พัทลุงรุกเพิ่มมูลค่า ‘ต้นสาคู’ GI อาหาร-วัสดุก่อสร้าง-ย้อมผ้า ZAGO

Sago Phatthalung

“พัทลุง” ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีทรัพยากรดิน น้ำ แร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ พืชเศรษฐกิจหลายชนิดมีรสชาติอร่อยแตกต่างจากพื้นที่อื่น เช่น กล้วยหอมทอง สละ พลู ฯลฯ ผลผลิตหลายอย่างมียอดจองซื้อจากต่างประเทศจนปลูกกันไม่พอขาย

ล่าสุดทางจังหวัดพัทลุง มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง พร้อมคณะทำงานและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันผลักดันให้สินค้า “แป้งสาคูต้นพัทลุง” เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทางภูมิปัญญาของประชาชนชาวพัทลุง และผลักดันกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ขึ้นทะเบียน “แป้งสาคูต้นพัทลุง” ให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) หลังจากที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” เป็นสินค้า GI ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549 และปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ไปแล้วเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562

โดย นายรัฐศาสตร์ ชิดชู ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง บอกว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนแป้งสาคูต้นพัทลุง (Phatthalung Sago Flour หรือ Pang Sago Ton Phatthalung) เป็นสินค้า GI พัทลุงแล้ว ตามทะเบียนเลขที่ สช.68100252 ลงวันที่ 3 เมษายน 2568 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันยื่นคำขอขึ้นทะเบียน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป และหลังจากนี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการรับสมัครผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า ที่ประสงค์ขอใช้ตรา GI สินค้าแป้งสาคูต้นพัทลุง ตามขั้นตอนต่อไป

จุดเด่นเม็ดสาคูเหนียวหนึบ

“แป้งสาคูต้นพัทลุง” หรือ Phatthalung Sago Palm Flour หรือ Pang Sago Ton Phatthalung หมายถึง แป้งสาคูที่ผลิตจากต้นปาล์มสาคูที่มียอดสีแดง ไม่มีหนาม นำมาผ่านกระบวนการแปรรูป เป็นแป้งสาคูที่มีลักษณะแบบเม็ดหรือแบบผง ประกอบกับภูมิปัญญาการตากเม็ดแป้งสาคูบนเสื่อกระจูด ทำให้ระบายอากาศได้ดี เม็ดแป้งสาคูจึงมีสีโทนน้ำตาล มีกลิ่นหอมเยื่อไม้ต้นสาคู และเมื่อนำมาทำแป้งสาคูจะได้แป้งที่มีความเหนียวหนึบ มีความแตกต่างจากแป้งสาคูจากพื้นที่อื่น

เนื่องจากพื้นที่จังหวัดพัทลุงติดกับทะเลสาบสงขลา มีลักษณะเป็นเมือง 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย มีทะเลน้อยเป็นช่วงต้นของทะเลสาบ จึงมีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เหมาะแก่การประมงและการเกษตร มีลักษณะดินในพื้นที่เป็นดินทราย ดินเหนียว ที่มีการระบายน้ำได้ดี อาจมีน้ำท่วมขังเป็นบางเวลา จึงเหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นสาคู

ลักษณะภูมิอากาศ จังหวัดพัทลุงตั้งอยู่ในเขตมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือและมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สภาพอากาศอยู่ภายใต้อิทธิพลของมรสุมที่พัดปกคลุมประจำฤดูกาล ทำให้ทุก ๆ ปีของจังหวัดพัทลุงมีเพียง 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน

ADVERTISMENT

จากลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศของจังหวัดพัทลุง ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับพื้นที่เป็นป่าดิบชื้น ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ส่งผลให้ต้นปาล์มสาคูที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีปริมาณแป้งสาคูมาก

แปรรูปเพิ่มมูลค่าพันล้าน

นายษฐากร ขำนุ้ย ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนโศภิษฐาฟาร์ม อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลิตภัณฑ์แป้งสาคูโศภิษฐาฟาร์ม ส่งเข้าโรงงานแปรรูปในกลุ่มที่มีทั้งหมด 15 ราย กำลังการผลิตรวมประมาณ 6 ตัน/เดือน แต่ขณะนี้สามารถผลิตได้เพียง 2 ตัน/เดือน ซึ่งทางด้านการตลาดได้รับการตอบรับที่ดี โดยราคาขายส่งแป้งสาคู 100 บาท/กก. และขายปลีก 120 บาท/กก.

ษฐากร ขำนุ้ย
ษฐากร ขำนุ้ย

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายดีคือ ผลิตภัณฑ์แป้งที่นำไปทำอาหารคาว-หวาน โดยเมนูยอดนิยมที่ซื้อไปทำ เช่น สาคูกวน สาคูกะทิ สาคูขี้มัน ฯลฯ เฉพาะสาคูกวนสามารถทำรายได้ถึงประมาณ 40,000 บาท/เดือน และยังมีนวัตกรรมแป้งสาคูย้อมผ้า ZAGO กำลังได้รับความนิยมเช่นกัน

โดยมีการนำแป้งสาคูต้นพัทลุงไปใช้แทนแป้งมันแทนมันสำปะหลัง โดยเฉพาะในปีที่แล้ว 2567 สามารถผลิตแปรรูปจำหน่ายได้ประมาณ 10 ตัน/เดือน และในปี 2568 ในไตรมาส 2 ปริมาณผลผลิตมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นอีก

จ.พัทลุงมีต้นสาคูอยู่ประมาณ 500 ไร่ เป็นของชาวบ้านจำนวน 300 ไร่ ที่เหลือ 200 ไร่ จะอยู่ในเขตพื้นที่สงวนของรัฐ ต้นสาคูมีมากที่ อ.เมือง อ.ควนขนุน อ.ป่าพะยอม อ.กงหรา อนาคตน่ากังวลว่าในระยะ 10 ปีให้หลัง อาจจะเกิดภาวะขาดแคลนแป้งสาคูได้ เพราะตอนนี้ผลผลิตที่มีอยู่ในระดับที่ทรงตัวกับกำลังการผลิตจากผู้ประกอบการ 20 ราย ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จึงยังไม่สามารถที่จะขยายงานได้

“โดยเฉพาะในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต้องป้องกันความเสี่ยงได้ มีการลงทุนทำสมาร์ทฟาร์มต้นสาคูขึ้น ต้องมีการรณรงค์อนุรักษ์ไว้ ที่เหลืออยู่ ประมาณ 500 ไร่ โดยภาพรวมต้นสาคูที่มีอยู่ประมาณ 10,000 ต้น” นายษฐากรกล่าวและว่า

ต้นสาคูจะสามารถสกัดออกมาเป็นผลผลิตแป้งมันได้ประมาณ 130 กก./ต้น มีมูลค่าเฉพาะแป้งมันรวมประมาณ 13,000-15,000 บาท/ต้น ยังไม่รวมถึงชิ้นส่วนต้นสาคูที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

โดยต้นสาคูต่อต้นจากงานวิจัย LE ในปี 2567 จะมีรายได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ประมาณ 150,000 บาท/ต้น โดยราคาเฉลี่ยจากสาคูเฉลี่ยถ้วยละ 10 บาท เมื่อต้นสาคูมีอยู่ประมาณ 10,000 ต้น เท่ากับจะมีมูลค่าถึง 1,500 ล้านบาท

จี้รัฐ-เอกชนร่วมมืออนุรักษ์

นายษฐากรบอกว่า เมื่อ 50 ปีก่อนต้นสาคูถูกถอนออก โดยไม่มีการปลูกทดแทนจากโครงการของรัฐที่มีความจำเป็นต้องขุดลอกคลอง บึง หนอง เพื่อทำทางน้ำไหลป้องกันน้ำท่วม แต่อยากให้มีมาตรการยกเว้นจุดพื้นที่ต้นสาคูงอกขึ้น ควรที่จะยกเว้นเอาไว้สำหรับในพื้นที่ของรัฐ และสำหรับในพื้นที่ของประชาชน อยากให้เจ้าของพื้นที่สามารถติดต่อมาได้ โดยทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จะขอเช่าพื้นที่หรือขอเป็นสัมปทานหรือร่วมงานกันได้

นายษฐากรกล่าวอีกว่า เดิมก่อน 50 ปี ต้นสาคูมีการปลูกไว้ทุกครัวเรือนสำหรับพื้นที่เหมาะสม เพราะเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ทุกส่วน และเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ทั้งใบ ต้น เนื้อใน สร้างที่อยู่อาศัย เช่น หลังคา ฝาผนัง และเป็นอาหารบริโภคทั้งคนและเพื่อเลี้ยงสัตว์ ต้นสาคูที่มีอยู่ขณะนี้จะงอกเองตามธรรมชาติ ต้นหนึ่งถูกโค่นออก จะปลูกต้นใหม่ขึ้นมาทดแทนเป็นวัฏจักรตลอดทั้งปี ต้นสาคูขึ้นบริเวณหนองน้ำ บึง ลำคลอง ทางด้านศักยภาพผลการผลิต ต้นสาคูสามารถนำมาแปรรูปเมื่อต้นมีอายุ 8-10 ปี

“ต้นสาคูจะต้องรณรงค์ให้มีอยู่ เป็นต้นไม้คู่บ้านคู่เมืองพัทลุง และผู้ที่มีพื้นที่เหมาะสมปลูกครัวเรือนละ 1 กอ และบ้านใครมีต้นสาคูจะให้ทางกลุ่มไปขอเช่า หรือให้สัมปทาน หรือให้เข้าร่วมใด ๆ จะสามารถติดต่อได้” นายษฐากรกล่าว