
ประมง จ.เชียงราย เผยผลตรวจคุณภาพน้ำแม่น้ำกก พบสารหนูในระดับต่ำ แนะประชาชนเลี่ยงบริโภคสัตว์น้ำ หวั่นกระทบต่อสุขภาพระยะยาว
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพแม่น้ำกก บริเวณสวนสาธารณะองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เผยผลตรวจพบสารหนูปนเปื้อนในระดับต่ำ แนะประชาชนระมัดระวังการบริโภคสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันผลกระทบสะสมจากสารพิษในอนาคต
การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า สัตว์น้ำในพื้นที่ยังคงมีพฤติกรรมเป็นปกติ ลูกปลาขนาดเล็กว่ายน้ำได้ตามธรรมชาติ ไม่แสดงอาการอ่อนแรงหรือผิดปกติ ลักษณะลำตัวของปลายังคงสีสันตามธรรมชาติ ไม่มีสีซีดหรือคล้ำผิดปกติ
ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำพบว่า มีสารหนู (Arsenic) ปนเปื้อนในระดับ 0.013 มิลลิกรัม/ลิตร แม้จะอยู่ในระดับไม่สูง แต่สามารถสะสมในร่างกายสัตว์น้ำได้ หากมีการอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเป็นเวลานาน ทำให้การบริโภคสัตว์น้ำจากแหล่งนี้เป็นประจำ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว จึงขอแนะนำให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และระมัดระวังในการบริโภคสัตว์น้ำจากแม่น้ำกกในช่วงนี้
ขณะเดียวกันประชาชนหลายคนเกิดความกังวลในการเดินทางมาร่วมงานสงกรานต์ที่หาดโยนกเชียงแสน อำเภอเชียงแสน ที่ตั้งอยู่บริเวณปลายแม่น้ำ ซึ่งสารปนเปื้อนที่อาจมีอยู่ในช่วงต้นแม่น้ำได้ถูกเจือจางลงตามธรรมชาติจนไม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 6 อำเภอที่มีพื้นที่ติดลำน้ำกก ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำในชุมชนที่ใช้น้ำจากลำน้ำกกมาปรับปรุงคุณภาพ หรือใช้น้ำบาดาลที่มีแหล่งใกล้ลำน้ำกก เพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำในเบื้องต้น
การเก็บตัวอย่างน้ำในครั้งนี้ใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นเพื่อวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ซึ่งรวมถึงการทดสอบคลอรีนอิสระและโคลิฟอร์ม ในน้ำและน้ำแข็ง โดยผลการตรวจจะได้รับการประมวลผลในวันที่ 9 เมษายน 2568 ขณะที่การตรวจสอบโลหะหนักในน้ำจะดำเนินการในห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย ซึ่งจะครอบคลุมการทดสอบสารพิษต่าง ๆ เช่น ตะกั่ว, สารหนู, แคดเมียม, แมงกานีส, เหล็ก รวมถึงการตรวจสอบความเป็นกรด-เบส และสารอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
กระบวนการทดสอบทางห้องปฏิบัติการคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน เพื่อตรวจสอบสารปนเปื้อนในน้ำและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำในพื้นที่ดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในชุมชนสามารถใช้น้ำที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับการอุปโภคและบริโภค