ปธ.หอโคราชคนใหม่ รุกกระตุ้นเศรษฐกิจ 32 อำเภอดันจีดีพีโต

Paitchit
ไพจิตร มานะศิลป์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ไพจิตร มานะศิลป์ หรือ “บู้” ก้าวขึ้นรับไม้ต่อประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา หลังจากเป็นรองประธาน และกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา มาแล้วกว่า 16 ปี 8 สมัย พร้อมประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน “เราจะทำให้โคราชกลับมาคึกคักทั้ง 32 อำเภอ” “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ถึงนโยบายการเตรียมขับเคลื่อนโคราชสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอีสานใต้

รุกเสริมแกร่งสมาชิก

ในส่วนองค์กรหอการค้ามีนโยบายเสริมความแข็งแกร่งให้สมาชิกผู้ประกอบการ จะทำการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การเสริมเขี้ยวเล็บด้วยการจัดอบรมโดยจะเชิญวิทยากรชื่อดังระดับประเทศมาให้ความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับสมาชิก หาช่องทางการตลาด

และกระตุ้นให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กว่า 100 รายการ ร่วมกับเครือข่ายหอการค้าทั่วประเทศสามารถใช้ส่วนลดกับร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก และขณะเดียวกันจะให้คำแนะนำปรึกษาแก่สมาชิกที่ประสบปัญหาต่าง ๆ การช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้เดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ และมีความพร้อมที่จะสู้กับเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน

เร่งกระตุ้น ศก. 32 อำเภอ

สำหรับการแก้ปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาที่ซบเซา จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 32 อำเภอ ผ่านการยกระดับสินค้าชุมชนและท่องเที่ยว เริ่มจากการพัฒนาเศรษฐกิจภายในเมือง ซึ่งเศรษฐกิจค่อนข้างเงียบเหงา ภายใน 2 ปีนี้เราจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาให้เกิดความคึกคัก จะไม่กระตุ้นเฉพาะในอำเภอเมืองเท่านั้น จึงต้องมีการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ของแต่ละอำเภอ ให้มีจุดเด่น ให้ทีมนักพัฒนาและออกแบบเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชูจุดเด่นสินค้าของแต่ละอำเภอออกมาให้คนรู้จักและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อไป

ขณะเดียวกันเร่งเครื่องโครงการขนาดใหญ่รองรับการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน “มหกรรมพืชสวนโลก 2029” โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 7 ฝ่าย มีรองประธานหอการค้ากำกับดูแลทั้ง 7 ฝ่าย เพื่อให้การขับเคลื่อนงานได้รวดเร็วมากขึ้น ได้แก่ 1.ฝ่ายเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน 2.ฝ่ายกิจกรรมภาครัฐและเอกชน 3.ฝ่ายบริหารและสื่อสารองค์กร 4.ฝ่ายท่องเที่ยวและกิจกรรมพิเศษ 5.ฝ่ายสมาชิกและสิทธิประโยชน์ 6.ฝ่ายวิชาการ และ 7.ฝ่ายเกษตร โดยเป้าหมายเราชัดเจน คือเพิ่ม GPP โคราชให้โต 3-5% ต่อปี และดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาให้ได้มากที่สุด

ดัน 5 ยุทธศาสตร์เด่น

สำหรับ 5 ยุทธศาสตร์เด่น “หอการค้าโคราช” ยุคใหม่ ได้แก่ 1.Korat First : ซื้อของคนโคราช สร้างวงจรเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยการรณรงค์ให้คนโคราชอุดหนุนสินค้าท้องถิ่น หันมาซื้อสินค้าของคนโคราชกันเอง พร้อมจับมือ 4 มหาวิทยาลัยพัฒนานวัตกรรมสินค้า โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมฟื้นชีวิตย่านเมืองเก่า, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานสนับสนุนเรื่องระบบขนส่งมวลชนและผังเมือง และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลสนับสนุนศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ

ADVERTISMENT

2.ฟื้นเศรษฐกิจเมือง-อำเภอ คู่ขนาน โดยในเมืองตั้งเป้าที่จะปลุกย่านการค้าเดิมด้วยกิจกรรมไนต์มาร์เก็ต ซึ่งมีศักยภาพอยู่หลายพื้นที่ สามารถทำให้กลับมาคึกคักมีชีวิตอีกครั้ง และส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนในตัวเมือง เพื่อรองรับโครงการขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ส่วนพื้นที่ต่างอำเภอเร่งออกแบบการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ให้มากขึ้น ชูสินค้าจุดเด่นแต่ละพื้นที่ให้ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาให้ได้มากที่สุด เช่น ผ้าไหมปักธงชัย ไวน์ผลไม้พิมาย เป็นต้น

3.ระเบิดเมกะโปรเจ็กต์ก่อนปี 2029 เร่งผลักดันโครงการสำคัญให้ทันการจัดงาน “มหกรรมพืชสวนโลก 2029” ซึ่งคาดการณ์จะมีเงินสะพัดมากกว่า 20,000 ล้านบาท เช่น โครงการผันน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มูลค่า 4,000 ล้านบาท ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.สัญจร ระยะเวลา 5 ปี (2565-2569) แบ่งเป็น 3 ช่วง 1) ระบบท่อผันน้ำจากอ่างป่าสักชลสิทธิ์ไปอ่างมวกเหล็ก มีความยาว 9.90 กม.

ADVERTISMENT

2) ระบบท่อผันน้ำจากอ่างมวกเหล็กถึงบ่อพักน้ำบ้านซับขอน มีความยาว 4.80 กม. และ 3) บ่อพักน้ำบ้านซับขอน (Head Tank) อุโมงค์ผันน้ำบ้านซับขอน-อ่างลำตะคอง มีความยาว 24.80 กม. แต่โครงการยังไม่มีความคืบหน้า หากโครงการนี้สร้างเสร็จจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำระยะยาว จะมีน้ำมาหล่อเลี้ยงจังหวัดนครราชสีมาได้ตลอดทั้งปี

ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม จัดสรรน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำมูลกรณีฉุกเฉินจำเป็น เช่น ภาวะภัยแล้ง ซึ่งหอการค้าเตรียมผลักดันโครงการนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมา (กรอ.จังหวัด) ภายในเดือนนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยด่วน

-โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-โคราช), โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ทั้ง 3 โครงการนี้ หอการค้ามีความตั้งใจที่จะเร่งติดตามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในปี 2571 เพื่อจะได้รองรับการเดินทางเข้ามาชมงานมหกรรมพืชสวนโลกในปี 2572

ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 4 ล้านคน ก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 18,942 ล้านบาท เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 9,163 ล้านบาท รายได้จากการจัดเก็บภาษี 3,429 ล้านบาท และสร้างงาน 36,003 อัตรา

-โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ จังหวัดนครราชสีมาได้รับการประกาศเป็นเมืองไมซ์ (MICE City) มีผลตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 ซึ่งจะต้องมีการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับความเป็นเมืองไมซ์จากระดับภูมิภาคสู่ระดับประเทศ และนานาชาติ โดยต้องมีการยกระดับมาตรฐานการประชุม การพัฒนาสินค้า และการบริการงานไมซ์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ จึงควรมีการสร้าง “ศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่”

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับความเป็นเมืองไมซ์ ล่าสุดได้มีการเสนอพื้นที่ที่เหมาะสม หากคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองพื้นที่รองรับการสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการจังหวัดนครราชสีมาได้แล้ว ก็จะนำเสนอ ครม.เพื่อของบประมาณในการก่อสร้างต่อไป อาจจะต้องใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี จะแล้วเสร็จสามารถเปิดให้มีการจัดกิจกรรมการประชุม หรือแสดงสินค้า หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย

โครงการพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์โลก มูลค่า 194 ล้านบาท โครงการนี้เคยนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยนำเสนอในนามหอการค้ากลุ่มนครชัยบุรินทร์ หลังจากนั้นได้มีการนำโครงการมาปรับแบบ รวมทั้งตัวโครงการ และได้มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจหลายครั้ง ซึ่งยังไม่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง สำหรับพื้นที่โครงการ 18 ไร่ อยู่บริเวณแหล่งฟอสซิลริมแม่น้ำมูลของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีการค้นพบช้างดึกดำบรรพ์จำนวน 10 สกุล จาก 55 สกุลที่พบทั่วโลก เป็นการค้นพบที่มากที่สุดในโลก สร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวระดับโลก

หากสามารถทำการก่อสร้างได้จะทำให้รองรับนักท่องเที่ยวจากทั้งไทยและต่างชาติ สร้างกิจกรรมร่วมกับชุมชนและเครือข่ายในและต่างประเทศสามารถใช้รองรับการตรวจประเมินซ้ำในทุก 4 ปีของโครงการจีโอพาร์คโลก ยูเนสโก สร้างความเชื่อมโยงเส้นทางช้างดึกดำบรรพ์โคราชสู่ช้างสุรินทร์ปัจจุบันได้ สร้างรายได้ให้กับจังหวัดและชุมชนในพื้นที่อีกมหาศาล

-โครงการเมืองใหม่สุรนารี เป็นโครงการที่หอการค้าเป็นผู้นำเสนอและผลักดันมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว เพราะโคราชมีความเจริญเพิ่มต่อเนื่อง รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาหลายโครงการที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของจังหวัด แต่ถ้าไม่ได้กำหนดแนวทางการเติบโตของจังหวัดไว้อย่างแน่ชัด จะทำให้ความเจริญกระจุกตัว และเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ในอนาคต โครงการนี้ตามแผนต้องใช้งบประมาณมากกว่า 7-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เหมาะสมของโครงการ

4.สร้างเครือข่ายธุรกิจระดับชาติ-นานาชาติ การให้บริการด้านต่าง ๆ กับผู้ประกอบการ และสมาชิก ซึ่งหอการค้าโคราชมีศูนย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการอยู่หลายด้าน

ทั้งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ, ศูนย์ธุรกิจ SMEs ให้คำปรึกษาแนะนำด้านการดำเนินธุรกิจ, ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคเอกชน ช่วยแก้ไขปัญหาด้านกฎหมายโดยตรง, ศูนย์อาเซียนศึกษา เพื่อส่งเสริมการลงทุน, ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทางธุรกิจ, ศูนย์รับสมัครศึกษาต่อของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, การให้บริการจัดทำ APEC Business Travel Card เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติ ให้คำปรึกษาการขยายตลาดกับนักลงทุน, การออกใบรับรองการเป็นสมาชิกหอการค้า เพื่อนำไปยื่นในการดำเนินกิจการต่าง ๆ และการยกระดับและต่อยอดธุรกิจโดยการหาแหล่งเงินทุนให้กับสมาชิก เป็นต้น

5.หอการค้าเพื่อสังคม ที่ผ่านมาหอการค้าให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมผ่านโครงการ “โคราชไม่ขาดเลือด” ตั้งเป้าหมายรณรงค์ให้มีผู้เข้ามาบริจาคเลือดให้ได้ปีละ 5 แสนซีซี และโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในวาระต่าง ๆ ตลอดทั้งปี

ทิศทางใหม่…โคราชจะไม่เหมือนเดิมด้วยสโลแกน Connect the Dots หอการค้าโคราชยุคใหม่จะไม่ใช่แค่ศูนย์รวมธุรกิจ แต่เป็นผู้เชื่อมโยง ที่รวมทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ตั้งแต่เกษตรกรรุ่นเก่า สู่สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ตั้งแต่ถนนหนทางในอำเภอ ถึงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่กำลังมาถึง ความสำเร็จของโคราช ต้องมาจากความร่วมมือของทุกคน…เราจะเดินไปด้วยกัน !”