มช. ผนึก บ.ดับบลิวทีเอช รุก “มหาวิทยาลัย AI” หนุนสตาร์ตอัพแข่งตลาดโลก

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือดับบลิวทีเอช โฮลดิงส์ ปั้น “มหาวิทยาลัย AI” ด้วยหลักสูตรตรี-โท-เอก แห่งแรกในภาคเหนือ พร้อมจัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการและนักลงทุนที่สนใจเทคโนโลยี AI ให้สตาร์ตอัพเติบโตในตลาดโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท ดับบลิวทีเอช โฮลดิงส์ จำกัด เปิดตัว “มหาวิทยาลัย AI” ศูนย์กลางนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์แห่งอนาคต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ศูนย์กลางการเรียนรู้ วิจัย และนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แห่งแรกในภาคเหนือของประเทศไทย

นายวิชัย ทองแตง ประธานมูลนิธิหนึ่งน้ำใจ One Love Foundation (The Godfather of Startup) และกรรมการ บริษัท ดับบลิวทีเอช โฮลดิงส์ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ Future-Oriented Academia-Industry Network (FAIN) ระหว่างบริษัท ดับบลิวทีเอช โฮลดิงส์ จำกัด กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างภาควิชาการและภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและขยายธุรกิจนวัตกรรมในอนาคต

สำหรับแผนงานในปี 2568 ยังคงเดินหน้าความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายสำคัญคือ การผลักดัน “มหาวิทยาลัย AI” แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ วิจัย และนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แห่งแรกในภาคเหนือของประเทศไทย และถือเป็น Center ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ โดยมุ่งสร้างคนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อป้อนสู่ตลาดปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับต้น ๆ ของประเทศ และเป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ

ความร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับภูมิภาค และเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะ AI เป็นเรื่องที่มาเร็วและแรงมาก จึงต้องวางแผนรองรับให้เร็วที่สุด ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างบนโลกใบนี้

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัย AI” ศูนย์กลางนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์แห่งอนาคต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ วิจัย และนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แห่งแรกในภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการสร้างคนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI พัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้พร้อมรับมือกับโลกยุคดิจิทัล และเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้และนวัตกรรมที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ นักศึกษา รวมไปถึงประชาชนผู้สนใจทั่วไป

ADVERTISMENT

ภายในมหาวิทยาลัย AI จะมีหลักสูตรที่ครอบคลุมทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยเน้นการพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ วิทยาการข้อมูล (Data Science) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเช่น เอไอ เอเยนต์ (AI Agent) นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษาที่เอา AI ไปประยุกต์ใช้ในสาขาของตนเอง

เช่น เรียนคณะเภสัชศาสตร์ แต่สนใจที่นำ AI ไปใช้ในการทำงาน ก็สามารถลงทะเบียนเรียนวิชาโท AI ได้ หรือนักศึกษาทั่วไปก็สามารถลงทะเบียนกระบวนวิชาที่เกี่ยวกับ AI ได้ และขยายสู่สังคมภายนอกในหลักสูตร Lifelong Education หรือการศึกษาตลอดชีวิต ก็สามารถนำ AI ไปใช้ประโยชน์ได้ในการทำงาน

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงรวมถึงการจัดอบรมและสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักศึกษา นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก นักศึกษาจะได้รับโอกาสทำงานร่วมกับทีมวิจัยที่มีชื่อเสียงและมีโอกาสเข้าร่วมโครงการฝึกงานในบริษัทชั้นนำ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์จริงและเตรียมความพร้อมสู่โลกแห่งการทำงาน

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัย AI ยังมุ่งเน้นการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการเรียนการสอน การวิจัย การบริหารจัดการ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนการพัฒนาบริษัทสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยี AI ซึ่งจะช่วยสร้างระบบนิเวศของนวัตกรรมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน AI ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังได้จัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการและนักลงทุนที่มีความสนใจในเทคโนโลยี AI เพื่อสร้างโอกาสในการระดมทุนและการขยายธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทสตาร์ตอัพสามารถเติบโตและแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดโครงการที่มีการบูรณาการ เทคโนโลยี AI ในการแก้ปัญหาสังคม เช่น การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพด้วย AI การปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการพลังงาน และการส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น

การพัฒนาเทคโนโลยี AI เป้าหมายเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจจริง ความร่วมมือนี้ครอบคลุมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และการวิจัยร่วมกันเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและสังคม โครงการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาทางเทคโนโลยี แต่ยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และทั่วประเทศ

ดังนั้น การทำงานภายใต้ความร่วมมือกับดับบลิวทีเอช โฮลดิงส์ ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถของ CMU AI ให้ขยายผลออกไปสู่ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาภายในภาคเหนือ ระดับประเทศ และต่างประเทศที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อให้ก้าวทันยุค AI ในอนาคต