
รายงาน
สัญญาณฤดูไฟป่าฝุ่นควันของภาคเหนือปะทุขึ้นช่วงกลางเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมย้อนหลังค่าเฉลี่ย 5 ปี และเป็นเช่นนี้มากกว่า 2 ทศวรรษ จึงทำให้กลายเป็นฤดูแห่งการเผาของภาคเหนือที่ปัญหามีความซับซ้อนฝังรากลึกในหลายมิติ และดูเหมือนว่าจุดความร้อนสะสมในปีนี้ไม่มีวี่แววที่จะลดลง ตัวเลขสะสมพุ่งถึง 48,800 จุด และใกล้แซงตัวเลขในปี 2567 ที่ผ่านมา
โดยพื้นที่ที่มีจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับ ยังเป็นจังหวัดตาก ลำปาง แม่ฮ่องสอน สอดคล้องกับค่าอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤต โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีค่าฝุ่นพุ่งถึง 216.12 มคก./ลบ.ม. อยู่ระดับสีแดงติดต่อกันถึง 12 วัน และบางพื้นที่ค่าไต่ถึง 700 มคก./ลบ.ม. อันตรายสูงสุด
และมีจังหวัดที่อยู่ในระดับสีแดงต่อเนื่อง คือ เชียงใหม่ 6 วัน เชียงราย 9 วัน น่าน 11 วัน และแม่ฮ่องสอน สูงสุดถึง 12 วัน และไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงในช่วงสัปดาห์ต่อไป เนื่องจากตัวเลขไฟป่าลุกลามหนัก
โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าด้านตะวันตก ที่มีจุดความร้อนกว่า 7,000 จุด ในวันเดียว ซึ่งจังหวัดในชายขอบตั้งแต่จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน แนวชายแดนแม่น้ำสาละวิน ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เผาป่าจำนวนมาก และขยายไปทั่วบริเวณชายแดนไทย-พม่าตั้งแต่แม่สายลงไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมการใช้ไฟที่ทำเป็นฤดูกาลต่อเนื่อง
สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ได้รายงานสถานการณ์และคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในอีกหนึ่งสัปดาห์หลังจากนี้ว่า จากข้อมูลสถิติย้อนหลังจะเห็นว่าจำนวนที่ค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการเฝ้าระวังพร้อมกับเตรียมความพร้อมในการรับมือตามแผนการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนอย่างเข้มข้น
สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์ในช่วงถัดไป ตั้งแต่ห้วงวันที่ 4-9 เมษายน 2568 คาดว่าอัตราการระบายอากาศเริ่มน้อยลง อาจส่งผลกระทบให้ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่สามารถระบายตัวออกไปได้ ประกอบกับทิศทางลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงนั้น พัดฝุ่นจากพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและประเทศเพื่อนบ้านมาสมทบในช่วงนั้นด้วย อาจส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่มีค่าคุณภาพอากาศสูงเกินมาตรฐานตลอดทั้งสัปดาห์