เชียงรายดันตั้งรง.แปรรูปสินค้าเกษตร

ผู้ว่าฯเชียงรายดันตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่า พร้อมวอนเอกชน-นักวิชาการ-เอ็นจีโอ ปรับหาจุดลงตัวร่วมกันเรื่องที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ไม่ใช่ไปคนละทาง

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายยังคงมีอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของ จ.เชียงราย คือราคาที่ดินที่พุ่งสูง ผังเมืองหรือการกำหนดพื้นที่ไม่เหมาะสม ทำให้การพัฒนาหรือการสร้างโรงงานที่ใช้เครื่องจักรมากกว่า 5 แรงม้าแทบไม่ได้เลย เช่น กรณียางพาราไม่สามารถตั้งโรงงานแปรรูปได้ ต้องส่งออกไปขายจีน หรือภาคใต้ ทำให้ขายได้ราคาต่ำ นอกจากนี้ แรงงานในพื้นที่ถือบัตรหลากหลายมาก ทำให้ผู้ประกอบการแทบไม่กล้าจ้างงาน อุปสรรคเรื่องภาษาที่ต้องสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ ดังนั้นจึงขอให้ภาคเอกชน นักวิชาการ นักอนุรักษ์ ฯลฯ ได้ร่วมกันอุดช่องว่างของอุปสรรคต่าง ๆ ดังกล่าวร่วมกัน ไม่ใช่ไปคนละทางหรือไม่ยอมกัน แต่ควรปรับเข้าหากันเพื่อให้ได้จุดลงตัวมากกว่า ซึ่งหากทำได้จะทำให้เศรษฐกิจของเชียงรายก้าวหน้าต่อไป

“จากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนขึ้นมา ทาง จ.เชียงราย ได้รับเลือกให้จัดตั้งระยะที่ 2 ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ปัจจุบันเชียงรายมีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีพีพี 99,827 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 26 ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ย 86,884 บาทต่อคนต่อปี มีเศรษฐกิจสำคัญจากภาคการเกษตรคิดเป็น 65% และนอกภาคเกษตรคิดเป็น 35% ของเศรษฐกิจทั้งหมด จังหวัดจึงส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่ให้ราคาสูงกว่าเพื่อให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 40% ให้ได้ต่อไป ส่วนการค้าชายแดนนั้นถือว่ามีมูลค่าการค้ามหาศาลอยู่แล้ว และภาคการท่องเที่ยวพบว่ายังมีความแตกต่างระหว่างฤดูท่องเที่ยวและฤดูฝน จังหวัดจึงร่วมกับภาคเอกชนและเครือข่ายประชาชนส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ท่องเที่ยวทางศิลปะ วัฒนธรรม ชุมชน ฯลฯ เพื่อลดช่องว่างดังกล่าว”

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว นักอนุรักษ์จากกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองเชียงรายมุ่งเน้นรองรับความต้องการของกลุ่มทุนที่จะเข้ามาลงทุนเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่มทุนจีน ซึ่งตนไม่ได้ต่อต้าน แต่เห็นว่าควรใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาให้เกิดความสมดุล โดยใช้ความต้องการของภาคประชาคมเป็นหลัก หรือเอาเป็นตัวตั้งแล้วให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาร่วมเพื่อรับผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ไปตามใจกลุ่มทุนหมดก็จะเกิดความเสียหาย เช่น การที่เคยจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ อ.เชียงของ ก็ถูกชาวบ้านคัดค้านเพราะสถานที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น แต่หากนำภาคประชาคมเป็นตัวตั้ง เช่น พื้นที่ต้องการศึกษาและวิจัยพืชพันธุ์ประเทศไทยก็ตั้งมหาวิทยาลัยสมุนไพรอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ อ.เชียงของได้ เพราะภูมิภาคนี้อุดสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ที่สามารถพัฒนาเป็นสมุนไพรได้อยู่แล้ว ส่วนประเทศจีนมีความสนใจและต้องการพัฒนาในเรื่องนี้ด้วย ดังนั้นหากมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัย กลุ่มทุนจีนเข้าร่วมจะได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายต่อไป

อนึ่ง จังหวัดเชียงรายยังมีปัญหาเรื่องการจัดหาสถานที่จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เนื่องจากพื้นที่ 21 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ล้วนมีปัญหาแตกต่างกันไป ทำให้แต่ละพื้นที่มีกลุ่มชาวบ้าน และกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอและเครือข่ายชาวบ้านต่อต้านมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องสถานที่จัดตั้ง