
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
แม้การกู้ภัยอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 8.2 แมกนิจูด ศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้จบภารกิจลงโดยใช้เวลาถึง 48 วัน (15 พ.ค. 68) มียอดผู้เสียชีวิตถึง 89 ราย และยังมีผู้สูญหายอีก 7 ราย ที่ยังต้องรอพิสูจน์ชิ้นส่วน
“กรมโยธาธิการและผังเมือง” หนึ่งในหน่วยงานหลักที่ถูกพุ่งเป้าในฐานะผู้ควบคุม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่บังคับให้อาคารขนาดใหญ่ต้องสร้างระบบรองรับแผ่นดินไหว แต่เหตุใดตึก สตง.จึงถล่มเพียงตึกเดียวในประเทศไทย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “พงษ์นรา เย็นยิ่ง” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ถึงสาเหตุการถล่มของตึก สตง. อันตรายจากคอนโดมิเนียมต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ และการทบทวนบทเรียนต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงขึ้น
เร่งสอบเหตุตึก สตง.ถล่ม
คณะกรรมการ 22 คน มีองค์ประกอบ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ 2) ผู้แทนสถาบันการศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.), กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
และมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ของกรมโยธาฯ รวมทั้งสิ้น 22 คน โดยมีวิศวกรใหญ่ กรมโยธาฯเป็นประธาน และมีนายกสภาวิศวกรเป็นที่ปรึกษา ได้มีการประชุมพิจารณาปัจจัยที่ทำให้อาคารพังถล่ม มีหลายปัจจัยและจะมีการตรวจสอบทุกปัจจัย
หยิบหลากปัจจัยหลักคลี่ปม
หลายปัจจัยโดยเฉพาะการออกแบบ เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีการตรวจสอบโดยใช้แบบจำลองทางวิศวกรรมศาสตร์ขั้นสูง โดย 4 สถาบันการศึกษาที่ร่วมเป็นกรรมการ และกรมโยธาฯ ต่างคนต่างทำแล้วนำมาเปรียบเทียบวิเคราะห์กันว่าเกิดจากการออกแบบหรือไม่ โดยนำแบบพิมพ์เขียวที่มีการว่าจ้างออกแบบ จำลองในคอมพิวเตอร์ แล้วใส่แรงแผ่นดินไหวเข้าไปแล้วดูว่าตึกพัง
ต้องใช้ความละเอียด จึงขอเวลากับนายกฯอีก 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2568 พยายามเร่งรัดให้เสร็จโดยเร็ว ที่ผ่านมาได้เก็บตัวอย่างทั้งเหล็ก คอนกรีต มาตรฐานในการขออนุมัติใช้วัสดุ เอกสารการขออนุมัติการเทคอนกรีต รวมถึงผลทดสอบที่ได้มีการดำเนินการเก็บตัวอย่างไปทดสอบควบคู่กันไป รวมถึงการตรวจสอบเอกสารรายงานการควบคุมงานด้วย
รอพิสูจน์มาตรฐานเหล็ก
ที่ผ่านมาได้มีการเก็บตัวอย่างเหล็กไปทดสอบ เราจะเก็บเหล็กที่อยู่ในเนื้อคอนกรีตเท่านั้น เหล็กที่โผล่ออกมาแล้ว ถือว่าเป็นเหล็กที่สูญสียการรับแรงไปแล้ว-ถูกยืดไปแล้ว ไม่สามารถเก็บมาทดสอบได้ ต้องเอาเหล็กที่อยู่ในเนื้อคอนกรีต แล้วเวลาตัดเหล็กที่อยู่ในเนื้อคอนกรีตไปทดสอบ ต้องมีความยาวอย่างน้อย 1 เมตร ซึ่งเราต้องเก็บด้วยความรอบคอบและเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อจะยืนยันได้ว่าเหล็กที่เอามาใช้ไปทดสอบแล้วได้มาตรฐานการรับแรงดึงหรือไม่
ส่วนคอนกรีต ต้องไปเก็บตัวอย่างที่สมบูรณ์ ถ้าคอนกรีตที่มีการแคร็ก แตกร้าว เราไม่สามารถนำไปเก็บมาทดสอบว่าเขาใช้คอนกรีตที่มีกำลังอัดเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่า เหล็กที่เอามาใช้เป็นเหล็กที่ไม่ถูกต้อง คอนกรีตร่วน รับแรงอัดไม่ได้ ตอนนี้ยังตอบแบบนี้ไม่ได้ มันต้องได้ข้อมูลที่แท้จริง เป็นข้อมูลวิชาการ ตามมาตรฐาน ถึงจะตอบได้
เช็คเข้มคนคุมงาน-ตรวจการจ้าง
ตามกฎหมายว่า การจ้างช่วงไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ว่าจ้างก่อน บางสัญญาการก่อสร้างอาคารภาครัฐเราห้ามไว้อยู่แล้ว สาเหตุของการพังถล่มของตึก สตง. ต้องดูว่าเกิดจากการรับเหมาช่วงเป็นสาเหตุหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ผู้รับเหมา เวลาได้งานจะไปจ้างบริษัทที่จะขนวัสดุเข้ามา ไปเช่าเครื่องมือ ไปจ้างกลุ่มแรงงานเข้ามา
แต่บริษัทใหญ่ยังบริหาร มีการควบคุมกำกับดูแลโดยวิศวกร หลัก ๆ มองว่าเป็นเรื่องการควบคุมงานของคณะกรรมการควบคุมงานและการตรวจการจัดจ้าง ที่จะต้องมีความละเอียดรอบคอบ และต้องมีความเข้มข้นที่จะตรวจสอบ นี่คือสิ่งสำคัญ
ปกติการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการก่อสร้าง เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลาง และมีการประเมินผู้รับเหมาด้วย และมีการปรับชั้น-ลดชั้น เพิกถอนการขึ้นทะเบียน กรมโยธาฯจะไปก้าวล่วงกฎหมายของหน่วยงานอื่นไม่ได้ แต่ในการประชุมจะมีการให้ข้อเสนอแนะว่าควรจะปรับปรุงเพิ่มเติมอย่างไร ผมว่าเรื่องนี้คงไม่ได้ปล่อยให้เงียบไป จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย และไม่ใช่แค่กฎหมายอย่างเดียว
ขุ้ยปมเอกสารรับรองเท็จหรือจริง
สมัยก่อน “มีการปลอมแปลงเอกสารค่อนข้างมาก” เวลาไปเซ็นหรือออกแบบควบคุมงานอาคารจะใช้หนังสือตามแบบฟอร์มกฎหมาย มีหนังสือยินยอมควบคุมงาน หนังสือรับรองการออกแบบของวิศวกร เมื่อเซ็นในแบบฟอร์มว่าชื่ออะไร ไปควบคุมงานหรือออกแบบอาคารอะไร แล้วเซ็นชื่อกำกับ ร่วมกับเจ้าของอาคาร และมีพยานเซ็นชื่อด้วย แล้วผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกร จะถ่ายใบประกอบวิชาชีพ และมีการเซ็นกำกับ แต่ที่ผ่านมา “มีการถ่ายเอกสารไปปลอมลายเซ็นค่อนข้างมาก”
ปัจจุบันได้มีการออกกฎกระทรวงว่าต้องมีหนังสือรับรองจากสภาวิศวกรเป็นรายโครงการ ถ้าวิศวกรจะออกแบบหรือควบคุมงานอาคารใด ต้องเข้าไปในเว็บไซต์ของสภาวิศวกร กรอกข้อมูลยืนยันตัวตน ว่าจะนำไปใช้ในงานอะไร มีการเสียค่าธรรมเนียม แล้ววิศวกรสามารถพิมพ์ออกมาจากระบบ แล้วนำใบนี้ไปแนบขออนุญาตอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งวิธีการนี้รัดกุมพอสมควร แต่เกรงว่าอาจมีคนปลอมแปลงหนังสือรับรอง ซึ่งปลอมแปลงค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้มีดำเนินการมาสักพักแล้ว แต่การออกแบบอาคาร สตง. เกิดก่อนมีการยืนยันตัวตนรูปแบบนี้
เร่งยกร่างกฎหมายใหม่
ต้องไปดูเรื่องการปรับปรุงกฎหมาย ให้มีความรัดกุม รอบคอบ และป้องกันไม่ให้เกิดการปลอมแปลงขึ้น ซึ่งจะต้องไปพิจารณาในหลาย ๆ กฎหมาย ต้องไปดู พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้ง พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542 มาตรการการก่อสร้างอาคาร และ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งต้องมาดูกฎหมายหลาย ๆ ฉบับว่าจะต้องเพิ่มเติมอะไรเข้าไปอีก
โดยในเร็ว ๆ นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมอาคาร เพื่อมาคุยกันว่าจะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายตรงไหน อะไรบ้างในเบื้องต้น หรืออาจจะเสนอให้มีการทบทวนกฎหมายหลายฉบับหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพื่อขยายการควบคุมพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542
และพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และเสนอคณะกรรมการยกร่าง แล้วจะเปิดให้มีการรับฟัง จากนั้นนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง อาจเป็นเจ้าภาพการประชุม ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอสรุปสาเหตุตึกถล่ม
“เข้าใจว่าพี่น้องประชาชนต่างเฝ้ารอสาเหตุการพังถล่มของตึก สตง. ที่มีถล่มอยู่อาคารเดียว มันเป็นเพราะอะไรกันแน่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งมีหลายปัจจัย และการตรวจสอบด้วยสภาพหน้างานจริงเป็นไปด้วยความยาก แต่เราก็จะทำการตรวจสอบด้วยเอกสารที่มีอยู่แล้วนำมาประมวลผลเพิ่มเติมอีกครั้ง”
รื้อใหญ่กฎรองรับแผ่นดินไหว เล็งเพิ่มจังหวัด-ประเภทอาคาร
ปัจจุบันทางกรมโยธาฯมีหน้าที่กำกับการก่อสร้างอาคารตามกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งได้มีการออกกฎกระทรวงฉบับที่ 49 ปี 2540 กำหนดให้อาคารสูงเกินกว่า 15 เมตร ใน 10 จังหวัด ต้องออกแบบโครงสร้างให้สามารถต้านแผ่นดินไหว ต่อมาปี 2550 ได้ออกกฎกระทรวงขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 22 จังหวัด ปี 2564 ออกกฎกระทรวงที่กำหนดการรับน้ำหนัก ความมั่นคงของอาคาร และพื้นที่รองรับอาคารในการต้านแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ขยายเพิ่มเป็น 43 จังหวัด
ได้แก่ 1) พื้นที่เฝ้าระวัง 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และหนองคาย
2) พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา ภูเก็ต ระนอง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุทัยธานี
3) พื้นที่เสี่ยงภัยสูง 12 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์
ในการออกกฎกระทรวงต้านแผ่นดินไหวได้นำแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวกับรอยเลื่อนที่มีทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านที่มีผลกระทบกับไทย นำมาคาดการณ์การเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งในประเทศไทยมีทั้งหมด 16 รอยเลื่อน ที่ผ่านมาได้ตรวจสอบแล้วว่ามีรอยเลื่อน 3 แหล่งที่คาดว่าส่งผลต่อกรุงเทพฯ และมีการประเมินความรุนแรงไว้
ได้แก่ 1.รอยเลื่อนสะกาย คาดการณ์แผ่นดินไหวไว้ที่ 8 2.รอยเลื่อนที่กาญจนบุรี ด่านเจดีย์สามองค์และศรีสวัสดิ์ คาดการณ์แผ่นดินไหวไว้ที่ 7-7.5 3.แนวมุดตัวอาระกัน หรือแนวมุดตัวของเปลือกโลกที่ทะเลอันดามัน พาดไปตามฝั่งตะวันตกแถบประเทศเมียนมา คาดการณ์แผ่นดินไหวไว้ที่ 8.5-9
ทั้ง 3 แหล่งมีการประเมินว่า หากเกิดแผ่นไหวจะส่งผลต่อกรุงเทพฯอย่างไร จึงได้นำมาใช้ในการออกกฎกระทรวง จะเห็นว่าก็ครอบคลุมแหล่งที่เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเราต้องไปดูกฎกระทรวงปี 2564 ว่าได้กำหนดการออกแบบให้อาคารต้านแผ่นดินไหวเพียงพอหรือไม่ หรือวิธีการคำนวณต้องเพิ่มเติมหรือไม่ และจังหวัดต่าง ๆ ต้องทบทวนเพิ่มเติมหรือไม่
“จะเห็นได้ว่าอาคารอื่น ๆ ยังมีความมั่นคงแข็งแรง แม้พบเห็นรอยแตกร้าว ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อมีการสั่นไหว ตัวโครงสร้างมีความยืดหยุ่นเพื่อรับแรงสั่นสะเทือน แต่ในส่วนงานสถาปัตยกรรม งานปูนฉาบ งานฝ้า งานปูกระเบื้อง เหล่านี้เป็นงานตกแต่ง เมื่อมีการสั่นไหวก็จะมีการแตกร้าว อย่างที่เห็นในคอนโดฯหลายแห่ง แต่เมื่อซ่อมแซมให้กลับมาเป็นปกติได้ ได้รับการตรวจสอบแล้ว มีความปลอดภัย มั่นคงแข็งแรง”
“ในส่วนต่างจังหวัดก็มีการประเมินแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไว้เช่นเดียวกัน แต่ต้องมาทบทวนว่าควรเพิ่มน้ำหนักการคำนวณอีกหรือไม่ หรือต้องเพิ่มประเภทอาคารหรือไม่ หรืออาจจะเพิ่มขนาดการรองรับแผ่นดินไหวเป็นขนาด 10 เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่มีการกำหนดรายละเอียดการออกแบบให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งต้องออกแบบโครงสร้างให้ใหญ่ไว้ ใส่เหล็กเยอะ ๆ คอนกรีตหนา ๆ แต่มันคือต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นกับอาคารนั้น เราต้องพิจารณาเรื่องความเหมาะสม เพราะคอนโดฯจากราคาห้องละ 1 ล้านบาท อาจกลายเป็น 1.5 ล้านบาท”
ในขณะที่อาคารเก่าที่มีการก่อสร้างก่อนออกกฎกระทรวงปี 2540 ได้มีการออกแบบอาคารภายใต้กฎกระทรวงฉบับที่ 6 ฉบับปี 2527 กำหนดแรงที่กระทำต่อวัตถุหรืออาคารไว้ 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) น้ำหนักคงที่ต่ออาคาร เช่น โครงสร้าง คอนกรีต เหล็กต่าง ๆ 2) น้ำหนักการใช้งาน-น้ำหนักจร (Live Load) วัสดุที่มาปูผิว หรือคนที่เข้ามาใช้อาคาร มีการกำหนดน้ำหนักไว้ โดยขึ้นอยู่กับประเภทอาคาร เช่น บ้านพักอาศัย 150 กก./1 ตร.ม., สำนักงาน 400 กก./1 ตร.ม. และอาคารเก็บวัสดุหรือคลังสินค้า 500 กก./ตร.ม.
3) น้ำหนักลม การคำนวณตามกฎกระทรวงปี 2560 พูดถึงน้ำหนักคงที่ น้ำหนักจร หรือน้ำหนักผู้ที่มาใช้งาน น้ำหนักแรงลมที่กระทำต่ออาคารด้านล่าง ซึ่งแรงลมที่กระทำต่ออาคารด้านล่างเปรียบเสมือนแรงแผ่นดินไหวเหมือนกัน เมื่อตึกยิ่งสูง แรงลมยิ่งมาก
ฉะนั้นในกฎกระทรวงฉบับที่ 6 ได้กำหนดการออกแบบให้อาคารแต่ละความสูงควรกำหนดรับแรงลมไว้ พอมีกฎกระทรวงปี 2540 ฉบับที่ 49 และปี 2550 ออกมา วิศวกรก็จะคำนวณตามกฎกระทรวงที่ 6 (หรือฉบับเดิม) ก่อนว่าน้ำหนัก ทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวกระทำต่ออาคารเท่าไหร่ แล้วไปคำนวณตามกฎหมายอาคารต้านแผ่นดินไหว สาเหตุที่จะต้องนำมาคำนวณเปรียบเทียบ เพื่อหาว่าระหว่างการคำนวณตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 และกฎหมายอาคารต้านแผ่นดินไหว เมื่อคำนวณออกมาแล้ว แรงไหนมีมากกว่ากัน
หลังจากออกกฎกระทรวงปี 2550 ก็มีการออกกฎกระทรวงออกมาอีก 1 ฉบับ โดยจะให้เจ้าของอาคารมีการปรับปรุงอาคาร โดยมีการยื่นดัดแปลงอาคารแล้วใช้กฎหมายที่ไม่ขัดกับกฎหมายตอนนั้น ไม่ใช่กฎหมายปัจจุบันสามารถเสริมโครงสร้างได้
ดังนั้น กฎหมายควบคุมอาคาร ที่ออกเป็นกฎกระทรวง จะต้องผ่านคณะกรรมการควบคุมอาคาร แล้วเสนอไปที่คณะกรรมการร่างกฎหมายกระทรวง จากนั้นก็รับฟังความเห็นของประชาชน แล้วนำเข้าคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งก็ต้องใช้เวลาออกกฎหมายอย่างเร็วสุด 1 ปี แต่ต้องได้บทสรุปก่อนว่าจะแก้อะไรบ้าง สิ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหา คือ “การหาสาเหตุ” แต่ในคู่ขนาน เราก็พยายามดูให้ครอบคลุม แต่ละปัจจัย เมื่อสามารถสรุปสาเหตุได้แล้ว ก็จะมุ่งไปแก้ทันที