“หอตาก” จี้ทบทวนมาตรการสกัด “จีนเทา” กระทบส่งออก

Mae Sot Checkpoint

หอการค้าตากจี้รัฐทบทวนมาตรการสกัดจีนเทาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลัง 2 เดือน ผู้ส่งออกไทยกระทบหนักสูญรายได้ เสียโอกาสแข่งขันกับประเทศอื่น

นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการค้าชายแดนไทย-เมียนมาต้องการให้ภาครัฐทบทวน และปรับมาตรการที่ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาจีนเทาแก๊งคอลเซ็นเตอร์บริเวณฝั่งตรงข้ามด่านแม่สอด จังหวัดตาก ควรมีกรอบเวลาที่สั้น กระชับ และชัดเจน

ที่สำคัญอยากให้มีการทบทวนเรื่องประเภทสินค้าส่งออกให้มีความชัดเจน สินค้าตัวใดไม่ส่งผลกระทบต่อจีนเทาควรจะผ่อนปรน เนื่องจากมาตรการที่ดำเนินการมา 2 เดือนเพื่อให้จีนเทาได้รับผลกระทบ แต่กลายเป็นประชาชน และผู้ประกอบการส่งออกไทยได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ หากยังมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการผู้ประกอบการเข้าใจ แต่ควรต้องมาประชุมประเมินสถานการณ์ถี่ขึ้น เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย เพราะหากนานไปประเทศไทยจะไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น เพราะสินค้าหลายตัวเมียนมาสามารถสั่งซื้อจากจีน สิงคโปร์ มาเลเซียได้ ถ้าสินค้าไทยเข้าถึงยากและต้นทุนสินค้าไทยราคาสูง

เพราะต้องอ้อมไปส่งทางด่านอื่นทำให้สู้ประเทศอื่นไม่ได้ ที่สำคัญสินค้าไทยหลายรายการไม่ได้ส่งไปขายเฉพาะในเมียนมา แต่ผ่านแดนเมียนมาไปยังจีน อินเดีย ปากีสถาน ทิเบต ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการแข่งขันเพราะประเทศอื่นจะไปส่งออกแทน

นายประเสริฐกล่าวต่อไปว่า มาตรการที่สั่งห้ามนำน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดส่งไปเมียนมา ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ทางการไทยประกาศห้ามส่งออก ส่งผลกระทบให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันในเมืองเมียวดีจริง จนส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นจาก 30 บาทต่อลิตรเป็น 130 บาทต่อลิตร

ADVERTISMENT

แต่ปัจจุบันความต้องการน้ำมันในเมียนมาน้อยลง ทำให้ราคาปรับลดลงมาเหลือลิตรละ 50 บาท ซึ่งประเด็นนี้ภาครัฐควรไปสืบว่า เหตุใดความต้องการน้ำมันลดลง เพราะมีน้ำมันจากเมืองอื่นในเมียนมาส่งเข้าไปขาย หรือมีการนำเข้าน้ำมันทางท่าเรือ ดังนั้นการไปสกัดกั้นไม่ให้น้ำมันของไทยส่งออกไป กลายเป็นว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร และทำให้ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะขายสินค้าได้เสียไป

“ที่ผ่านมากว่า 2 เดือน ความไม่ชัดเจนของมาตรการทำให้ผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบกันมากตรงจุดนี้รัฐบาลน่าจะมีกระบวนการไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า มาตรการที่ไทยระงับการส่งออกในช่วงนี้ยังมีผลกระทบต่อจีนเทามากน้อยเพียงใด ถ้าไม่มีผลกระทบควรจะทบทวนและปรับมาตรการกันอย่างไร เพื่อให้กลุ่มจีนเทาโดนผลกระทบ ไม่ใช่ประชาชนโดนกระทบ หรือสินค้าไทยโดนกระทบ”

ADVERTISMENT

อยากให้มีการทบทวนเรื่องประเภทสินค้าให้มีความชัดเจน สินค้าตัวใดไม่ส่งผลกระทบต่อจีนเทาควรจะผ่อนปรนได้มากน้อยเพียงใด เช่น เครื่องปั่นไฟขนาดเล็กส่งเข้าไปขายได้หรือไม่ ส่วนเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ก็ห้ามไป

“ข้อเท็จจริงเมืองสีเทาเหล่านี้มีเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่อยู่แล้ว สังเกตได้ตั้งแต่ปี 2567 ที่มีการตัดไฟอยู่ช่วงหนึ่ง จีนเทามีเครื่องปั่นไฟ และตุนน้ำมันไว้อยู่แล้วส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น จีนเทาอาจจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นประชาชนได้รับผลกระทบ ดังนั้น ภาครัฐต้องไปสืบว่า สิ่งที่ทำอยู่กระทบจีนเทากี่เปอร์เซ็นต์ กระทบประชาชนกี่เปอร์เซ็นต์ และไทยควรปรับปรุงมาตรการอย่างไร ก็ควรหารือกัน” นายประเสริฐกล่าวและว่า

นอกจากนี้ ความไม่ชัดเจนของมาตรการสั่งห้ามนำน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดส่งไปเมียนมา ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติห้ามหมดตั้งแต่ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และไปตีความรวมถึงน้ำมันเครื่อง น้ำมันหล่อลื่นด้วย ถูกระงับห้ามส่งออกไปด้วย ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เรื่องสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิดไฟฟ้า สินค้าไปเกื้อกูลการทำผิดกฎหมายยังไม่มีความชัดเจน ทำให้สินค้าหลายตัวที่ผู้ประกอบการสั่งซื้อไว้ และจ่ายมัดจำไว้แล้วก็ถูกหยุดชะงักหมด

“สินค้าผ่านด่านแม่สอดสูญเสียโอกาสในการค้าการแข่งขันกับประเทศอื่นตั้งแต่ปี 2567 มีเหตุการณ์สะพานถนนสายเอเชีย 1 ถูกระเบิดทำให้ขนส่งสินค้าไปประเทศเมียนมาไม่ได้ ทำให้สินค้าเปลี่ยนไปส่งออกทางด่านระนอง ด่านแม่สาย พอมาช่วงฤดูหนาวเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2567 ต่อเนื่องมาถึงต้นเดือนมกราคม 2568 ยอดขายสินค้าเริ่มกระเตื้องขึ้นมาเผชิญปัญหาเรื่องดาราจีน นายหวัง ซิง ที่หายตัวมาถึงเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งการที่ภาครัฐออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหา ภาคเอกชนเข้าใจแต่ควรต้องมาประชุมประเมินสถานการณ์กันว่าถึงเวลานี้ยังจำเป็นต้องใช้มาตรการหรือต้องปรับปรุงตรงไหนให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย”