
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
“ห้ามเผาเด็ดขาด” ไม่ใช่วลีใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็น “คำสั่ง” ที่รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยใช้เป็นแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปี แม้คำสั่ง Zero Burning ดูมีความเด็ดขาดและจริงจัง แต่ข้อเท็จจริงในเชิงพื้นที่กลับตรงกันข้าม ด้วยเพราะการ “เผา” กลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ ที่ทางออกในการแก้ไข นับวันยิ่ง “ตีบตัน”
“ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ” ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เหตุและปัจจัยใดที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง “ห้ามเผาเด็ดขาด” (Zero Burning) ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นควัน PM 2.5 อย่างยั่งยืน ต้องทำอย่างไร
รัฐสั่งห้าม-ยิ่งเผาหนัก
แนวทางนี้รัฐบาลใช้มา 20 ปี รวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่การเผากลับมากขึ้นเรื่อย ๆ แสดงว่าคำสั่ง “ห้ามเผาเด็ดขาด” หรือ Zero Burning ไม่มีผลอะไร เพราะไม่สอดคล้องกับความจริง เป็นวิธีการบริหารที่ทำให้ทุกเรื่องไปอยู่ใต้ดินหมด ทั้งแอบเผา เผาแล้วหนี สุดท้ายควบคุมไฟไม่ได้ และจับใครไม่ได้ ยิ่งทำให้การเผาไปอยู่ในที่มืด ความจริงแล้ว PM 2.5 เกิดจากการเผาทุกชนิด รถยนต์วิ่งก็คือเผาไฟกองเล็ก โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงงานอุตสาหกรรมเป็นไฟกองใหญ่
เผาตลอดเวลาทั้งปีด้วยซ้ำ PM 2.5 มีค่าสูงมาก แต่ไม่มีใครออกมาโวยวาย แสดงให้เห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านเหมือนฆาตกร ทำไมเจ้าสัวไม่โดน ทำไมไม่ไปไล่บี้เจ้าสัว โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น
ขณะที่กฎหมายป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นกฎหมายเชิงรับและล้าหลัง ถ้าเกิดเหตุและมีการประกาศแล้ว จึงจะสามารถใช้งบประมาณ ใช้คน ใช้เครื่องจักรได้ ซึ่งไม่ทันการณ์ต่อบริบทของ PM 2.5 ควรเน้นการป้องกันและควบคุมแหล่งกำเนิดไฟทุกแหล่งมากกว่า ทุกกระบวนท่าทั้งหมดเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และการบริหารก็ใช้แบบ Top Down ใช้อำนาจ ใช้คำสั่ง ซึ่งข้อสรุปนี้ไม่ได้ผลสำหรับการแก้ปัญหาที่ผ่านมา 20 ปี
ชง 3 ทางออกแบบยั่งยืน
สภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคม เกิดขึ้นมา 5 ปีแล้ว ปีนี้จะครบ 6 ปี เราเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ทุกฝ่ายที่อยากแก้ปัญหานี้ กระโดดเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา ช่วยกันวิเคราะห์ปัญหา ลำพังรัฐฝั่งเดียวแก้ไม่ได้ PM 2.5 เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อนเชื่อมโยงหลายกระทรวง หลายระดับ เป็นปัญหาใหญ่หลายมิติ อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำ มีคนจนที่สุด คนที่ไม่มีที่ดินเลย และมีมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศที่อยู่ในวงจรนี้ และมีความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม
ข้อเสนอใหม่มี 3 ประเด็น คือ 1.การแก้ปัญหาแบบยั่งยืนที่มีการวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน จนถึงระดับภูมิภาค โดยกระบวนการนี้ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนในการแก้ไขปัญหา ทำงานตลอดเวลาและต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแบบอีเวนต์ เน้นแก้ปัญหาทุกแหล่งกำเนิดไฟหรือการเผา
2.ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันทำงานแบบล่างขึ้นบน หรือ Bottom Up เราให้ความสำคัญกับชุมชนและท้องถิ่น เพราะ 2 ส่วนนี้เป็นผู้ปฏิบัติการแท้จริง อยู่ติดดิน ติดน้ำ ติดป่า ถ้า 2 ส่วนนี้ไม่ลุกขึ้นมา การแก้ปัญหาจากภายนอกจะดีแค่ไหนก็แก้ไม่ได้ ถ้าเราไปเสริมศักยภาพ เสริมเขี้ยวเล็บ เสริมความพร้อม พัฒนาคุณภาพชีวิต จะทำให้เขาเข้มแข็ง และแก้ปัญหาได้ยั่งยืน และต้องมีภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาครัฐเข้าไปสนับสนุน
3.เสนอให้ใช้ระบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (Fire Management) เป็นการยกระดับจากการใช้อำนาจและสั่งการอย่างเดียว บริหารจัดการโดยใช้องค์ความรู้วิชาการ องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เช่น พื้นที่ไหนมีความสำคัญต้องรักษาไว้ร่วมกัน ส่วนนี้ต้องรักษาเด็ดขาด เช่น ทำแนวกันไฟ มีการลาดตระเวน ช่วยกันดับเมื่อเกิดไฟขึ้น ซึ่งเห็นด้วยต้องมี Zero Burning สำหรับพื้นที่สำคัญ ต้องดูแลรักษาไว้อย่างเข้มข้น เรียกว่าเป็นพื้นที่ไข่แดง
ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ไฟ ได้แก่ พื้นที่ปลูกข้าว เป็นระบบไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านบนดอยทำกันมา 200-300 ปีแล้ว จำเป็นต้องใช้ไฟบ้าง ซึ่งไม่มาก เป็นแปลงขนาดเล็ก ๆ ที่ใช้ไฟให้จบภายใน 30 นาที ชาวบ้านมีความรู้ที่เรียกว่า Controlled Burning คือการเผาไหม้แบบควบคุมหรือการเผาตามที่กำหนด เป็นการปฏิบัติโดยเจตนาจุดไฟเพื่อเปลี่ยนการรวมตัวกันของพืชพรรณและวัสดุที่เน่าเปื่อยในแปลงข้าว การฟื้นฟูระบบนิเวศ การแผ้วถางที่ดิน รอให้เชื้อเพลิงแห้งสนิท ทำแนวกันไฟล้อมรอบ มีคนมาช่วยกันดู ซึ่งเป็น
การเผาตอนกลางวัน เป็นความรู้เรื่องการจัดการไฟที่มีมานานนับร้อย ๆ ปี เผาเพื่อให้เศษวัสดุการเกษตรที่อยู่ในแปลงหมด
ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านจะหมุนเวียนอยู่ 7 แปลง หรือน้อยกว่านี้ แปลงหนึ่งสำหรับการใช้ 1 ปี เพื่อการบริโภคยังชีพเท่านั้น ไม่สามารถขายได้ ประมาณ 4-5 ไร่ต่อครอบครัว ในการปลูกข้าว จะปลูกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยจะเผาต่อเมื่อมีสัญญาณว่าฝนจะตก เป็นความรู้ธรรมชาติ ถ้าไม่มีฝนก็เผาไม่ได้ เพราะเมื่อเผาเสร็จจะต้องปลูกข้าวทันที และภายในแปลงจะปลูกพืชผักอีก 30 ชนิด เป็นพืชผักที่เป็นอาหาร ทั้งถั่ว ผัก พริก มะเขือ ฟักแฟง เผือก มัน ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร 1 ปีของชาวบ้าน พอปีที่ 2 จะไปทำแปลงใหม่ ทิ้งแปลงเดิม ไม่มีการพลิกหน้าดิน คือเกษตรยั่งยืนบนที่สูงที่ใช้ระบบน้ำฟ้า พื้นที่ส่วนนี้ถือเป็นพื้นที่จำเป็น
สำหรับการจุดไฟโดยพลการ คือไฟที่ไม่มีความจำเป็น ต้องใช้ Zero Burning ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย แต่ไฟที่จำเป็นตามหลักวิชาการวนศาสตร์ต้องมีการบริหารจัดการควบคุมไม่ให้เกิดการลุกลาม เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด ซึ่งเชียงใหม่มีภาคีหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ท้องถิ่น และชุมชนได้ร่วมกันดำเนินงานมานานแล้ว
ถือว่ามีพัฒนาการที่ดี แต่อาจยังไม่สมบูรณ์ เห็นด้วยว่าต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีงานวิจัย องค์ความรู้มากมายและมีการร่วมขับเคลื่อนกับภาคีต่าง ๆ เพื่อเป็นทางออกบนฐานความรู้ให้กับสังคมและผู้บริหารประเทศ จาก Zero Burning สู่ Fire Management
Fire Management นับเป็นนวัตกรรมการแก้ปัญหาไฟป่าฝุ่นควันและลดผลกระทบทางสุขภาพ เริ่มจากต้องมีนโยบายและแผนการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ป่าร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฝ่ายปกครอง
1.ร่วมกันกำหนดพื้นที่ว่าตรงไหนจะร่วมกันรักษาไม่ให้เกิดไฟ (Zero Burning) ต้องทำแนวกันไฟ ต้องลาดตระเวน ต้องช่วยกันดับเมื่อเกิดไฟ 2.ร่วมกันกำหนดพื้นที่ตรงไหนจำเป็นต้องใช้ไฟจริง ๆ (การทำไร่หมุนเวียน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ พื้นที่ที่มีการสะสมเชื้อเพลิงมากเกินไป พื้นที่เสี่ยง หากเกิดไฟแล้วเข้าดับไม่ได้) ต้องแจ้งพิกัด จำนวนพื้นที่ ขออนุญาตผ่านแอปพลิเคชั่น Fire D เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งก่อนดำเนินการต้องทำแนวกันไฟ มีกำลังคนควบคุม และดำเนินการให้จบในตอนกลางวัน ป้องกันไม่ให้ลุกลาม
3.พื้นที่นาให้ใช้การไถกลบตอซังข้าวแทนการเผาทุกที่ 4.แผนการลดเชื้อเพลิงชิงเก็บ เก็บชีวมวลมาขายเป็นรายได้ หรือการแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ 5.ในระยะยาวมีแผนสนับสนุนการเปลี่ยนการผลิตเชิงเดี่ยว (ข้าวโพด) ให้เป็นการผลิตที่ยั่งยืน
20 ปีรัฐไร้ยุทธศาสตร์แก้
1.รัฐบาลไม่มีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการแก้ไขปัญหาทุกระดับ เราอยากเห็นแผนการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล จังหวัด และระดับประเทศ 2.การมีส่วนร่วมติดล็อกหลายเรื่อง ใช้กฎหมายเก่าคือ กฎหมายป้องกันบรรเทาสาธารณภัย 3.เชียงใหม่ เกิดไฟไหม้มากที่สุดในเขตป่าอนุรักษ์กว่า 50% ป่าสงวนกว่า 40% รวมแล้วกว่า 90% อยู่ในป่าทั้งหมด
เหตุปัจจัยหลักที่ไฟเกิดขึ้นในป่า ทั้งป่าอนุรักษ์และป่าสงวน มาจากกฎหมายป่าไม้ และกฎหมายอุทยาน ที่ไปประกาศทับลงบนพื้นที่ชาวบ้านคือ ชุมชน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านแล้วทำให้พื้นที่ของชาวบ้านกลายเป็นพื้นที่ผิดกฎหมาย ไม่มีสิทธิในที่ทำกิน ก็จะเกิด 2 ประเด็นตามมา คือ 1.ไม่สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้ ถ้าปลูกไม้ยืนต้นจะถูกทวงคืนผืนป่า เพราะป่าไม้มองว่าชาวบ้านกำลังจะยึดพื้นที่ก็จะถูกจับ ชาวบ้านจึงปลูกได้แต่ข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชล้มลุกเชิงเดี่ยว เมื่อรู้ว่าเจ้าสัวเป็นคนสนับสนุน ทำไมไม่กำกับ ไม่ควบคุม
2.งบประมาณของรัฐไม่สามารถไปดำเนินการในพื้นที่เหล่านี้ได้ เพราะเป็นพื้นที่ผิดกฎหมาย ชาวบ้านจึงถูกจำกัดการพัฒนา ต้องปลดล็อกให้ชาวบ้านมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน จึงจะสามารถเปลี่ยนจากข้าวโพดเป็นพืชที่มั่นคงได้ 3.เราเสนอให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลป่าด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่ามีจำนวนน้อยมาก สามารถดูแลพื้นที่ป่าได้จริงเพียง 10% เท่านั้น เราเสนอให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวบ้านจับมือกัน Comanagement ในการวางแผนดูแลไฟ
พ.ร.บ.อากาศสะอาดสู่สภา มี.ค.
สำหรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหา แต่ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยเสริมให้การแก้ไขปัญหานี้ มีทิศทางที่มีความชัดเจนขึ้น จะเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เดือนมีนาคม 2568 และคาดว่ากฎหมายจะออกราวกลางปี 2568 ถามว่ามีกฎหมายอากาศสะอาดแล้วจะแก้ปัญหาได้จริงไหม คิดว่าจะดีกว่าเก่า เพราะเป็นกฎหมายเชิงรุกกว่ากฎหมายป้องกันบรรเทาสาธารณภัย มีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบชัดเจนและมีการควบคุมทุกแหล่งกำเนิดการเผา
มีการให้สิทธิอากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและฟ้องร้องได้มากขึ้น มียุทธศาสตร์การแก้ปัญหาที่ชัดเจนขึ้น และกำกับดูแลแต่ละแหล่งกำเนิด มีการลงโทษผู้ปลดปล่อยแหล่งกำเนิดที่ชัดขึ้น มีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การสร้างแรงจูงใจให้ลดการเผา ลดการปล่อยมลพิษ และมีกองทุนอากาศสะอาด เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง จะเป็นกฎหมายที่เด็ดขาดมากขึ้น รวมทั้งการกำกับควบคุมฝุ่นควันข้ามแดนน่าจะชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการลงทุนในต่างประเทศ การรายงานตรวจสอบย้อนกลับ มาตรการในการปรับ
Zero Burning สร้างปมใหญ่
เราเสนอให้รัฐบาลมีแผนแก้ไขปัญหาฝุ่นควันเชียงใหม่ระยะ 5-10 ปี ซึ่งต้องมองทุกระดับตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับภูมิภาค ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย และในทุกแผนต้องมีองค์ประกอบของภาคีทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล จังหวัดและระดับภูมิภาค ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ต้องรวมอยู่ในแผนด้วย เพื่อให้องค์ประกอบไม่ใช่เพียงรัฐอย่างเดียว เพราะถ้ามีเพียงรัฐอย่างเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ และการกระจายอำนาจให้งบประมาณ ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ไปอยู่ในระดับชุมชน ท้องถิ่น ตำบล จังหวัดให้มากขึ้น ให้มีทรัพยากรเพียงพอในการแก้ไขปัญหา
เราไม่รับคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องห้ามเผาเด็ดขาด หรือ Zero Burning เราไม่ยอมรับ เราปฏิเสธ แต่เราจะปฏิบัติการตามแนวทางที่เราทำมาตลอด หน่วยงานไหนที่ทำ Zero Burning เราก็ไม่ร่วมมือ เราไม่อยากวนกลับไปเป็นแบบเดิม นอกจากแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว จะสร้างความขัดแย้งกับชาวบ้าน ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหม่ ปัญหาใหญ่ และเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต