6 กูรูอาเซียนชี้ ‘อนาคตทุเรียน’ จีนตลาดหลักเดียว-ผนึกกันลดเสี่ยง

The future of durian

เมื่อเร็ว ๆ นี้ งานนวัตกรรมผลไม้อาเซียน 2025 : Fruit Innovation Fair 2025 (FIF) จัดโดยหอการค้าจันทบุรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) สมาคมทุเรียนไทย (TDA) สมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด (DMA) สมาคมผู้ส่งออกผลไม้ (MAFTA) และยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (YSF)

จับมือ 6 พันธมิตรอาเซียน ไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลงนาม Amnesty Quality Durian ปฏิญญาการทำทุเรียนคุณภาพ และเวทีสัมมนาหัวข้อ อุตสาหกรรมทุเรียนอาเซียน-จีน : ASEAN China Durian Industry

ทุเรียนไทยพุ่ง 1.47 ล้านตัน

นายภานุศักดิ์ สายพานิช ที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทย (TDA) ให้ข้อมูลว่า ทุเรียนไทยปลูกได้ทั่วประเทศกระจายไปถึง 49 จังหวัด ทำให้พื้นที่ปลูกทุเรียนไทยเพิ่มขึ้น ถึง 1,050,000 ไร่ มีผลผลิต 1.47 ล้านตัน มีแปลงปลูกทุเรียนที่ขึ้นทะเบียน 80,349 แปลง และมีโรงคัดบรรจุ (ล้ง) 1,589 โรง ระยะเวลา 10 ปี (2556-2566) ไทยส่งออกเติบโตถึง 180% ปริมาณทุเรียนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งทุเรียนในอาเซียน สิ่งสำคัญต้องทำทุเรียนคุณภาพและปลอดภัยเพื่อให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภค และที่สำคัญไม่มีสารตกค้าง

ภานุศักดิ์ สายพานิช
ภานุศักดิ์ สายพานิช

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตทุเรียนคุณภาพ มี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1) การจัดการดูแลสวน 2) การเก็บเกี่ยวผลผลิตคุณภาพ และ 3) การป้องกันสารตกค้างต้องห้ามติดไปกับผลผลิต การจัดการสวนต้องมีการออกแบบแปลง เพื่อให้มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคน การจัดการแปลง แหล่งน้ำต้องเพียงพอ การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ธาตุอาหาร ปัจจัยการผลิตต้องคำนวณ วิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ใช้ในปริมาณเหมาะสมกับปริมาณความต้องการของทุเรียนแต่ละระยะ

และในช่วงระยะการเก็บเกี่ยว-หลังเก็บเกี่ยว เพราะจะมีผลต่อคุณภาพของผลผลิตและการรักษาสภาพความสมบูรณ์ของต้นที่ให้ผลผลิตต่อไป รวมทั้งรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ทุเรียน (มกษ.3-2567) ส่วนการป้องกันสารตกค้างต้องตรวจปัจจัยการผลิตที่ใช้ในสวน โรงคัดบรรจุ และการตรวจดิน ใบ ก่อนการเก็บเกี่ยว

ตลาดจีนโตทุกมณฑล

Mr.Ning Ji Yuan President of Bingo Holding Group กล่าวว่า จีนเป็นศูนย์กลางการค้าทุเรียนระดับโลก 90% จีนนำเข้าทุเรียนผลสด อัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น ทั้งปริมาณและมูลค่า ปี 2564-2565 มากกว่า 800,000 ตัน และปี 2566 นำเข้าสูงถึง 1.43 ล้านตัน มูลค่า 6.7 ล้านเหรียญดอลลาร์ และตลาดภายในประเทศจีนเติบโตมาโดยตลอด จากปี 2559 มูลค่า 5,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ (168,320 ล้านบาท) ปี 2566 มูลค่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนปลูกทุเรียนได้ แต่สภาพอากาศ พื้นที่เหมาะสมมีน้อยมาก

ADVERTISMENT

ต้องนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ ทำให้ต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น ๆ จีนได้ขยายตลาดภายในประเทศตามมณฑลต่าง ๆ เพิ่มขึ้นประมาณ 60% เกือบทุกมณฑล เนื่องจากการขนส่งไปยังมณฑลต่าง ๆ สะดวกขึ้นและมีเทรดเดอร์กระจายสินค้า ทุเรียนที่ส่งมาจีนถ้ามีคุณภาพขายได้หมด จีนชอบบริโภคทุเรียนไทยที่มีคุณภาพดี แม้ว่าจะราคาแพง และสนใจที่จะทำท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อเป็นจุดขาย

เวียดนามชู AI ดูแลผลผลิต

นายเหวียน วัน เหม่ย (NGUYEN VAN MUOI) นายกและเลขาสมาคมพืชสวนเวียดนาม (Head of Vietnam Gardening) เปิดเผยว่า ทุเรียนเวียดนามกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วจากพื้นที่ปลูกและการส่งออก ปี 2566 เวียดนามปลูกทุเรียน 942,500 ไร่ หรือ 150,800 เฮกตาร์ เปรียบเทียบการเติบโตตั้งแต่ 2560-2565 มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 24%/ปี ในปี 2567 ปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ 1,503,200 ไร่ ส่งออกทุเรียนสด 857,000 ตัน มูลค่า 2,992 ล้านบาท ปริมาณขยายตัว 48.35% เปรียบเทียบปี 2566-2567 เพิ่มขึ้น 41.6% ข้อดีทุเรียนเวียดนาม มีผลผลิตออกได้ตลอดปี

ADVERTISMENT

The future of durian

ทั้งในฤดูและนอกฤดู เริ่มจากในฤดูกาล เดือนเมษายน-ตุลาคม และนอกฤดู เดือนพฤศจิกายน-มีนาคม พันธุ์ที่ส่งออกเป็นหลัก คือ DONA RI 6 รีเสาหรือก้านยาวเวียดนาม และพันธุ์อื่น ๆ Musang King และ Black Thorn ปี 2567 เวียดนามส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากไทย ปริมาณ 736,720 ตัน คิดเป็น 47.2% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของจีน

“ปี 2568 เวียดนามต้องเผชิญกับมาตรฐานคุณภาพที่เข้มงวดขึ้นจากจีน ทำให้ตัวเลขส่งออกลดลงมากและเพื่อสู้ในตลาดโลก เวียดนามกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร AI และ Big Data ดูแลสภาพภูมิอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกจากนี้ ยังเน้นขยายตลาด และเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ” นายเหวียน วัน เหม่ยกล่าว

มาเลย์ไม่พร้อมส่งออก

Dato Jason Fong กล่าวว่า มาเลเซียไม่ใช่คู่แข่งไทย เพราะผลผลิตยังมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอบริโภคภายในประเทศ ราคาต่างกันไปแล้วแต่ละสายพันธุ์ 7-8 ชนิด ที่ดัง ๆ เช่น D24 กับ Musang King (D197) ต่างไปจากประเทศไทย ปลูกหมอนทองส่งออกราคาดีกว่าราคาภายในประเทศ ปี 2567 เริ่มส่งออกไปจีนทางเครื่องบินบ้างแล้ว

แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอ และวิธีปฏิบัติส่งออกยังไม่พร้อม และยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ระยะเวลาขนส่งไปจีนนาน ขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ตลาดภายในประเทศค่อนข้างใหญ่ ไม่ได้มีเฉพาะมูซังคิง เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนการขยายตลาดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีการจัดแพ็กเกจดึงดูดให้คนมาเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรัฐซาบาห์ อุปสรรคสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อผลผลิตเหมือนกับไทย รวมทั้งเรื่องศัตรูพืช

“ปัญหาสภาพภูมิอากาศอยากให้ร่วมมือกัน ไทยนำพันธุ์มูซังคิงไปปลูกเพิ่มขึ้นไม่มีปัญหาแต่อย่างไร มาเลเซีย รัฐซาบาห์อยู่ใกล้ฟิลิปปินส์ ต้องร่วมมือกันพัฒนามากกว่าการแข่งขันกัน จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มขึ้น ต้องการการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีทั้งจากไทย เวียดนาม ต้องใช้เวลาเพื่อเพิ่มความสามารถการผลิต และเพิ่มมูลค่า ส่วนใหญ่ยังอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติไม่มีระบบชลประทานที่จะสร้างความยั่งยืน ยกเว้นสวนขนาดใหญ่” Dato Jason Fong กล่าว

อินโดฯเน้นขายในประเทศ

Mr.Adi Gunadi กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลเร่งขยายพื้นที่ปลูกจาก 700,000 เฮกตาร์ เป็น 1.3 ล้านเฮกตาร์ มีนักลงทุนจากจีน-ไทย การพัฒนาพันธุ์ใหม่ส่งออกต้องใช้เวลาและไม่คิดที่จะแข่งขัน เพราะต้นทุนสูงมาก คุณภาพยังไม่มาตรฐาน ตลาดภายในประเทศค่อนข้างใหญ่ และราคาดีกว่า เมืองจาการ์ตามีประชากรมากกว่า 24 ล้านคน นิยมบริโภคทุเรียน รสชาติหวาน เนื้อนุ่ม สายพันธุ์ที่ส่งออกไม่ได้ ยังไม่ถูกโคลนนิ่ง ช่วงที่ราคาถูก ขายได้ราคา กก.ละ 900-1,200 บาท และมีราคาสูงถึง กก.ละ 2,000 บาท ทุเรียนอินโดฯราคาแพง

ราคามาจากความต้องการและปริมาณ ตลาดต่างประเทศมีคนไทย จีนส่งออกมูซังคิง กก.ละ 400-500 บาท หมอนทอง 300 บาท ต่อไปอาจจะใช้ระยะเวลามากกว่า 10 ปีที่จะพัฒนาสายพันธุ์ส่งออก มูซังคิง หรือทุเรียนคุณภาพดี เช่น ชะนี หมอนทอง หนามดำ เพราะต้องใช้เวลา 5-6 ปีปลูก ถ้าส่งออกได้จะมีจังหวัดที่ปลูกทุเรียนได้ 26 จังหวัด อินโดนีเซียมีพื้นที่ขนาดใหญ่ แรงงานถูก ฤดูกาลทุเรียนอินโดนีเซีย ธ.ค.-ก.พ. เกาะบารู พ.ค.-ส.ค. มีคนไทย จีน ไปลงทุนในพื้นที่ 2-3 แห่ง ประมาณ 500 เฮกตาร์ จะเริ่มส่งออกปีนี้

ฟิลิปปินส์ผลผลิตน้อย

Mr.Emmanuel Belviz จาก Durian Industry Association of Davao City และเจ้าของ Belviz Farms เปิดเผยว่า ทุเรียนของฟิลิปปินส์กำลังเติบโตขึ้น โดยปลูกมากที่เมืองดาเวาทางใต้เกาะ มีตลาดภายในประเทศยังน้อย และปี 2566 จีนเพิ่งอนุมัติให้ส่งออกไปขายได้ สายพันธุ์ที่นิยมผสมระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่ส่งไปจีน คือ Puyat D 101 คล้ายสายพันธุ์มาเลเซีย Duyaya ลูกผสมหมอนทอง และในปีนี้ทุเรียนแช่แข็งให้นำเข้าได้จะเป็น Puyat ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสมจากไทยและฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่อันดับ 1 ใน 5 ของโลก แต่ยังมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกต่ำ ปี 2566 ส่งออกผลสด 4,476.94 ตัน ปี 2567 เพิ่มขึ้น 14,308.19 ตัน ส่วนแบ่งตลาดส่งออกต่ำเพียง 0.306% เทียบกับไทย 61.16% เวียดนาม 31.27% อุปสรรคสำคัญของอุตสาหกรรมทุเรียน คือ ปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด คุณภาพ มาตรฐานไม่สม่ำเสมอ ปัญหาการผลิตยังมีการบำรุงรักษาไม่ดีพอ ระบบ GAP ยังไม่นำมาใช้ ฟิลิปปินส์เองไม่นิยมกิน ช่วงฤดูกาลเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม

The future of durian

ดึงอัตลักษณ์ทุเรียนอาเซียน

นายอุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จีนเป็นตลาดหลักในการส่งออกทุเรียนไทย และอนาคตคือทุเรียนอาเซียนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภาวะที่มีการแข่งขัน แย่งตลาดกันส่งทุเรียนผลสดไปตลาดหลักจีนในเชิงปริมาณ และราคาที่สูง

และคาดว่าตลาดจีนจะเป็นตลาดหลักต่อไปด้วยจำนวนประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน การมองจีนเป็นตลาดเดียวสัดส่วนถึง 90% ในเมื่อจีนเริ่มพัฒนาปลูกทุเรียนได้เอง จึงควรมีการบริหารความเสี่ยง ในภูมิภาค ASEAN เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ สร้างบรรยากาศที่ดีในการผลิตทุเรียนให้เป็นเสาที่แข็งแรง มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างบาลานซ์ให้ทุเรียนมีคุณค่าในอนาคต

“แน่นอนว่าทุเรียนใน ASEAN มีการแข่งขันกัน จุดเริ่มต้นเราควรจะร่วมมือกันดึงเอาอัตลักษณ์ของทุเรียนแต่ละประเภท ที่มีเสน่ห์ทั้งรสชาติ ถิ่นกำเนิด รวมทั้งทุเรียน GI ในไทย ให้รู้จักในเชิงลึก สร้างความนิยมทุเรียนรสชาติเป็นเอกลักษณ์ เพื่อให้เติบโตอย่างแข็งแรงมีคุณค่า และต้องให้องค์ความรู้ผู้บริโภคตลาดปลายทาง” นายอุกฤษฏ์กล่าว

จับมือกัน “คู่ค้าไม่ใช่คู่แข่ง”

นายปราโมช ร่วมสุข ที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทย (TDA) กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียนเวียดนาม กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ มีตลาดเดียวกันคือ จีน ถ้ามีปัญหากันเองจะเป็นคู่แข่งโดยปริยาย

แต่ถ้าเราสร้างแบรนด์ที่มีคุณภาพแต่ละประเทศชัดเจน ตลาดยังขยายได้ พันธุ์ทุเรียนใน ASEAN มีฐานจากถิ่นกำเนิดเดียวกันจากไทย เช่น Puyat

กัมพูชารุกปลูก 3 หมื่นไร่ ตั้งเป้าส่งออกจีน-ยุโรป-USA

ATO Sri HATORI ประธานสมาพันธ์ทุเรียนกัมพูชา (President Cambodia Durian Federation : CDF) กล่าวว่า ตั้งเป้าเป็นผู้ส่งออกทุเรียนระดับโลก โดยสมาพันธ์ทุเรียนกัมพูชา (CDF) สนับสนุนเกษตรกรและผลักดันทุเรียนเข้าสู่ตลาดสากล มีการร่วมมือกับบริษัท Golden Durian วางมาตรฐานการเพาะปลูกแบบมืออาชีพ ตอนนี้มีสวนขนาด 20 เฮกตาร์ ในจังหวัดมณฑลคีรี (Mondulkiri) และกำลังขยายไป 5,000 เฮกตาร์ (เท่ากับ 31,250 ไร่) คาดว่าอีก 2-3 ปีจะเริ่มเก็บเกี่ยว กัมพูชาเตรียมพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบการขนส่งที่ดี

DATO Sri HATORI
DATO Sri HATORI

โดยรัฐบาลมีแผนที่จะก่อสร้างถนนเชื่อมไปยังเวียดนาม และจีน ส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งปัจจัยที่ส่งผลกับการปลูกและส่งออกไปจีน คือ สภาพดิน คุณภาพน้ำ สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม และค่าแรงงานในต่างจังหวัดถูก ประมาณ 200 เหรียญดอลลาร์/ปี

ทุเรียนกัมพูชายังส่งออกโดยตรงไม่ได้ ทำให้อัตลักษณ์ทุเรียนกัมพูชาหายไป ทุเรียนปลูกในกัมพูชามากกว่า 50,000 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่ปลูกที่กัมปอต สายพันธุ์เดิมมาจากพันธุ์ชะนีของไทย แต่กลายพันธุ์ทำให้รสชาติอร่อย ส่วนหมอนทองเป็นพันธุ์ที่ขายดีตลาดในประเทศ ปี 2567 ทุเรียนหมอนทองชาวจีนเข้ามาซื้อส่งผ่านเวียดนามไปจีน ปี 2568 กัมพูชาได้รับอนุมัติให้นำเข้าจีนได้ จึงต้องให้ความสำคัญทุเรียนที่ปลูกในกัมพูชา เพราะมีตลาดส่งออกยุโรป อเมริกาด้วย หมอนทอง มูซังคิง ส่วนใหญ่จะปลูกเป็นเชิงพาณิชย์ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ และมีการสำรองน้ำเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 20% เพื่อให้ผลผลิตดี

“ปัญหาตอนนี้คือ มีทุเรียนไทย เวียดนาม ถูกตีกลับส่งเข้ามากัมพูชา จึงมีกฎห้ามนำเข้า เกรงว่าจะมีปัญหาสารปนเปื้อนแคดเมียมและ BY2 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมทุเรียนปี 2568-2569 คือสร้างโรงเพาะเลี้ยงต้นอ่อนที่นำเข้ามาจากไทย เวียดนาม ให้ความรู้กับชาวสวนทุเรียน จัดอีเวนต์ สัมมนา และยินดีช่วยเหลือหากมีคนสนใจจะเข้าไปลงทุนทำสวนทุเรียนในกัมพูชา”DATO Sri HATORI กล่าว