
คอลมัน์ : สัมภาษณ์
จังหวัดศรีสะเกษ 1 ใน 10 เมืองรองที่รัฐบาลจะนำร่องยกระดับสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การกีฬา ทั้งนี้ หอการค้าจังหวัดศรีสะเกษได้มีการส่งเสริมให้มีอีเวนต์ประจำทุกเดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “รัฐวิทย์ อังคสกุลเกียรติ” ประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ ถึงความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดในปีที่ผ่านมา และแผนในปี 2568
ท่องเที่ยวโตเฉียด 2 พันล้าน
นายรัฐวิทย์กล่าวว่า สิ่งที่หอการค้าศรีสะเกษได้พยายามผลักดันมาโดยตลอด คือ การพยายามสร้างอีเวนต์ประจำทุกเดือน ผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการกีฬา เพื่อดึงคนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงให้ออกมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ให้เมืองมีชีวิตชีวา ในปี 2568 จะทำโครงการที่ถือเป็นการยกระดับเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี คือ โครงการสร้างศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ TCDC เพื่อดำเนินกิจกรรมและเผยแพร่วัฒนธรรมทางด้านดนตรีและภาพยนตร์ และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในจังหวัด
รวมถึงการแสดงออกซึ่งความภาคภูมิใจในความเป็นศรีสะเกษ โดยศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ตั้งอยู่ในอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น 4 คูหา ถนนปลัดมณฑล ต.เมืองเหนือ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นอกจากนี้ ยังมีการนำวัฒนธรรมด้านการแสดงมาผนวกเข้ากับการออกแบบอาคาร เพื่อให้ทุกคนสัมผัสถึงเสน่ห์ของศรีสะเกษได้อย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเพิ่มเติม คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะสามารถตั้งงบประมาณได้
ขณะเดียวกัน ศรีสะเกษเองเป็นเมืองที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เช่นเดียวกัน ดังนั้น ในปีนี้หอการค้าศรีสะเกษร่วมกับเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ได้เริ่มติดตั้งเครื่องวัดการป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่เทศบาลเมืองศรีสะเกษ จำนวน 15 เครื่อง
สำหรับในปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในการดึงประชาชนในจังหวัดศรีสะเกษ และพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาท่องเที่ยวได้ค่อนข้างมากทีเดียว
โดยข้อมูลจาก ททท.ระบุว่า ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 24.27% หรือ 1,154,811 คน จากปีก่อน 800,000 คน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1,758.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.88% จากปีก่อน 980 ล้านบาท
คิดเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20.39 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวไทย 1,737.64 ล้านบาท มีอัตราการเข้าพักกว่า 51.26% เพิ่มขึ้น 5.12%
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โดยเฉพาะชาวกัมพูชา คือ ความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน (โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ) ที่เป็นทางเลือกการรักษาให้กับประชาชนในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงผู้ป่วยจากประเทศกัมพูชาที่นิยมเข้ามารักษาที่ จ.ศรีสะเกษมากขึ้น เพราะมีความสะดวก ระยะทางสั้นกว่า
และเครื่องมือทางการแพทย์มีความพร้อมไม่แพ้กับที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.สุรินทร์ ส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มธุรกิจการแพทย์เป็นอีกกลุ่มตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม ความเฉพาะทางของแพทย์ยังเป็นสิ่งต้องพัฒนาด้านต่อไป
ดันอีเวนต์ทุเรียนพุ่ง 3 พันล้าน
นายรัฐวิทย์เล่าต่อว่า “เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ซึ่งปกติจัดช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายน เป็นอีก 1 อีเวนต์ที่ทำได้ดีขึ้นทุกปี สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท/ปี คาดว่าอีก 5 ปี หรือภายในปี 2573 จะมีเงินสะพัดถึง 3,000 ล้านบาท/ปี เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เราสร้างผลผลิตยุคใหม่ทางการเกษตร อย่างผลผลิตทุเรียนภูเขาไฟที่ปลูกมากใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอศรีรัตนะ จากเมื่อก่อนที่เราเคยขายทุเรียน 3 กิโลกรัม 100 บาท
ตอนนี้ขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท มีพื้นที่ปลูก 18,830 ไร่ ให้ผลผลิตอยู่ที่ 20,000 ตัน/ปีโดยเฉลี่ย ถึงแม้สัดส่วนทุเรียนภูเขาไฟจะคิดเป็นเพียง 1% ของทุเรียนทั้งประเทศ แต่ถือเป็นปริมาณที่เราสามารถควบคุมได้ ในปีนี้จะมุ่งส่งเสริมคุณภาพมากกว่าขยายพื้นที่ปลูก เพื่อควบคุมคุณภาพของทุเรียนให้ตรงตามมาตรฐานได้
อีก 1 งานสำคัญ ได้แก่ “งานดนตรี ซาวด์ออฟศรีสะเกษ” แม้เป็นเพียงการจัดงานเล็ก ๆ จัดเพียง 3 วัน แต่ถือเป็นงาน “เรือธง” ของจังหวัด เกิดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท เป็นการแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น ผ่านการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมด้านดนตรี ภาพยนตร์ ศิลปะ จากความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่สำคัญคือ ศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีค่ายเพลงกว่า 1,000 ค่าย
และมีการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง อย่างเรื่องสัปเหร่อ แสดงให้เห็นว่าจังหวัดศรีสะเกษมีความโดดเด่น และถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) “City of Music”
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “1 อำเภอ 1 เทศกาลสร้างสรรค์” ที่เริ่มปี 2567 เป็นปีแรก เป็นหนึ่งในกิจกรรมในการเฟ้นหาช้างเผือกหรืองานเทศกาลระดับชุมชน ที่มีศักยภาพต่อยอดให้เป็นกิจกรรมประจำจังหวัดในอนาคต ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้พี่น้องชาวศรีสะเกษได้มีส่วนร่วมกันคิดร่วมกันทำ ที่ผ่านมาได้จัดงานไปแล้ว เช่น งานบุญกุ้มข้าวใหญ่ ผ้าไหมบึงบูรพ์ ที่อำเภอบึงบูรพ์, งานสักการะพระใหญ่ ไหว้ศาลหลักเมือง รุ่งเรืองศิลาลาด 28 ปี ที่อำเภอศิลาลาด เป็นต้น
อัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายรัฐวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลของการผลักดันจังหวัดที่ผ่านมา ทำให้จังหวัดศรีสะเกษเติบโตเป็นอันดับต้น ๆ ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดศรีสะเกษ (GPP) มีการอัพเดตล่าสุดปี 2565 มูลค่า 80,438 ล้านบาท ปัจจุบันจังหวัดมีสัดส่วนรายได้จากภาคเกษตร 60% ภาคการค้าและการบริการ 30% และภาคท่องเที่ยว 10% ซึ่งเป็นรายได้ทางอ้อมที่มาจากการจัดอีเวนต์ประจำทุกเดือน และยังมีอัตราการเติบโตเป็นอันดับต้น ๆ ในอีสาน
ในเร็ว ๆ นี้จะมี “เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่า ไทศรีสะเกษ” วันที่ 12 มีนาคม 2568 แสดงให้เห็นถึงดอกไม้ประจำจังหวัด ที่จะส่งกลิ่นหอมปีละครั้ง มีการแสดง แสง สี เสียง บอกเล่าความเป็นมาของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ประชาชนแห่ร่วมงานกันคับคั่ง ในปีนี้จะมีการเพิ่มจำนวนที่นั่งมากขึ้น มีการปรับปรุงเปลี่ยนการแสดงเรื่องใหม่ นำเชฟชื่อดังมาทำอาหารให้กับผู้ร่วมงาน เช่น แกงส้มทุเรียน, มัสมั่นทุเรียน, ละแวกะดาม (อ่องปูนา) ฯลฯ
“สิ่งที่หอการค้าจังหวัดศรีสะเกษได้เน้นย้ำอย่างต่อเนื่อง คือการร่วมผลักดันแผนการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในจังหวัด ให้เกิดการสร้างคน สร้างอุตสาหกรรมในพื้นที่ ศรีสะเกษเป็นเมืองมีทีมกลุ่มทำดนตรีและภาพยนตร์สัปเหร่อ ล้วนเป็นการสร้างคอมมิวนิตี้ของคนให้แข็งแรงขึ้น เพื่อต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต”