีจำนวน 45 จุด และเมียนมารุกล้ำไทย 33 จุด
โดยแต่ละประเทศจะต้องรื้อสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำดินแดน ล่าสุดเมียนมารื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำเขตแดนไทยแล้ว 20 จุด ขณะเดียวกันทางการเมียนมาได้ทวงถามทางการไทยว่าการรื้อถอนจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ และต้องการทราบไทม์ไลน์ที่ชัดเจน เพราะรัฐบาลเนย์ปิดอว์เร่งรัดมา
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16-17 มกราคม 2568 ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการเกี่ยวข้องกับสิทธิในการเดินเรือ การใช้น้ำอย่างเป็นธรรม การบำรุงรักษาและการอนุรักษ์ทางเดินปัจจุบันของน้ำในแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก (Sub-JCR) ในระดับท้องถิ่น โดยฝ่ายไทยยืนยันกับที่ประชุมว่า ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จะรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำลำน้ำบนเขตเมียนมาให้ได้ทั้งหมด 5 จุดก่อน
ส่วนการรื้อถอนอีก 40 จุดที่เหลือจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากบางจุดเป็นบ้านทั้งหลัง จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องสถานที่รองรับให้กับประชาชนหลังจากการรื้อถอน และการเตรียมค่าชดเชยให้กับประชาชน
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 จังหวัดเชียงรายได้มีการประชุมคณะทำงานรื้อถอนสิ่งก่อสร้างฯ โดยมีประเด็นที่ประชาชนถามว่ารื้อแล้วจะให้ไปอยู่ที่ไหน มีสถานที่รองรับหรือไม่ และจะมีค่ารื้อถอน รวมถึงค่าชดเชยหรือไม่ แต่เนื่องจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ อยู่นอกประเทศไทย
ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องดำเนินการในส่วนค่ารื้อถอน ค่าชดเชย หรือค่าเวนคืน ขณะที่รัฐบาลท่าขี้เหล็กระบุว่า เมื่อประชาชนของไทยทำผิดกฎหมายในเรื่องการรุกล้ำ จะต้องมีค่าชดเชยทำไม
นายวรายุทธกล่าวต่อไปว่า สำหรับการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำเขตเมียนมา 5 จุดแรกที่ไทยต้องดำเนินการ อยู่บริเวณเกาะช้าง ได้แก่ วัดเกาะทราย จะต้องมีการรื้อห้องน้ำของวัดจำนวน 12 ห้อง หอฉัน กำแพงวัด และร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งทั้ง 5 จุดที่ทำการรื้อถอนนี้ยังไม่กระทบกับชาวบ้านมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการรื้อถอนแค่บริเวณชายคา และบางจุดก็ไม่ต้องรื้อ เพราะถูกน้ำพัดไปหมดแล้ว
สำหรับสิ่งก่อสร้างของเมียนมาที่รุกล้ำไทย 33 จุด ทางการเมียนมาได้ให้ประชาชนรื้อถอนไปแล้ว 20 จุด ตั้งแต่วันที่ 16-17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ทั้งปั๊มน้ำมัน อาคารบ้านเรือน โดยเมียนมาแจ้งประชาชนว่า เมื่อมาสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาอยู่ในเขตประเทศไทย ถือว่าผิดกฎหมายไทย ต้องมีการรื้อถอน ถ้าไม่รื้อถอนทางการเมียนมาจะดำเนินการเอง
ไทยรุกล้ำเมียนมา 40-60 จุด
อย่างไรก็ตาม การรื้อถอนสิ่งก่อสร้างของไทยที่รุกล้ำเขตเมียนมาจำนวน 40 จุดที่เหลือ ส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือน ร้านค้าหอพัก อาคาร 3 ชั้น ที่อยู่ตามแนวลำน้ำสายที่อยู่ในเขตเมียนมา ซึ่งปัจจุบันยังมีประชาชนอาศัยอยู่
ทั้งนี้ การรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำเขตเมียนมาตามแนวลำน้ำแม่สาย ไทยใช้ฐานข้อมูลปี 2561 ที่ระบุว่ามีจำนวน 45 จุด แต่ล่าสุด กรมแผนที่ทหารสำรวจพบว่าอาจมีมากถึง 60 จุด คาดว่าจะมีส่วนที่ต้องรื้อถอนเพิ่มขึ้นอีก
ในส่วนของประเด็นค่าเวนคืน ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เนื่องจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ไทยรุกล้ำเมียนมาอยู่ในเขตประเทศเมียนมา ถ้าอยู่ในประเทศไทยอาจจะไม่มีปัญหา และรัฐบาลสามารถออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดเชียงรายให้ประชาชนระบุค่ารื้อถอนว่า แต่ละรายมีค่ารื้อถอนเท่าไหร่ เพื่อรายงานต่อไปยังรัฐบาลตามขั้นตอน
ทั้งนี้ แม้ฝ่ายไทยจะถูกทางการรัฐบาลท่าขี้เหล็กขอความชัดเจนของวันที่คาดว่าจะดำเนินการรื้อถอนเสร็จสิ้น โดยทางการไทยยังไม่ได้ระบุวันที่ชัดเจนได้ แต่ได้แสดงความจริงใจที่ยืนยันจะดำเนินการให้แน่นอน เพราะประชาชนต้องหาที่อยู่ใหม่ และต้องเตรียมหาที่รองรับให้ประชาชน
เร่งขุดลอกแม่น้ำ “สาย-รวก”
นายวรายุทธกล่าวว่า ในส่วนของแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่จะเตรียมรับฤดูฝนที่กำลังจะมาในปี 2568 จังหวัดเชียงรายได้ขับเคลื่อนมาโดยตลอด และมีการประชุมร่วมกับเมียนมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับระยะสั้น กรมกิจการชายแดนทหาร สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย ได้มีการประชุมกับทางการเมียนมา จะมีการเพิ่มเครื่องโทรมาตร
ซึ่งสามารถตรวจวัดและประมวลผลปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำ สภาพอากาศ เพื่อนำไปติดตั้งที่ต้นน้ำแม่สายฝั่งเมียนมาเพิ่มอีก เดิมติดตั้งไปแล้ว 4 ตัว เพื่อให้ได้รับแจ้งเตือนภัยพิบัติได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ ทางอำเภอแม่สายได้ขอสนับสนุนรถดูดโคลนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ 2 คัน ทำการรื้อระบบท่อระบายน้ำ ทำรางระบายน้ำใหม่ ส่วนระหว่างประเทศ แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก จะต้องเร่งขุดลอกแม่น้ำสายกับแม่น้ำรวกให้ทันก่อนฝนจะมา
โดยทางการเมียนมายืนยันว่าต้องร่วมกันดูแลทั้งสองประเทศในการขุดลอกแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ประเทศ คาดว่าจะเริ่มการขุดลอกต้นเดือนมีนาคม 2568
ล่าสุดจากการประชุมร่วมกับแขวงการทางเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีร้านค้าของคนไทยที่ตั้งอยู่ติดกับบริเวณสะพาน 1 จำนวน 50 ร้านค้า มีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำ จำเป็นต้องรื้อร้านค้าออกจำนวน 30 ร้านค้า เนื่องจากจะมีการซ่อมสะพาน โดยมีการตกลงกันด้วยดี และให้ร้านค้าทั้ง 30 ร้านไปขายที่โดมหลังสายลมจอยใหม่
แผน 2 เล็งรื้อถอนพันหลัง
ส่วนแผนระยะกลาง ในส่วนของสิ่งก่อสร้างของไทยที่รุกล้ำลำน้ำเขตเมียนมา 20-30 เมตร ก็จะต้องดำเนินการรื้อถอน เพราะเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ คาดว่ามีจำนวนราว 100-200 หลังคาเรือน และแผนระยะยาวจะมีการรื้อถอนอีกกว่า 840 หลังคาเรือน
นายวรายุทธกล่าวต่อว่า ส่วนการเตรียมพื้นที่รองรับประชาชนหลังการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำลำน้ำเขตเมียนมา โดยนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่แม่สาย รัฐบาลให้ศึกษาโดยละเอียดสำหรับพื้นที่ในการรองรับประชาชน ซึ่งมีการพิจารณาแนวทางการใช้พื้นที่ของโรงงานยาสูบกว่า 1,000 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย บริเวณทางแยกที่จะไปอำเภอเชียงแสน ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
โดยให้โยธาธิการและผังเมืองสำรวจโดยละเอียด มีการคุยกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนถึง “โครงการบ้านมั่นคง” ที่จะสร้างบนพื้นที่ของโรงงานยาสูบ ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ หากอนาคตต้องย้ายเมืองแม่สายออกไป ซึ่งต้องมีที่อยู่อาศัยรองรับประชาชนในอนาคต แต่ทั้งหมดยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เป็นเพียงแนวทางที่คิดไว้เท่านั้น