
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
อุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปาง ฐานการผลิตสินค้าเซรามิกส่งออกแหล่งใหญ่ของประเทศไทย เป็นอีกภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ ลึกจากพื้นดินราว 10 กิโลเมตร มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้ภาพรวมทั้งระบบของอุตสาหกรรมเซรามิกในขณะนี้ ต้องหยุดเดินเครื่องการผลิต ชะลอการส่งออกสินค้า มูลค่าความเสียหายราว 40-50 ล้านบาท
“กิติศักดิ์ สินวนาทรัพย์” ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลำปางศิลปนคร จำกัด ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลกระทบที่อุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางได้รับจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้

40 โรงงาน เสียหายหนักรอบ 30 ปี
กิติศักดิ์บอกว่า ผลกระทบครั้งนี้ถือว่าหนักมากในรอบ 30 ปี จากการสำรวจความเสียหายและผลกระทบในเบื้องต้นพบว่า มีโรงงานเซรามิกทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ของจังหวัดลำปาง ได้รับผลกระทบทั้งหมดราว 40 แห่ง แบ่งเป็นขนาดเล็กและขนาดกลาง 30 แห่ง และขนาดใหญ่ราว 10 แห่ง ทุกโรงงานได้รับผลกระทบอย่างมาก มูลค่าความเสียหายราว 40-50 ล้านบาท
เหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว และไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน ระหว่างการผลิตทุกคนในโรงงานต้องวิ่งหนีตาย สุดท้ายเหลือไว้เพียงเศษซากสินค้าเซรามิกที่แตกกระจายเกลื่อนพื้น เตาเผาที่อยู่ระหว่างการเผาเซรามิกได้รับความเสียหายทั้งหมด ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของบริษัท ลำปางศิลปนคร เกิดความเสียหายราว 5-6 ล้านบาท จำเป็นต้องหยุดเดินเครื่องเตาเผา ไม่เช่นนั้นแก๊สจะรั่วไหล จะอันตรายและจะเผาไหม้หมดทั้งโรงงาน ขณะที่สินค้าที่อยู่ระหว่างกระบวนการผลิตที่ต้องขึ้นรูปก็เกิดความเสียหายทั้งหมดเช่นกัน
เตาที่เราใช้เป็นเตาเผาเซรามิกแบบโรลเลอร์ (Roller Kiln) เป็นลูกกลิ้งหมุน เดินเครื่องการผลิต 24 ชั่วโมง ตอนนี้ต้องหยุดการผลิตทั้งหมดประมาณอีก 1 สัปดาห์ เพื่อให้อุณหภูมิจาก 800-1,000 องศาเซลเซียสกลายเป็นศูนย์ จำเป็นต้องระบายความร้อนออกจากเตาก่อน จึงจะสามารถเข้าไปสำรวจความเสียหายได้
หากเข้าไปตอนนี้ก็เหมือนเข้าไปในกองเพลิง ส่วนสินค้าที่อยู่ในสต๊อกสำหรับพร้อมขายและพร้อมส่งออกก็เสียหายทั้งหมด ไม่เหลือเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
สำหรับโรงงานขนาดเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ใช้เตาเผาแบบ Shuttle Kiln คือ เตาเปิด-ปิด จากการสำรวจพบว่า ของที่อยู่ในเตาเสียหายทั้งหมด และเซรามิกที่อยู่ระหว่างเตรียมจะเข้าเตาเผาก็เสียหายทั้งหมดเช่นกัน
กิติศักดิ์บอกต่อว่า หัวใจสำคัญในการผลิตเซรามิกคือ เตาเผา เมื่อเตาระบายความร้อนออกหมดแล้ว จึงจะสามารถเข้าไปสำรวจเตาว่าได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และต้องมีการซ่อมบำรุง ทดลองระบบ ซึ่งคาดว่าต้องหยุดการผลิตราว 2 เดือน
เลื่อนส่งออกหวั่นถูกปรับ
ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้สั่งให้หน่วยงานราชการในพื้นที่ ได้แก่ โยธาธิการและผังเมือง สำรวจความเสียหายของโรงงานเซรามิกทุกแห่ง ว่าโครงสร้างเสียหายหรือมีรอยร้าวหรือไม่ จะเปิดดำเนินการต่อได้หรือไม่ โดยจะมีการทยอยเข้าตรวจสอบทั้ง 40 กว่าโรงงาน ซึ่งจำนวนเจ้าหน้าที่มีไม่มาก นอกจากนี้ สวัสดิการคุ้มครองแรงงานก็จะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องสวัสดิภาพของแรงงานด้วย
ประเด็นที่น่ากังวลคือ หลายโรงงานส่งออกสินค้าไม่ได้ เพราะสินค้าเสียหาย ไม่สามารถโหลดของได้ตาม LC ที่ทำไว้กับลูกค้าในต่างประเทศ ต้องมีการเจรจากับลูกค้าถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ โดยขอเลื่อนระยะเวลาในการส่งมอบสินค้าออกไป
ถ้าส่งออกไม่ได้ เงินก็ไม่ได้ และโดนปรับด้วย ทั้งระบบเสียหายหมด ดังนั้นเป็นโจทย์ของอุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางในขณะนี้ ที่ต้องแก้ไขและได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
สินค้าจีนตีตลาดหนัก
กิติศักดิ์บอกว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปาง ก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสินค้าเซรามิกจีนที่เข้ามาตีตลาดอย่างต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา สินค้าจากจีนเข้ามาประเทศไทยอย่างง่ายดาย แม้มาตรการของรัฐที่มีอยู่คือ ถ้าประเทศใดนำเซรามิกเข้ามาต้องเสียภาษีตามกฎหมายของเรา โดยเฉพาะสินค้าสำเร็จรูปจะต้องเสียภาษี 30%
นอกจากนี้ ไทยยังมีมาตรการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนนำเข้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรการที่มีอยู่เลย เพราะสินค้าเซรามิกจีนไหลเข้ามาตามช่องทาง และมาตรการรัฐดูแลไม่ทั่วถึง
ขณะที่ผู้บริโภคไม่รู้ว่าสินค้าจีนไม่ได้คุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน เพราะเห็นว่าราคาถูกกว่าก็ซื้อ ซึ่งประเทศไทยควรกลับมารณรงค์เรื่อง เมดอินไทยแลนด์ อีกครั้งหนึ่ง
“สินค้าประเภทจาน ชามราคาถูกจากจีน แตกง่าย ไม่มีคุณภาพ เซรามิกจีนคุณภาพต่ำกว่าของไทยมาก เอาราคาเป็นตัวนำ แต่พอมาตรวจมาตรฐานคุณภาพสินค้าที่บ้านเรากลับผ่าน”
ประเด็นที่อยากเรียกร้องรัฐบาลคือ อยากให้ออกมาตรการที่เป็นเหมือนเขื่อนกั้นให้สินค้าเซรามิกจีนเข้ามาได้น้อย ได้ช้ากว่านี้ ต้องมีขั้นตอนควบคุมการนำเข้าสินค้าที่เข้มงวดและเข้มข้นกว่านี้ แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่มีมาตรการปิดกั้นอะไรเลย เพราะสินค้าไหลเข้ามาจำนวนมาก Temu (เทมู) คือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีน ที่ตีหัวเข้าบ้านไม่มีออฟฟิศในมืองไทย โลจิสติกส์ไม่ได้จ้างในเมืองไทย ระบบที่ใช้คือ เมื่อมีการสั่งสินค้า เงินก็ไหลกลับไปที่เมืองจีนทันที
นอกจากนี้ มาตรการของสรรพากร อะไรที่เข้ามาและกระทบกับสินค้าที่ผลิตในประเทศก็ไม่ควรปล่อยให้เข้ามาง่าย ๆ แม้เป็นการค้าเสรี แต่รัฐควรมีมาตรการตรวจสอบคุณภาพสินค้าอย่างเข้มข้น เมื่อจีนเจอมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping) เรื่องภาษี ขายให้สหรัฐอเมริกาไม่ได้ จีนก็เปลี่ยนมาที่ตลาดอาเซียนแทน และประเทศไทยคือ ตลาดเป้าหมายหลักของจีน
เซรามิกจีนไหลบ่าเข้ามาอย่างหนัก ซึ่งในข้อเท็จจริงถ้าสินค้ากลุ่มนี้เข้ามาโดยตรงจะเสียภาษีเฉพาะอย่างน้อย 30% แต่กลับเสียภาษีเหมาจ่ายคือ 15% ซึ่งมาตรการของหน่วยงานรัฐของไทยเอื้อให้สินค้าจีนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งศุลกากรควรมีการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าจากจีนโดยละเอียด แต่ละประเภทควรต้องเสียภาษีตามพิกัดที่กำหนด ไทยเสียเปรียบอย่างมากในธุรกิจนี้
ประเด็นสำคัญ รัฐต้องกำกับดูแลมาตรการนำเข้าสินค้าจากจีนให้เข้มข้นมากกว่านี้ โดยเจ้าหน้าที่ 3 กระทรวง คือ 1.กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลโรงงาน 2.กระทรวงพาณิชย์ ดูแลการค้า 3.กรมสรรพากร ดูแลภาษี และสินค้าที่จะเข้ามาต้องมีหน่วยงานรัฐในการตรวจสอบว่ามาตรฐานผ่านหรือไม่
ผลกระทบสินค้าเซรามิกแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (Tableware) ได้แก่ จาน ชาม ถ้วย แก้วกาแฟ เป็นต้น ได้รับผลกระทบหนักสุด ส่วนที่เป็นสินค้าของตกแต่งบ้านไม่กระทบมากนัก เพราะมูลค่าสูง ซึ่งคนซื้อน้อยอยู่แล้ว
กิติศักดิ์บอกต่อว่า ต้องทบทวนนโยบายทางการค้า และมาตรฐานสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศว่ากระทบกับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยหรือไม่ ถ้าเอามาสู้กันบนโต๊ะจริง ๆ หากไม่มีทุนจีนสีเทา เราสู้ได้ไม่มีปัญหา ถ้าเข้ามาแล้วเสียภาษี 30% เราสู้ได้แน่นอน แต่ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู้ไม่ได้ ต้นทุนสู้ไม่ได้