
ปัญหาแนวเขตที่ดินทับซ้อนระหว่างที่ดินของรัฐต่อรัฐ และรัฐกับที่ดินทำกินของประชาชนและกลุ่มทุน ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาการบุกรุกและการถือครองโดยผิดกฎหมาย ทำให้ที่ผ่านมามีคดีฟ้องร้องกันมากมายระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องการออกเอกสารสิทธิไม่ถูกต้อง การจัดสรรที่ดินไม่เป็นธรรม ขณะที่อีกด้านประชาชนจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน และอยู่อาศัย จึงนำมาสู่การทำข้อตกลงในรูปแบบ One Map ให้เป็นแผนที่เดียวกันทั่วประเทศ
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายสุริยน พัชรครุกานนท์” รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. ถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เพื่อปลดล็อกปัญหาข้อพิพาทแนวเขตที่ดินทั่วประเทศ
แก้ปมบุกรุกที่ดินรัฐ
ในอดีตปัญหาการบริหารงานที่ดินของรัฐ ต่างคนต่างทำ แต่ละหน่วยงานถือแผนที่กันคนละฉบับ ต้องยอมรับว่าประเทศไทย มีทั้งฝั่งอนุรักษ์ และฝั่งที่ต้องการใช้ประโยชน์ อีกฝั่งคือประชาชน ทาง สคทช. มีหน้าที่นำที่ดินมาจัดให้มีการกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม เพื่อกระจายความเหลื่อมล้ำ โดยส่วนของผู้บุกรุกต้องไปดูว่าเป็นนายทุนหรือไม่
หากเป็นผู้มีรายได้น้อย ต้องมาพิสูจน์ว่าอยู่อาศัยมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีความจำเป็นอย่างไร ต้องมีมาตรการตรวจสอบการถือครอง การทำประโยชน์อย่างเคร่งครัด วันนี้การบุกรุกที่ดินของรัฐยังไม่จบ จึงต้องทำแผนที่ขอบเขตที่ดินหน่วยงานรัฐให้ชัดเจน จึงนำมาสู่ “โครงการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000” เรียกสั้น ๆ ว่า “โครงการ One Map” และแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงแนวเขตที่ดินให้ชาวบ้านด้วย
หลังจากทำแผนที่เสร็จออกมา แนวเขตจะชัดเจนว่าที่ดินตรงไหนเป็นของหน่วยงานใด โดยการทำแผนที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ภาพถ่ายไลดาร์ (LiDAR) เป็นภาพ 3 มิติ ความละเอียดสูง โดยกรมแผนที่ทหารบินถ่ายภาพใหม่ ระดับความสูง 7,000 ฟีต ซึ่งมีความแม่นยำชัดเจน ต่อไปประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปดูแผนที่นี้ได้ผ่านแอปพลิเคชั่น One Map Thai
ต่อไปประเทศไทยจะมีแผนที่ที่ทันสมัยที่สุดในโลก ตรวจสอบแนวเขตได้ทุกจังหวัด รวมถึงสามารถตรวจสอบปัญหาการบุกรุกได้ว่ามีคนเริ่มอาศัยอยู่ตั้งแต่ปีไหน ภาพถ่ายทางอากาศ ร่องรอยการทำประโยชน์ ใช้หลักวิทยาศาสตร์ วัดจากสิ่งที่ตั้งอยู่ก่อน เช่น วัด บ้าน โรงเรียน ชุมชน ซึ่งหากอยู่มาก่อนที่จะประกาศ ต้องดูว่าใช้สิทธิอะไร แต่ถ้าอยู่หลังจากนี้แสดงว่ามีการบุกรุก ต้องให้ออกจากพื้นที่ แนวเขตที่เคยทะเลาะกันมา ต่อไปก็จะไม่มีแล้ว
นำร่องเสร็จ 33 จังหวัด
การทำ One Map จะเป็นการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 เพื่อแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกัน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีกฎหมายที่ดินของรัฐหลายฉบับ ใช้มาตราส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลที่ดินรัฐในประเทศไทยทั้งหมด มีเนื้อที่มากกว่า 542.35 ล้านไร่ ทั้งที่ประเทศไทยมีเนื้อที่เพียง 320.7 ล้านไร่เท่านั้น
แบ่งเป็นพื้นที่เกษตร 46.5% : 149,251,941 ไร่, พื้นที่ป่าไม้ 31.9% : 102,353,485 ไร่ และพื้นที่นอกการเกษตรหรืออื่น ๆ 21.2% : 68,091,463 ไร่ สามารถตีความได้ว่ามีมากกว่าเนื้อที่จริง 50% ทำให้กฎหมายที่ถูกประกาศไปก่อนนี้ต่างอ้างสิทธิไม่เหมือนกัน จึงนำมาสู่การทำข้อตกลงในรูปแบบ One Map ให้เป็นแผนที่เดียวกัน ป้องกันปัญหาแนวเขตทับซ้อน
ปัจจุบันประเทศไทย มีปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกัน ซึ่งมีพื้นที่ที่ดินของรัฐตามกฎหมายหน่วยงาน ประมาณ 458.4 ล้านไร่ หากปรับปรุงแผนที่แนวเขต (One Map) จะเหลือพื้นที่ ที่ดินของรัฐ (ที่สาธารณะ ที่ใช้ในราชการ ที่รกร้างว่างเปล่า ที่ดินที่มีกฎหมายดูแลเฉพาะ เช่น ป่าไม้ อุทยาน ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ฯลฯ) ประมาณ 207.7 ล้านไร่ และที่ดินเอกชน ที่ดินเอกชน (โฉนด, โฉนดตราจอง, ตราจอง โดยเฉพาะ น.ส.3 ก., น.ส.3 และใบจอง) 24.4 ล้านไร่
ในงบประมาณปี 2568 สคทช.ก็ได้กำหนดแผนงานปรับปรุงเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) ได้แบ่งการทำงานจากทั้ง 77 จังหวัด ออกเป็น 7 กลุ่ม ปัจจุบันเสร็จสิ้นทั้งหมด 55 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมี 3 กลุ่มแรก 33 จังหวัด ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว
กลุ่มที่ 1 บริเวณพื้นที่ภาคกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่สามารถจัดการได้รวดเร็ว ไม่มีพื้นที่ป่าหรือที่ทับซ้อน ได้แก่ นนทบุรี นครปฐม อ่างทอง ปทุมธานี กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และพระนครศรีอยุธยา
ครม.เห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565
กลุ่มที่ 2 บริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง นครสวรรค์ ชัยนาท ตราด ลพบุรี นครนายก สระบุรี และศรีสะเกษ ครม.เห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565
กลุ่มที่ 3 บริเวณเขตพื้นที่ภาคอีสาน ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ สุรินทร์ สระแก้ว มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ครม.เห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
กลุ่มที่ 4 ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ยโสธร นครพนม อุดรธานี สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ครม.เห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567
กลุ่มที่ 5 ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อยู่ระหว่างรอการนำเสนอ ครม.เห็นชอบ คาดว่าไม่เกินเดือนเมษายน 2568
ขณะที่กลุ่มที่ 6 ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568
ส่วนกลุ่มที่ 7 ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก อุทัยธานี และกำแพงเพชร อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568
One Map ที่ดินรัฐลดฮวบ
ผลของการปรับปรุงแผนที่แนวเขตล่าสุดตามที่มติ ครม.เห็นชอบ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ยกตัวอย่าง กลุ่มที่ 3 พื้นที่ของ จ.สระบุรี ก่อนมีการปรับปรุง 1,967,613.68 ไร่ หลังการปรับปรุง เหลือ 1,313,695.16 ไร่ คิดเป็น 33.23%
ส่วน จ.นครราชสีมา ที่ดินของรัฐก่อนมีการปรับปรุง One Map 17,140,824.63 ไร่ หลังการปรับปรุง 7,759,395.71 ไร่ เนื้อที่ลดลง 9,381,428.92 ไร่ (หักพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลาน กับเขตปฏิรูปที่ดิน 191,366.13 ไร่ คงเหลือ 7,568,029.5 ไร่)
จ.บุรีรัมย์ ที่ดินของรัฐก่อนมีการปรับปรุง One Map 6,057,885.44 ไร่ หลังปรับปรุง 3,007,098.59 ไร่ เนื้อที่ลดลง 3,050,786.85 ไร่ คิดเป็น 50.36%
จ.สุรินทร์ ที่ดินของรัฐก่อนมีการปรับปรุง One Map 4,828,657.50 ไร่ หลังปรับปรุง 2,759,419.92 ไร่ เนื้อที่ลดลง 2,069,237.58 ไร่ คิดเป็น 42.85%
จ.ชัยภูมิ ที่ดินของรัฐก่อนมีการปรับปรุง One Map 9,884,075.87 ไร่ หลังปรับปรุง 5,011,345.74 ไร่ เนื้อที่ลดลง 4,872,730.13 ไร่ คิดเป็น 49.30%
ยกตัวอย่าง กลุ่มที่ 2 ตามที่มติ ครม.เห็นชอบ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 จ.ลพบุรี ที่ดินของรัฐก่อนมีการปรับปรุง One Map มีประมาณ 4,383,623.12 ไร่ หลังการปรับปรุง 3,129,640.35 ไร่ เนื้อที่ลดลง 1,253,982.77 ไร่ คิดเป็น 28.61% ตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่ผ่านมา ได้ทำโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เข้าไปจัดสรรในพื้นที่จังหวัดลพบุรี
ได้แก่ 1.ที่สาธารณประโยชน์ ปี 2560 เนื้อที่ 18 ไร่ 75 วา มีการเห็นชอบพื้นที่เป้าหมายและออกหนังสืออนุญาต จัดที่ดินแล้วจำนวน 86 ราย หรือ 86 แปลง 2.ป่าสงวนแห่งชาติ (เชิงรุก) เนื้อที่ 32 ไร่ 53.75 วา ขณะนี้เห็นชอบพื้นที่เป้าหมายแล้ว อยู่ระหว่างรอออกหนังสืออนุญาต
ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีที่ดินของรัฐอยู่ในความรับผิดชอบต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีภายใน 360 วัน แต่กรณีมีผลกระทบเล็กน้อยให้แก้ไขได้ 90 วัน หากผลกระทบปานกลาง ที่ต้องไปพิจารณาขอบเขตระหว่างหน่วยงานที่ประกาศเส้นแนวเขตแปลงเข้า-ออก ให้แก้ไขได้ 180 วัน และผลกระทบที่หนักที่สุด ต้องแก้ไข 1 ปี
“วันนี้การบุกรุกที่ดินของรัฐยังไม่จบ มีการฟ้องร้องกันนับแค่บริเวณวังน้ำเขียวเป็น 10,000 คดี จากการถือแผนที่คนละฉบับ ทั้งรัฐต่อรัฐ รัฐกับเอกชน แต่เมื่อทำ One Map เสร็จ ต้องทำให้ปัญหาการบุกรุกที่ดินเป็นศูนย์ โดย สคทช. ต้องทำขอบเขตให้ชัด มีมาตรการตรวจสอบถือครองอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ จะมีการช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนด้วย”
จี้ชาวบ้านพิสูจน์สิทธิ
อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐอาจเกิดผลกระทบต่อประชาชน สคทช.ได้มีแนวทางแก้ไขปัญหา 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ และประชาชนไม่มีเอกสารสิทธิ
1.ประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ คือกรณีประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ (น.ส.3, น.ส.3 ก.) โฉนดที่ดิน ที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของรัฐ คือ หนังสือรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดิน แล้วแต่กรณีที่มีเอกสาร (ส.ป.ก.4-01, น.ค.3 ก.ส.น.5) ที่อยู่ในเขตที่ดินของรัฐประเภทอื่น จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ถ้าประชาชนมีข้อโต้แย้ง ให้พิสูจน์สิทธิ แล้วให้การเยียวยาและช่วยเหลือตามความเหมาะสม
2.ประชาชนไม่มีเอกสารสิทธิ กรณีประชาชนอยู่อาศัยมาก่อนที่จะประกาศเป็นที่ดินของรัฐ ให้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิตามมาตรการของ สคทช. คือ การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดิน แต่กรณีที่ประชาชนอยู่อาศัยภายหลังมีการประกาศเป็นที่ดินของรัฐ จะมีแนวทางช่วยเหลือตามประเภทที่ดินของรัฐ
ได้แก่ (1) เขตป่าสงวนแห่งชาติ, เขตป่าอนุรักษ์ และเขตป่าชายเลน โดยตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ได้อนุญาตให้ทำประโยชน์ได้ แต่ต้องอยู่มาก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เท่านั้น (2) เขตที่ราชพัสดุ และที่สาธารณประโยชน์ ได้อนุญาตให้เช่า หรือให้ใช้ประโยชน์ได้
กรณีที่ดินรัฐต่อรัฐที่มีปัญหากัน เช่น จากเดิมมีปัญหาการทำงานรังวัดออกนอกเขต, ส.ป.ก.ประกาศนอกเขต, กรมป่าไม้ประกาศเข้ามาในเขต, อุทยานประกาศทับเขต หรือกรมธนารักษ์ และที่สาธารณะที่มีขอบเขตไม่ชัดเจน ปัจจุบันหลายพื้นที่สามารถตกลงกันได้แล้ว
รวมถึงประชาชนเคยได้โฉนดที่ดิน แต่ที่ผ่านมามีการประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยาน พื้นที่ป่าไม้ หรือที่ ส.ป.ก. ทั้งที่ลงทุนไปแล้ว ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสนว่าตกลงที่เป็นของใคร แต่ในวันนี้ปัญหานี้ยุติแล้ว ประชาชนสามารถรับรู้ได้ว่าเป็นที่ของใคร ต้องขออนุญาตที่ไหน
เพราะตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ได้อนุญาตให้ประชาชนสามารถโต้แย้งสิทธิได้ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถยกเลิกได้เอง รวมถึงต้องช่วยเหลือ และเยียวยาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกกลุ่มจังหวัด
อย่างไรก็ตาม เพื่อความรอบคอบ มติ ครม. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ให้ สคทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ในวันนี้เป็นพื้นที่ป่า ทางรัฐจะเยียวยาอย่างไร หากติดหนี้ ธ.ก.ส. หน่วยงานต้องไปคุยกันให้ได้ข้อยุติ บางพื้นที่ที่เป็นปัญหาเรายอมทำโครงการช้า หากทำด้วยความรวดเร็ว เมื่อเกิดผลกระทบแล้วจะยิ่งแก้ไขลำบาก
อย่างไรก็ตาม ปี 2570 ถ้าแนวเขตเสร็จสิ้นจะมีฐานข้อมูลที่ประชาชนสามารถใช้แอปพลิเคชั่น One Map Thai ไปตรวจสอบแนวเขตที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยการซื้อการลงทุนที่ดินได้