สวนทุเรียนกลุ้มส่งออกจีนชะงัก จี้นายกฯเจรจาผ่อนปรนนำเข้า

ล้งทุเรียน

ชาวสวนทุเรียน ล้ง ผู้ส่งออกผนึกกำลังหอการค้าตะวันออก-ภาคใต้ ยื่นหนังสือถึงนายกฯอิ๊งค์ จี้เจรจารัฐบาลจีนขอผ่อนปรนการตรวจสารปนเปื้อน BY2 และแคดเมียม กังวลทุเรียนลอตใหญ่ทยอยออกสู่ตลาดกลางเมย.นี้ หลังเจอปัญหาจีนตรวจเจอสารปนเปื้อน สั่งระงับนำเข้า ทำทุเรียนกองคาด่าน พร้อมสั่งปิดแล็บไปด้วย พาณิชย์เผยปีนี้ทุเรียนดี ผลผลิตเพิ่ม 31% กว่า 8.7 แสนตัน

แหล่งข่าวจากวงการทุเรียนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ชาวสวนทุเรียน รวมถึงโรงคัดบรรจุ (ล้ง) และผู้ส่งออก ต่างมีความกังวลใจมากว่า ปีนี้จะไม่สามารถส่งออกทุเรียนมูลค่ากว่าแสนล้านบาทไปตลาดจีนได้เหมือนปีก่อน ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้มหาศาล เนื่องจากห้องแล็บที่จะออกใบรับรองในการตรวจสอบสารแคดเมียม และสารย้อมสี Basic Yellow 2 หรือ BY2 ได้ถูกทางการจีนระงับ ไม่ยอมรับการตรวจสอบของแล็บไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเริ่มต้น 8 แล็บ ตอนนี้เหลือ 4 แล็บ

และล่าสุดมีข่าวว่า มีอีก 2 แล็บจะถูกทางการจีนสั่งปิดเพิ่ม หลังจากที่ด่านจีนตรวจพบสารแคดเมียม และ BY2 จากทุเรียนไทย ทั้งที่ใบตรวจสอบจากแล็บไทยระบุว่าไม่มีสารตกค้าง

ดังนั้นในช่วงสัปดาห์นี้ ทั้งชาวสวนและล้งจึงออกมารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะหลังวันที่ 15 เมษายน 2568 ปริมาณทุเรียนภาคตะวันออกจะถึงกำหนดตัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงพีกจะมีทุเรียนออกวันละ 700-1,000 ตู้ ขณะที่แล็บจะเหลือให้ตรวจเพียง 2 แห่งไม่เพียงพอ ต้องการให้ทางการไทยเจรจาขอผ่อนปรนมาตรการกับทางการจีน

ชงรัฐ 3 ข้อเจรจาผ่อนปรนจีน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 หอการค้าจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และหอการค้าจังหวัดในภาคใต้ ได้ยื่นหนังสือผ่านทางหอการค้าไทย รวมถึงสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก สมาคมทุเรียนไทย สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี สำเนาถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียนอย่างเร่งด่วน

โดยระบุว่าขณะนี้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน และผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนกำลังเผชิญปัญหาสำคัญจากมาตรการตรวจสอบสารตกค้างของจีน โดยเฉพาะสาร BY2 ส่งผลให้รถบรรทุกที่ขนส่งทุเรียนจำนวนมากติดค้างที่ด่านศุลกากรขาเข้าของจีน ส่งผลต่อคุณภาพของทุเรียนได้รับความเสียหาย

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ จีนได้กำหนดค่ามาตรฐานของสาร BY2 จัดอยู่ในกลุ่มสารที่อาจจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งระดับ Class 2 การตรวจสอบต้องมีค่าต่ำกว่า 0.5 ppb หรือ 0.0005 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับสารกำจัดแมลงในกลุ่มสารก่อมะเร็งระดับ Class ซึ่งอนุญาตให้มีได้ถึง 0 ppb หรือ 1,000 ppb คือต่ำกว่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งร้ายแรงถึง 2,000 เท่า แสดงให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลของมาตรการ เป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้าที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรและเศรษฐกิจของไทย

โดยปัจจุบันผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกมีมากกว่า 871,000 ตัน ซึ่งทางการจีนมีการตรวจสารแคดเมียม และสาร BY2 เข้มงวดทุกตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้เกิดความล่าช้า ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่า 2 แสนครัวเรือน และมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

ดังนั้น ทางกลุ่มสมาคมและเครือข่ายต่าง ๆ ขอให้รัฐบาลเจรจากับทางการจีน 3 ประการ ได้แก่ 1.ขอให้ใช้มาตรฐานการตรวจสอบสารปนเปื้อน BY2 แบ่งเป็น 2 ค่า คือ การตรวจที่เนื้อทุเรียนให้ตรวจแบบไม่พบ (Not Detected) ได้ แต่ในส่วนที่เปลือก ขอให้มีเกณฑ์ขั้นต่ำที่รับได้ คือ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม หรือ 10 ppb 2.ขอให้ยกเลิกการระงับใบรับรองห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ในประเทศไทย เนื่องจากตามหลักสากล ห้องแล็บจะรับรองเฉพาะผลการตรวจวิเคราะห์ในลูกทุเรียนที่เอามาตรวจเท่านั้น

ถ้าตรวจพบสารที่ควบคุมในตู้หรือในผลทุเรียนลูกอื่นที่ไม่ได้เอามาตรวจ (ไม่ได้เกิดจากการตรวจทุเรียนลูกเดียวกัน) จึงควรระงับหนังสือสำคัญที่แสดงการขึ้นทะเบียนหรือใบ DOA ของล้งที่ตรวจพบสารเท่านั้น รวมถึงขอให้พิจารณาเพิ่มห้องแล็บในพื้นที่ปลูกทุเรียนให้เพียงพอกับผลผลิต 3.ขอให้ลดจำนวนการตรวจ 100% ที่ด่านชายแดน โดยควรกำหนดสัดส่วนการสุ่มตรวจน้อยกว่า 30% ของผลผลิตที่ส่งออก เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าและเสียหายจากการขนส่ง

ห่วงทุเรียนลอตใหญ่

นายอุกฤษณ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หอการค้าจังหวัดจันทบุรีปรึกษาหารือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทุเรียน เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติ เพื่อขอให้หอการค้าไทยประสานหน่วยงานรัฐบาลเพื่อร่วมกันคลี่คลายปัญหา โดยแล็บที่ถูกจีนสั่งระงับนั้น ทำให้เกษตรกร ผู้ส่งออกเดินหน้าต่อไม่ได้ รัฐบาลต้องเร่งเข้ามาแก้ไข เพราะมีผลกระทบกับการส่งออกทุเรียนมาก ยิ่งใกล้ฤดูกาลทุเรียนส่งออกลอตใหญ่กลางเดือนเมษายนนี้ ดูเหมือนแล็บมีจำนวนน้อยลง กรมวิชาการเกษตรต้องชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น

ก.เกษตรฯยันแล็บ BY2 มี 9 แห่ง

นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการของไทยที่จะตรวจรับรองสาร BY2 ในทุเรียนสด ก่อนส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะนี้มีอยู่ 4 แห่ง และได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนใหม่กับทาง GACC อีก 5 แห่งเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งมีการขอให้ GACC พิจารณาอนุญาตให้ห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง สามารถกลับมาทดสอบได้อีกครั้งด้วย

อย่างไรก็ดี ยืนยันกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทุกรายว่า ห้องปฏิบัติการมีเพียงพอและสามารถรองรับผลผลิตที่จะออกมาจำนวนมากในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้อย่างแน่นอน โดยผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายชื่อห้องปฏิบัติการทดสอบ BY2 และแคดเมียมในทุเรียนส่งออกไปจีนได้ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทุเรียนปีนี้ทะลัก 8.7 แสนตัน

นางสาวนริศรา เอี่ยมคุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สำหรับผลผลิตในปีนี้ โดยเฉพาะทุเรียนภาคตะวันออก สภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้เนื้อที่การปลูกทุเรียนในปี 2568 เพิ่มขึ้น 17% แม้บางพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากฝนตกชุกบ้างก็ตาม สำหรับปริมาณผลผลิตทุเรียนรวม คาดว่าอยู่ที่ 871,692 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มี 666,329 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 31% คาดว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนสิงหาคม 2568 นี้ โดยทุเรียนจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2568 คิดเป็น 42% ของผลผลิตทุเรียนทั้งหมด

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 ของจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด จะเน้นมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด เช่น มาตรการตรวจก่อนตัด วัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง และมาตรการตรวจคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุ ซึ่งสุ่มตรวจสอบ รวมทั้งการตรวจวิเคราะห์แคดเมียมและสาร BY2 ทุกตู้/ชิปเมนต์ตามมาตรการควบคุมการปนเปื้อนการส่งออกทุเรียนผลสดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน