
สนข.ชงผลศึกษา EV Bus 10 เส้นทาง แก้วิกฤตจราจรภูเก็ต กำหนดค่าบริการ 30 บาทตลอดสาย ตามแผนเริ่มให้บริการได้ปี 2570 พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ส่วนการลงทุนเป็นรัฐหรือเอกชนรอที่ปรึกษาสรุปผลเร็ว ๆ นี้
นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวในการสัมมนาเพื่อชี้แจง “ผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองหลักในภูมิภาค”ว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญ มีรายได้จากนักท่องเที่ยวสูงมากประมาณ 4-5 แสนล้านบาท แต่การเดินทางยังมีปัญหาระบบขนส่งสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการน้อย ที่ผ่านมามีแผนการศึกษาทั้งราง ล้อเหล็ก ล้อยาง
ตอนหลังงบประมาณปี 2563 มีการพิจารณาระบบอื่นที่ประหยัด คุ้มค่า และลดผลกระทบการเวนคืนประชาชน จึงมีการเสนอให้ทำ EV Bus หรือ Green Transport จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดูล้อเหล็กล้อยางเปรียบเทียบ ในส่วนกรมการขนส่งทางบกดูเรื่อง EV Bus
ซึ่งที่ผ่านมาที่ปรึกษาได้ลงมาศึกษาเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี เสนอว่าควรทำเป็นรถ EV Bus พร้อมกัน 10 เส้นทาง อาจจะทำให้เกิดการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ดีมากขึ้น ส่วนระยะยาวหากจะมีการสร้างรถไฟรางเบา หรือล้อยางขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงาน และจำนวนผู้โดยสาร ทั้งนี้ จึงต้องการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
โครงข่ายเส้นทางการให้บริการขนส่งสาธารณะในระบบ EV Bus เสนอไว้ทั้งสิ้น 10 เส้นทาง และ 775 ป้ายหยุดรถ รวมระยะทางโครงข่ายการให้บริการรวม 576 กิโลเมตร (ไปกลับ) ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการและประชากรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตามผังเมืองรวมฉบับปัจจุบัน การเข้าถึงป้ายหยุดรถ การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ 379,225 คน ในรัศมี 400 เมตร จากป้ายหยุดรถ 48.8% ประชากรในพื้นที่ศึกษาในพื้นที่ชุมชน 777,100 คน
เส้นทางที่ทำการศึกษารวม 10 เส้นทาง ได้แก่ สายที่ 1 ด่านตรวจท่าฉัตรไชย ถึงห้าแยกฉลองระยะทาง 112.9 กิโลเมตร รวม 147 ป้าย, สายที่ 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต ถึงราไวย์ ระยะทาง 94 กิโลเมตร รวม178 ป้าย, สายที่ 3 หาดบางเทา ถึงสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต ระยะทาง 68.9 กิโลเมตร รวม 148 ป้าย, สายที่ 4 ท่าอากาศยานภูเก็ต ถึงราไวย์ 2 ระยะทาง 118.8 กิโลเมตร รวม 170 ป้าย, สายที่ 5 ท่าเรือรัษฎา ถึงท่าเทียบเรือเอเชียมารีน่า ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร รวม 71 ป้าย, สายที่ 6 รอบเมือง 1 ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร รวม 17 ป้าย
สายที่ 7 สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดภูเก็ตแห่งที่ 2 ถึงรอบเมือง ระยะทาง 17.6 กิโลเมตร รวม 49 ป้าย, สายที่ 8 รอบเมือง 2 มิวเซียมภูเก็ต ถึงตลาดนัดชิลล์วา ถึง บขส. 2 ถึงกิ่งแก้ว ระยะทาง 35.8 กิโลเมตร รวม 70 ป้าย, สายที่ 9 รอบเมืองป่าตอง ระยะทาง 6.9 กิโลเมตร รวม 18 ป้าย และสายที่ 10 มิวเซียมภูเก็ต-ป่าตอง ระยะทาง 89 กิโลเมตร รวม 89 ป้าย
โดยกำหนดค่าบริการเบื้องต้น 30 บาท ตลอดสาย จะเน้นบริการรถที่มีคุณภาพ ตามแผนจะเริ่มในปี 2570 ซึ่งต้องหารือกับกรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งใน 10 สายทาง กำหนดออกให้บริการทุก 10-15 นาที ประมาณ 775 ป้ายรถเมล์ ส่วนจำนวนรถที่มีการศึกษาไว้อาจจะแบ่งเป็นสาย ๆ แตกต่างกัน
“อยากให้ท้องถิ่น หรือ อบจ. เป็นผู้ดูแล ในเรื่องสายทางและ Operate การวิ่งรถ ซึ่งจะต้องดูความพร้อมอีกครั้งหนึ่ง ส่วนผู้ประกอบการ รายเดิม หรือรายใหม่ หรือ อบจ. เป็นผู้บริหารจัดการในเส้นทางที่ศึกษาไว้ 10 เส้นทาง ซึ่งมูลค่าการลงทุน อาจจะต้องเป็นรัฐช่วยดูแลบางส่วน ทางที่ปรึกษากำลังจะสรุปในเร็ว ๆ นี้”
สำหรับแผนพัฒนาขนส่งสาธารณะจังหวัดภูเก็ต ในระยะถัดไป ในปี 2568-2570 แบ่งเป็น 2 เฟส ได้แก่ (1) เปิดให้บริการรถไฟรางเบา (Light Rail Transit : LRT) ระยะที่ 1 ท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ปี 2571-2580 (2) เปิดให้บริการ LRT ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต-ท่านุ่น ปี 2571-2580