นักวิชาการ จี้นายกฯ เปิดโต๊ะถก 3 ปท. ไทย-เมียนมา-จีน แก้วิกฤตสารหนูแม่น้ำกก

นักวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เผยรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดมลพิษสารหนูในต้นน้ำกกและน้ำสาย จี้นายกฯ เร่งแก้ปัญหา ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เปิดโต๊ะถก 3 ประเทศเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสารหนูในแม่น้ำกกไม่ได้ริเริ่มอะไรใหม่ ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกปกติ ซึ่งข้อสั่งการทั้งหมดคือสิ่งที่หน่วยงานราชการประจำทำอยู่แล้ว อีกทั้งแผนการทั้งหมดของหน่วยงานภาครัฐเป็นผลจากการประชุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ที่รองนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นประธานที่ประชุม โดยมี 17 หน่วยงานเข้าร่วม และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาประกอบด้วย 6 แนวทาง ดังนี้

1.ใช้กลไกความร่วมมือทั้งทางการทูตและการทหาร ประสานประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดภายนอกประเทศที่อาจส่งผลให้เกิดสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก
2.ใช้กลไกลุ่มน้ำโขงเหนือ บริหารจัดการปริมาณน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ เพิ่มน้ำต้นทุนเข้าสู่แม่น้ำกก
3.ใช้นวัตกรรมดาวเทียม และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ช่วยในการหาแหล่งที่มาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
4.สื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูล และสร้างความเข้าใจไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก
5.ติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนในแม่น้ำกก และลำน้ำสาขา การปนเปื้อนในสัตว์น้ำและการสะสมในร่างกายมนุษย์ อย่างต่อเนื่อง
6.จัดทำแนวทางการลดผลกระทบจากการทำเหมือง และประสานความร่วมมือในการเผยแพร่ให้ประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ

ดร.สืบสกุล กิจนุกร

โดยที่ผ่านมารัฐบาลประชุมแก้ปัญหาน้ำกกแค่ 1 ครั้ง หลังจากนั้นปล่อยหน่วยงานราชการทำงานเพียงลำพัง แล้วปัญหาของชาวเชียงรายจะได้รับการแก้ไขปัญหาเมื่อไหร่ ทั้งนี้ ตั้งแต่มีปัญหาแม่น้ำกก แม่น้ำสายปนเปื้อนสารโลหะหนัก รัฐบาลได้แสดงออกถึงการแก้ไขปัญหาด้วยการประชุม 1 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ซึ่งมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีหน่วยงานภาครัฐจำนวน 17 หน่วยงานเข้าร่วมประชุม ดังกล่าวข้างต้น หลังจากนั้น รัฐบาลก็ไม่เคยเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกเลย

ดร.สืบสกุลกล่าวต่อว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องเร่งดำเนินการ และต้องมีความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนคือ

1.ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาแก้ปัญหานี้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากปัญหาเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ และขณะนี้ไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ทุกหน่วยงานทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ตามกฎหมายที่ให้อำนาจเท่านั้น ในขณะที่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้ามหน่วยงาน และข้ามชาติ ดังนั้น รัฐบาลต้องแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลปัญหานี้เป็นการเฉพาะ

2.เชิญผู้แทนประเทศเมียนมาและจีนที่อยู่ในประเทศไทยมารับทราบถึงปัญหา ผลกระทบ และหาทางออกร่วมกัน โดยเปิดการประชุมร่วมกับรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลจีนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เนื่องจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทั้งรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดมลพิษในต้นน้ำกกและน้ำสาย โดยประเทศเมียนมาเป็นเจ้าของดินแดนทั้งหมด ถึงแม้ว่าพื้นที่บางส่วนอยู่ในการดูแล ควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์ก็ตามที ในขณะที่รัฐบาลจีนมีบริษัทเอกชนเข้าไปทำสัมปทานเหมืองแร่ และเป็นผู้รับซื้อแร่ทั้งหลายในเมียนมา รวมถึงรัฐบาลจีนมีความใกล้ชิดกับกองทัพสหรัฐว้า หนึ่งในกองกำลังที่ดูแลพื้นที่เหมืองหลายแห่งด้วย

ADVERTISMENT

3.จัดตั้งศูนย์ติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำขึ้นในจังหวัดเชียงราย เนื่องจากข้อมูลคุณภาพน้ำคือหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในขณะที่การตรวจสอบน้ำ ตะกอนดิน ผลผลิตการเกษตร และสุขภาพประชาชนดำเนินการโดยหน่วยงานที่อยู่ภายนอกจังหวัดเชียงราย จึงส่งผลให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างล่าช้า ดังนั้น จังหวัดเชียงรายจำเป็นต้องมีศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นของตัวเอง