ทุนใหญ่เกาหลี-จีนยึดฐานเชียงใหม่ ทุ่ม 2 พันล้านทำพันธุ์พืชเมืองหนาว-ห้างค้าส่ง

ทุนเกาหลี-จีนบุกเชียงใหม่ “เดอะ คีบัน” ทุนเกาหลี ทุ่มลงทุนกว่า 169 ล้านบาท ลงทุนด้านเกษตรเพาะพันธุ์พืช บนพื้นที่ 60 ไร่ ย่านอำเภอสันป่าตอง ชี้ “เชียงใหม่” มีศักยภาพด้านภูมิประเทศ และเป็นศูนย์กลางการบิน ด้านกลุ่มทุนจีนจากเมืองอี้อู-กว่างโจว บุกห้างค้าส่ง ร่วมทุนกับเชียงใหม่ “บิสสิเนส พาร์ค” มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท

นายวัชระ ตันตรานนท์ กงสุลกิตติมศักดิ์ สาธารณรัฐเกาหลี ประจำเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้พบว่า ยังมีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกลุ่มทุนจากประเทศเกาหลี

“บริษัท เดอะ คีบัน จำกัด” ได้เข้ามาลงทุนด้านการเกษตรในกิจการเพาะพันธุ์พืชเมืองหนาว มูลค่าการลงทุนราว 169 ล้านบาท โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เรียบร้อยแล้วสถานที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตอำเภอสันป่าตอง บนพื้นที่ราว 60 ไร่ ซึ่งเป็นทำเลที่มีระยะห่างจากตัวเมือง-สนามบิน ไม่เกิน 30 กิโลเมตร สะดวกต่อการเดินทางขนส่งสินค้า โดยเหตุผลของการเลือกมาลงทุนด้านเพาะพันธุ์พืชที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบิน ซึ่งในอนาคตจะมีสายการบินตรงจากประเทศเกาหลีเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่มากขึ้น

ขณะที่ศักยภาพของภูมิประเทศเป็นเมืองหนาวและอากาศเย็น และในช่วงฤดูหนาวไม่มีหิมะ ไม่หนาวมากเกินไปเมื่อเทียบกับอากาศในประเทศเกาหลี สภาพดินและพื้นที่มีความเหมาะสมในการเพาะขยายพันธุ์พืช สำหรับบริษัทเดอะ คีบัน เป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ของประเทศเกาหลี มีฐานธุรกิจเคมี และกำลังขยายไลน์สู่ธุรกิจด้านการเกษตร งานวิจัยและพัฒนา (R&D)

นายวัชระกล่าวต่อว่า นอกจากกลุ่มทุนเกาหลี ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยโครงการห้างค้าปลีก-ค้าส่งของตนที่ลงทุนภายในโครงการเชียงใหม่บิสสิเนส พาร์ค บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ได้ร่วมทุนกับกลุ่มทุนจีนจากเมืองกว่างโจวและอี้อู ซึ่งทำธุรกิจห้างค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนในสัดส่วน 49 : 51

โดยรูปแบบของโครงการ วางให้เป็นห้างค้าปลีก-ค้าส่ง แต่จะเน้นหนักการขายส่งเป็นหลัก ตั้งอยู่บนพื้นที่ราว 8 ไร่ อาคารสูง 12 ชั้น ขนาดพื้นที่ 130,000 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งสินค้าที่จะนำมาวางจำหน่ายจะเป็นสินค้าจากประเทศจีนทุกกลุ่มประเภทสินค้าทั้งอุปโภค-บริโภค และเปิดพื้นที่ให้เช่าสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่จะเข้ามาเปิดร้านภายในห้าง โดยกลุ่มทุนจีนที่ร่วมทุนจะนำสินค้าจากจังหวัดเชียงใหม่กลับไปขายในประเทศจีนด้วย ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้วถึง 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ราวปลายปี 2561

อนึ่ง รายงานข่าวจากบีโอไอ แจ้งว่า สำหรับสถิติขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 (มกราคม-มีนาคม 2561) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 333 โครงการ เงินลงทุนรวม 203,630 ล้านบาท โดยมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ของเป้าหมายขอรับส่งเสริมการลงทุนตลอดทั้งปีที่ 720,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการยื่นขอส่งเสริมของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวน 215 โครงการมูลค่าเงินลงทุน 24,907 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 (ม.ค.-มี.ค.) จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 ส่วนมูลค่าลดลงร้อยละ 12

จำนวนโครงการจากต่างชาติที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนคิดเป็นร้อยละ 65 ของจำนวนโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมทั้งสิ้น (333 โครงการ) มูลค่าเงินลงทุน คิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นที่ยื่นขอส่งเสริม (203,635 ล้านบาท) ในจำนวนนี้แบ่งเป็นโครงการใหม่ จำนวน 136 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุน 10,917 ล้านบาท ส่วนโครงการขยาย มีจำนวน 79 โครงการ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 13,990 ล้านบาท

โดยแหล่งที่มาของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ขอรับการส่งเสริม 10 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุด มีจำนวน 65 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 11,790 ล้านบาท รองลงมา คือ จีน มีจำนวน 65 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 2,863 ล้านบาท, ฮ่องกง มีจำนวน 12 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 2,721 ล้านบาท, เนเธอร์แลนด์ มีจำนวน 11 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 2,408 ล้านบาท, สิงคโปร์ มีจำนวน 30 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 2,006 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา มีจำนวน 6 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 1,183 ล้านบาท, ไต้หวัน มีจำนวน 10 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 703 ล้านบาท, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีจำนวน 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 564 ล้านบาท, สวีเดน มีจำนวน 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 494 ล้านบาท และเกาหลีใต้ มีจำนวน 6 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 483 ล้านบาทโครงการที่นักลงทุนต่างชาติยื่นขอรับการส่งเสริม ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง จำนวน 135 โครงการ (14,121 ล้านบาท) ภาคตะวันออก จำนวน 59 โครงการ (8,676 ล้านบาท) ภาคตะวันตก จำนวน 3 โครงการ (328 ล้านบาท) ภาคใต้ จำนวน 9 โครงการ (960 ล้านบาท) ภาคเหนือ จำนวน 4 โครงการ (502 ล้านบาท) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2 โครงการ (99 ล้านบาท) และอื่น ๆ จำนวน 3 โครงการ มูลค่า 221 ล้านบาท