ชาระมิงค์ ท้ารบตลาดชาเย็น ปั้น TEE TO TEA บุกหัวเมืองหลัก-รุกธุรกิจน้ำแร่ KLAUD

Jakrin
จักริน วังวิวัฒน์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

กว่า 84 ปี “ชาระมิงค์” ผู้ปลูก และผลิตชาดำ (Black Tea) หรือชาพันธุ์อัสสัม ออร์แกนิก หนึ่งเดียวในโลก บนพื้นที่ป่าลุ่มน้ำ 1A ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ราว 3,000 ไร่ ซึ่งมีเป้าหมายการส่งออก 90% ไปสหรัฐอเมริกา และยุโรป

จากธุรกิจแบบดั้งเดิมคือ การขายใบชา เพื่อไปชงทำ “ชาร้อน” ซึ่งตลาดส่งออกโตในอัตราเฉลี่ยที่ไม่หวือหวาราว 3-4% ต่อปี เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ 
“ชาระมิงค์” ยืนหยัดมาถึงปัจจุบัน มองว่าหากทำธุรกิจแบบเดิมจะเติบโตยาก จึงต้องทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ก้าวรุกสู่ “ตลาดชาเย็น” เจาะดีมานด์ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการส่งแบรนด์ “TEE TO TEA” ร้านชาแบบ Stand Alone บุก 4 หัวเมืองหลัก และวาดแผน
ขยายแฟรนไชส์ในอนาคต

“จักริน วังวิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการทรานส์ฟอร์มธุรกิจครั้งสำคัญนี้

ปั้น TEE TO TEA รุกชาเย็น

จักรินบอกว่า โอกาสที่จะเติบโตในการทำธุรกิจชา ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business Transformation) โดยทรานส์ฟอร์มจากธุรกิจแบบดั้งเดิมคือ ชาร้อน สู่ชาเย็น (เครื่องดื่มชาแบบเย็น) ซึ่งปัจจุบัน Gen ของคนเริ่มเปลี่ยน เทรนด์ผู้บริโภคคนไทยในประเทศมีดีมานด์ของการดื่มชาเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะชาที่เป็นเครื่องดื่มเย็น ตลาดมีความคึกคักและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำร้านชา ภายใต้แบรนด์ “TEE TO TEA” ที่มุ่งเจาะตลาดชาเย็นและชาร้อนควบคู่กัน

TEE TO TEA

ADVERTISMENT

สำหรับธุรกิจชาในประเทศไทยค่อนข้างเล็กมากเมื่อเทียบกับกาแฟ ถ้าเราทำเครื่องดื่มร้อนขายคนไทยในประเทศร้อน การเติบโตค่อนข้างจะลำบาก ดังนั้นถ้าเราทำโรงงานผลิตชาแบบเดิม ส่งออกแบบเดิม ตลาดจะเติบโตค่อนข้างยาก

ทั้งนี้ พบว่าคนไทยดื่มกาแฟและชาในอัตราส่วน 10 : 1 กล่าวคือ ดื่มกาแฟ 9 ดื่มชา 1 แม้เป็นสัดส่วนที่ยังน้อยมาก แต่การทรานส์ฟอร์มสู่ตลาดชาเย็น คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในอนาคต และเป็นทางเลือกสำหรับคนไทยที่เริ่มหันมาบริโภคชามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัย

ADVERTISMENT

ประการสำคัญคือ เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ชาที่เป็นเครื่องดื่มเย็นจึงตอบโจทย์ และเรามุ่งหวังให้ “TEE TO TEA” เป็นแฟชั่นของคนชอบชา

TEE TO TEA

สำหรับร้านชา “TEE TO TEA” ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ลงทุนราว 20 ล้านบาท ตกแต่งสไตล์ “ล้านนาโคโลเนียล” (Lanna Colonial Style) คงลักษณะเด่นเฉพาะตัวที่ผสมผสานความงามของวัฒนธรรมตะวันตกกับความเป็นไทยล้านนาเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งตัวอาคารภายนอก และการดีไซน์ภายใน เป็นร้านชาแบบ Stand Alone ตั้งอยู่บนถนนวงแหวนอ้อมเมืองของอำเภอเชียงดาว

จักรินกล่าวต่อไปว่า TEE TO TEA เป็นการรวบรวมความโดดเด่นเรื่องชา ที่เรามีความเชี่ยวชาญ มีวิธีการเบลนด์ (Blend) ใบชาที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่าง ไม่ใส่สีหรือไม่ปรุงแต่งกลิ่น เป็นชาออร์แกนิกทั้งหมดที่ส่งตรงมาจากไร่ชาระมิงค์ ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

โดยเมนูชาเย็นมีไม่ต่ำกว่า 15 เมนู มีเมนู Signature อาทิ ชาเขียวมิกซ์กับกุหลาบและบีทรูต และกลิ่นจากสมุนไพรอื่น ๆ เบลนด์ออกมาเป็น Organic Green Tea & Botanicals ที่มีความเป็นธรรมชาติอย่างลงตัว

นอกจากนี้ ยังเพิ่ม Segment เมนูอาหารที่ทำจากใบชา ที่จะทำให้ร้านชา TEE TO TEA มีความแตกต่างจากร้านชาทั่วไป เสิร์ฟทั้งเมนูชาเย็น ชาร้อน และอาหารจากใบชา ซึ่งมีเมนูอาหารมากกว่า 20 เมนู

โดยเป็นเมนู Signature จากร้าน Raming Tea House Siam Celadon บนถนนท่าแพ ซึ่งเป็นร้านชาต้นตำรับในเครือชาระมิงค์ อาทิ ยำทูน่าใบชา ผัดไทยซอสชา ข้าวผัดกุ้งใบชา น้ำพริกลาหู่ ใบชาทอดกรอบและเต้าหู้ทอดจิ้มซอสชา แบรนด์รสระมิงค์ ซึ่งเป็นซอสชาที่ทำเองของเครือชาระมิงค์ ลูกค้ากลุ่มหลักคือ นักท่องเที่ยว คนในท้องถิ่นอำเภอเชียงดาว กลุ่มราชการ เป็นต้น

ทุ่ม 100 ล้านผุดสาขาภูเก็ต

จักรินบอกต่อไปว่า หลังลงทุนสร้างร้าน TEE TO TEA ที่อำเภอเชียงดาว ให้เป็นต้นแบบ (Prototype) มีแผนเตรียมขยายสาขาไปจังหวัดภูเก็ต ขอนแก่น กรุงเทพฯ โดยแผนการขยายสาขาจะขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป ประมาณปลายปี 2569 จะขยายการลงทุนไปภูเก็ตก่อน

โดยคาดว่าจะเปิดสาขาในเขตย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่มีสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ซึ่งมีความสอดคล้องกลมกลืนกับสไตล์ล้านนาโคโลเนียลของ TEE TO TEA หลังสงกรานต์ปีนี้จะเดินทางลงไปสำรวจพื้นที่ว่าจะเป็นลักษณะการเช่าที่ หรือซื้อที่ดินและสร้างร้านเอง โดยวางงบฯการลงทุนเบื้องต้นไว้ที่ราว 100 ล้านบาท

ภูเก็ตมีดีมานด์สูง มีกำลังซื้อสูงมาก ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะได้ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักท่องเที่ยวคนไทยและคนในท้องถิ่น และเตรียมขยายสาขาไปขอนแก่นและกรุงเทพฯ เป็นลำดับต่อไป ซึ่งทั้งขอนแก่นและกรุงเทพฯ อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดสาขาในเชียงใหม่เพิ่มอีก 1 สาขา อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะลงทุนในห้างเซ็นทรัลแอร์พอร์ตหรือไม่ในช่วงปลายปีนี้

นอกจากนี้ยังมีแผนระยะยาว ที่จะต่อยอดร้าน TEE TO TEA สู่ธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งคาดว่าจะมีความพร้อมภายใน 3 ปี โดยชาระมิงค์จะลงทุนสร้างแบรนด์ต้นแบบ TEE TO TEA ใน 4 หัวเมืองหลักให้แข็งแกร่งก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนแฟรนไชส์กับเรา สร้างความมั่นใจทั้งในเรื่องรสชาติของชา และโมเดลธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต เราไม่อยากให้ผู้ลงทุนสูญหายไปจากระบบ อยากให้ทำธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ระบบแฟรนไชส์ทำค่อนข้างยาก จึงต้องสร้าง TEE TO TEA ให้แข็งแกร่งก่อน

TEE TO TEA

บุกตลาดอเมริกา-แคนาดา

จักรินบอกว่า ชาระมิงค์ส่งออกชาดำเป็นหลัก เนื่องจากคนเอเชียไม่นิยมดื่มชาดำ แต่นิยมดื่มชาเขียวเป็นหลัก การทำชาดำของชาระมิงค์ ใช้เทคโนโลยีการทำชาดำ หรือ Black Tea แบบอังกฤษ (British Way) ส่งออก 90% ไปยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ขณะที่เป้าหมายของบริษัทคือ การทำ “ชาออร์แกนิก” 100% เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก ด้วยกระบวนการผสมผสาน (Blend) ชาดำแบบ British Way ประกอบกับการมีเรื่องราว (Story) ของการทำชาในพื้นที่ป่าภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ (Under-shade Tree) ในป่าอนุรักษ์ยาวนานถึง 84 ปี เป็น Black Tea ที่เดียวในประเทศไทย ที่มีพื้นที่ปลูกชาร่วม 3,000 ไร่

ปัจจุบันการส่งออกชาดำของชาระมิงค์ยังคงเติบโตเฉลี่ย 3-4% ต่อปี อัตราการเติบโตค่อนข้างน้อยและไม่หวือหวา มูลค่าการส่งออกต่อปีราว 100 ล้านบาท แต่ยังแสดงให้เห็นว่าตลาดชาดำยังคงมีดีมานด์และยังมีแนวโน้มที่ดี ขณะเดียวกันยังเป็น Core Business ที่เราต้องรักษาพื้นที่การปลูกชา 3,000 ไร่เอาไว้ ซึ่งมีลูกไร่ 200-300 คน เป็นการรักษาป่า และอาชีพที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของลูกไร่ทั้งหมดได้

ตอนนี้กำลังดูพื้นที่อำเภอฝางที่เป็นแหล่งปลูกชาแหล่งใหญ่ เป็นไร่ชาปลอดสาร โดยมีแผนรับซื้อผลผลิตชาเข้าสู่โรงงานที่อำเภอแม่แตงเพิ่มขึ้น หรือหากมีผลผลิตมากพอ ประมาณ 100,000-200,000 กิโลกรัมสดขึ้นไป จะไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตชาที่อำเภอฝางเพื่อการส่งออก คาดว่าอาจลงทุนราวปี 2569 เพื่อส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่มีดีมานด์เพิ่มมากขึ้น

TEE TO TEA

รุกธุรกิจน้ำแร่ KLAUD เจาะตลาดพรีเมี่ยม

บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด ผู้ปลูกและผลิตชาดำ (Black Tea) หรือชาพันธุ์อัสสัม ออร์แกนิก ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในปีนี้นอกจากการลงทุนทำ “ธุรกิจร้านชา” แห่งใหม่ ภายใต้แบรนด์ “TEE TO TEA” แล้ว บริษัทมีแผนแตกไลน์ไปสู่ “ธุรกิจน้ำแร่”

โดย “จักริน วังวิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด บอกว่า การทรานส์ฟอร์มของชาระมิงค์ เป็นการรุก 2 ธุรกิจพร้อมกัน คือ ร้านชา “TEE TO TEA” และธุรกิจน้ำแร่ “KLAUD” (คลาวด์) ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน 1 ไร่ เนื่องจากบริษัทมีแหล่งน้ำแร่ใหญ่จากดอยหลวงเชียงดาวอยู่ในพื้นที่ตั้งโรงงานแห่งนี้ ซึ่งได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดและรอบด้านถึงคุณสมบัติพิเศษของน้ำแร่ในบริเวณนี้

เป็นน้ำแร่จากดอยหลวงเชียงดาว โดยตรงผ่านชั้นหินปูนลงมาบริเวณจุดที่ตั้งโรงงาน ได้มีการสำรวจขุดลึกไปถึงชั้นใต้ดินความลึก 160 เมตร พบตาน้ำที่ผ่านหินปูนลงมาบริเวณนี้ จึงตัดสินใจสร้างโรงงานด้วยงบฯลงทุน 30 ล้านบาท ใช้กระบวนการกรองหลายชั้นที่ได้มาตรฐานสูง เป็นน้ำแร่ที่มีค่า pH 8.2 ซึ่งถือเป็นน้ำแร่บริสุทธิ์ มีความเป็นด่างที่มีประโยชน์และมีแร่ธาตุหลากหลายชนิดที่ดีต่อร่างกาย ถือเป็นแหล่งน้ำแร่คุณภาพดีที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศ

น้ำแร่

เริ่มเดินเครื่องการผลิตเดือนพฤศจิกายน 2567 กำลังการผลิต 3,500 ขวดต่อชั่วโมง หรือราว 28,000 ขวดต่อวัน ราคาขายปลีกขนาด 500 ml ราคาขวดละ 15 บาท ขนาด 1.5 ลิตร ราคาขวดละ 25 บาท เราทำน้ำแร่ที่มีคุณภาพสูง ไม่เน้นแข่งเรื่องราคา แต่ขายตามคุณภาพอย่างสมเหตุสมผล เจาะกลุ่มลูกค้าระดับ C+ ถึง B ขึ้นไป เน้นทำตลาด B2C (Business-to-Customer) โดยทำตลาดเองทั้งหมดสู่ผู้บริโภคโดยตรง

อาทิ กลุ่มบ้านพักอาศัย มหาวิทยาลัย ร้านกาแฟ โรงแรมบูติค โรงพยาบาล และกลุ่มลองสเตย์ชาวต่างชาติ ทำตลาดทั้งออนไลน์-ออฟไลน์และส่งสินค้าถึงหน้าบ้านลูกค้า

จักรินบอกต่อว่า การทำตลาดน้ำแร่ “KLAUD” วาง Position ทางการตลาดชัดเจน คือ เน้นตลาดพรีเมี่ยม เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อหากสินค้ามีคุณภาพสูง และเรามั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ของเรา โดยเน้นทำตลาดเชียงใหม่เป็นหลักก่อน พยายามเปิดตลาดให้กว้างและครอบคลุม และเตรียมขยายไปจังหวัดภาคเหนือตอนบนคือ ลำพูน ลำปาง ในเร็ว ๆ นี้

ส่วนในระยะยาวก็มองโอกาสที่จะทำตลาดในระดับประเทศอย่างกรุงเทพฯ รวมถึงภูเก็ต ซึ่งต้องวางแผนด้านโลจิสติกส์และการบริหารต้นทุนค่าขนส่งอย่างละเอียดให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด