
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์
ในที่สุดความพยายามของกลุ่มทุนในภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องการผลักดันให้ “ปราจีนบุรี” เป็นจังหวัดที่ 4 ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เริ่มปรากฏชัด เมื่อสำนักงานอีอีซีได้ลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ 7 อำเภอ ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2568 พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น และจะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนกันยายน 2568
ที่สำคัญ ในการเปิดเวทีแต่ละครั้ง มีเสียงสะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับ “ปัญหามลพิษ” ที่เพิ่มขึ้น !
“ธนกฤษ เตชะปัญญารักษ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ยอมรับว่า การเพิ่มปราจีนบุรีเป็นพื้นที่อีอีซี จะทำให้จังหวัดเกิดการพัฒนาเมืองมากขึ้น แต่กังวล 1.ปัญหาแหล่งน้ำ นิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น เกษตรกรอาจได้รับผลกระทบ
2.ปัญหาเรื่องมลพิษ หลายโรงงานที่ตั้งอยู่ตอนนี้ทำโรงงานรีไซเคิลตามใบอนุญาตโรงงานประเภท 105 และ 106 (โรงคัดแยก ฝั่งกลบ หลอมขยะทั่วไป และขยะอันตราย) ต้องไปตรวจสอบว่าได้ตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะหากมีปัญหาเรื่องมลพิษในแหล่งน้ำ อาจทำให้กระทบต่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เพราะปราจีนบุรีมีเป้าหมายพัฒนาผลักดันเป็นเมืองแห่งพืชสมุนไพร 3.ปัญหาค่าแรง และ 4.ปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
ขณะที่ “สุนทร คมคาย” เกษตรกรเต็มขั้น ในฐานะประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และที่ปรึกษาสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี จำกัด มีเครือข่ายสมาชิกทำอาชีพปลูกผัก ผลไม้ 185 ครัวเรือน กระจายอยู่ทั่วจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อส่งให้โรงครัวโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ส่งต่อให้ร้านเลมอนฟาร์ม
“กังวลใจว่าการเป็นอีอีซีแล้ว ประชาชนจะได้อะไร เพราะปัจจุบันมีโรงงานนับพันแห่งอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็น ‘โรงหลอม-โรงกำจัดขยะรีไซเคิล’ ซึ่ง ‘มีมลพิษสูงมาก’ และโรงงานส่วนใหญ่เป็นของ ‘ทุนจีน’ เข้ามาเปิดนิคมใหญ่โต ขึ้นป้ายชื่อภาษาจีนชัดเจน”
ที่สำคัญ โรงหลอม-โรงกำจัดขยะเหล่านี้สามารถมาตั้งในผังเมืองสีเขียวได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะสมัยรัฐบาล คสช.ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออก
“ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559” เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภทให้สามารถตั้งในพื้นที่ใดก็ได้ โดยเฉพาะ “ธุรกิจพลังงาน และโรงงานคัดแยก ฝังกลบขยะ โรงงานรีไซเคิลขยะพิษ”
ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบัน หลายปีที่ผ่านมา ปราจีนบุรี จึงเป็น “แหล่งรองรับขยะพิษ” และที่ผ่านมามีการร้องเรียนถึงการรั่วไหลของสารเคมีในหลายพื้นที่ ดังนั้น ประชาชนพยายามเรียกร้องให้ “ยกเลิก” ประกาศดังกล่าวมาหลายปี แต่ไม่ได้รับการพิจารณา
สิ่งที่ชาวปราจีนบุรีต้องการให้จังหวัด และรัฐบาลทบทวนยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัดปราจีนบุรี ที่ต้องการเป็นเมืองสมุนไพร-เมืองปลอดภัย-เมืองสุขภาพ จึงต้องการให้ทบทวนว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นมีการพัฒนาจากทรัพยากรพื้นฐานภายในจังหวัดหรือไม่ และความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ใครจะเยียวยา