
วช.ผนึก มช.ดึง Big Data แก้ PM 2.5 เชียงใหม่ ผุด Buffer Zone โมเดลอุทยานดอยสุเทพ-ปุย พร้อมเร่งวิจัยเชิงลึก สาเหตุพบเกิดไฟอยู่ในป่า 80% เกิดจากสาเหตุใด
ดร.สมพร จันทระ ผู้อำนวยการแผนงานการลดไฟป่า : กรณีศึกษาอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ และหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แผนงานการลดไฟในป่ากรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจแก้ปัญหา นโยบายและการสื่อสารเชิงรุก ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นการบูรณาการการเชื่อมโยงการวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย 7 โครงการย่อย ครอบคลุม 3 มิติ คือ 1.มิติการลดไฟในภาคป่าไม้ 2.มิติการเชื่อมโยงระบบข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจแก้ปัญหา
และ 3.มิตินโยบายและการสื่อสารเชิงรุก โดยจะมีการศึกษาวิจัยเชิงลึกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบการแก้ปัญหาในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป สถานการณ์การเผาในปัจจุบันพบว่า พื้นที่การเกิดไฟอยู่ในป่ามากถึง 80% การวิจัยให้น้ำหนักข้อมูลเชิงลึกว่า การเผาที่เกิดในป่านั้นเกิดจากสาเหตุใดเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการทำการเกษตรในพื้นที่ป่าหรือไม่
ขณะที่ปัญหาฝุ่นควันในประเทศและข้ามแดนที่มีสาเหตุจากการเผาในพื้นที่เกษตรที่กลุ่มทุนข้ามชาติของไทยเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นประเด็นเชิงนโยบายของรัฐบาลต้องมีมาตรการจริงจังร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านดูแลและตรวจสอบสินค้าที่จะนำเข้าต้องรายงานเส้นทางการรับซื้อสินค้าว่ามาจากพื้นที่การเผาหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ต้องมีมาตรการตรวจสอบย้อนกลับทั้ง 2 ฝ่าย และสามารถตรวจสอบได้อย่างถูกต้องชัดเจน