
เปิดไทม์ไลน์ “สารหนูแม่น้ำกก แม่น้ำสาย” สายน้ำประวัติศาสตร์แห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤต เมื่อเจอสารพิษปนเปื้อน ที่คาดว่ามาจากการปล่อยน้ำการทำเหมืองแร่ทองคำที่ไร้การควบคุม ประเทศเมียนมา ซ้ำร้าย ลำน้ำยังถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงที่ริมฝั่งน้ำในช่วงฤดูฝน ก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 เริ่มมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการเปิดหน้าดินเพื่อทำเหมืองทองคำบริเวณต้นแม่น้ำกกในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ส่งผลให้แม่น้ำกกมีตะกอนขุ่นและก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพน้ำและผลกระทบต่อชุมชนที่ใช้น้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค
ทั้งนี้แม่น้ำกก ถือเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเชียงราย ทำให้กปภ.สาขาเชียงราย ได้ลงพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย กรมควมคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณกลางแม่น้ำกกและสะพานมิตรภาพแม่ยาว-ดอยฮา มาตรวจสอบ พบว่าเกินเกณฑ์มาตรฐานการผลิตน้ำประปา
ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2568 สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกมาเปิดเผยกรณีแม่น้ำกกมีสีขุ่นผิดปกติบริเวณพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ได้รายงานผลตรวจพบว่า มีตะกั่วและสารหนู ที่มีค่าเกินมาตรฐาน
วันที่ 9 เมษายน 2568 ประมงเชียงราย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำกก พบสารหนู (Arsenic) ปนเปื้อนในระดับ 0.013 มิลลิกรัม/ลิตร แม้จะอยู่ในระดับไม่สูง สัตว์น้ำในพื้นที่ยังคงมีพฤติกรรมเป็นปกติ ลูกปลาขนาดเล็กว่ายน้ำได้ตามธรรมชาติ ไม่แสดงอาการอ่อนแรงหรือผิดปกติแต่อย่างใด แต่ก็สามารถสะสมในร่างกายสัตว์น้ำได้ จึงได้แนะนำให้ประชาชนระมัดระวังในการบริโภคสัตว์น้ำจากแม่น้ำกกในช่วงนั้นไปก่อน
ขณะเดียวกันนายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้เพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างน้ำตั้งแต่รอยต่อกับ จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงปลายน้ำที่ อ.เชียงแสน ก่อนแม่น้ำกกจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง รวมถึงมีคำสั่งให้สำนักงานสาธารณสุข การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมสำรวจแหล่งใช้น้ำทั้งอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยได้ประกาศให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการดื่มหรือสัมผัสน้ำจากแม่น้ำกกโดยตรง
นักวิชาการชี้ชัด สาเหตุจากเหมืองทอง
จนกระทั่ง ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้ออกมาเปิดเผยถึงวิกฤตการณ์สารหนูในแม่น้ำกกว่า ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา มีการขุดทองในวงกว้างเกิดขึ้นริมแม่น้ำกกในเมืองยอน ตอนใต้ของอำเภอเมืองสาด รัฐฉาน ซึ่งเป็นพื้นที่ใต้การควบคุมของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) มีบริษัทจีนหลัก 4 แห่ง ที่ดำเนินการขุดเหมือง
พร้อมกับรายงานข้อมูลของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ที่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อบริษัทเหมืองแร่ที่ได้สัมปทานทำเหมืองแร่แมงกานีสไดออกไซด์ ในเมืองโก ท่าขี้เหล็ก รัฐฉานตะวันออก มีจำนวน 9 บริษัท และบริษัทที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองทองคำ ในเมืองเลน จังหวัดท่าขี้เหล็ก มีจำนวน 20 บริษัท ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทเหล่านี้เป็นทุนจีนหรือไม่ ซึ่งบางบริษัทชื่อคล้ายจีน ขณะที่บางบริษัทชื่อคล้ายเมียนมา อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการร่วมทุนระหว่างจีนกับเมียนมาหรือไม่
ดร.สืบสกุลได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทั้งรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดมลพิษในต้นน้ำกกและน้ำสาย โดยประเทศเมียนมาเป็นเจ้าของดินแดนทั้งหมด ถึงแม้ว่าพื้นที่บางส่วนอยู่ในการดูแล ควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์ก็ตามที ในขณะที่รัฐบาลจีนมีบริษัทเอกชนเข้าไปทำสัมปทานเหมืองแร่ และเป็นผู้รับซื้อแร่ทั้งหลายในเมียนมา รวมถึงรัฐบาลจีนมีความใกล้ชิดกับกองทัพสหรัฐว้า หนึ่งในกองกำลังที่ดูแลพื้นที่เหมืองหลายแห่งด้วย
ทั้งนี้ยังได้เสนอให้มีการตรวจแม่น้ำโขงตลอดทั้งลำน้ำ ซึ่งหากสารพิษในแม่น้ำกก-แม่น้ำสาย ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม แน่นอนว่าระยะยาวจะส่งผลกระทบต่ออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผงะ พบสารหนู “เชียงราย-เชียงใหม่” เกินมาตรฐาน
สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ผลการตรวจวัดโลหะหนักในแหล่งน้ำผิวดินแม่น้ำกก ในช่วงเดือนเมษายน 2568 จำนวนทั้งสิ้น 12 จุด โดยอยู่ในพื้นที่บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3 จุด และจังหวัดเชียงราย จำนวน 9 จุด โดยตรวจวัดโลหะหนักทั้งหมด 9 ชนิด พบว่า พบโลหะหนักเกินมาตรฐาน
พื้นที่ จ.เชียงราย ได้แก่ บริเวณสะพานแม่ฟ้าหลวง หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย ต.รอบเวียง, บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำกก, บริเวณบ้านโป่งนาคำ, บริเวณสะพานมิตรภาพแม่ยาว-ดอยฮาง และบริเวณบ้านจะเด้อ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย
ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ โลหะหนักเกินมาตรฐาน คือ สารหนู ทั้ง 3 จุด ได้แก่ บริเวณสะพานสองดินแดนบ้านแม่สลัก บ้านใหม่หมอกจ๋าม, บริเวณสะพานมิตรภาพแม่นาวาง-ท่าตอน และบริเวณชายแดนไทย-พม่า หย่อมบ้านแก่งตุ๋ม ม.14 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
นอกจากนี้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามและเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินในแม่น้ำสาขาเพิ่มเติม ได้แก่ แม่น้ำลาว แม่น้ำกรณ์ แม่น้ำสรวย รวมถึงแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาย ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2568 จำนวนทั้งสิ้น 8 จุด ได้แก่ แม่น้ำสาขา จำนวน 3 จุด ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำกก ได้แก่ แม่น้ำลาว 1 จุด แม่น้ำกรณ์ 1 จุด และแม่น้ำสรวย 1 จุด
ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แม่น้ำโขง จำนวน 2 จุด บริเวณจุดก่อนที่แม่น้ำกกไหลลงบรรจบแม่น้ำโขง ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และจุดที่แม่น้ำกกไหลลงแม่น้ำโขง ผ่านบริเวณสบกก ที่บ้านแซว ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
แม่น้ำสาย จำนวน 3 จุด บริเวณพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่จุดแรกบริเวณที่ใกล้ประเทศเมียนมามากที่สุด คือ ชายแดนไทย-พม่า บริเวณบ้านหัวฝาย ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ผ่านสะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 2 และก่อนจะบรรจบแม่น้ำรวกบริเวณบ้านป่าซางงาม ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ขณะเดียวกัน สคพ.1 ได้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย ปกครองอำเภอแม่สาย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สาขาวิชาสารสนเทศภูมิศาสตร์ ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำผิวดินเพื่อตรวจวิเคราะห์โลหะหนักในแหล่งน้ำ แม่น้ำสาย จำนวน 3 จุด ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 โดยอยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์ทางสิ่งแวดล้อม
วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำในเดือนเมษายน 2568 พบการปนเปื้อนสารหนูเฉพาะลำน้ำแม่กก ส่วนลำน้ำสาขาไม่พบการปนเปื้อน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดเพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเดือนละ 2 ครั้ง และกรมทรัพยากรน้ำเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีการปนเปื้อน โดยมีการควบคุมการเปิดปิดประตูระบายน้ำ และเตรียมพร้อมเครื่องจักรสำหรับการป้องกันการท่วมทะลักเข้าสู่ลำน้ำสาขา
จนกระทั่งวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 รองผู้ว่าฯเชียงราย ติดตามการแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำสายกับประเทศเมียนมา ซึ่งฝ่ายไทยได้สอบถามแนวทางแก้ไขปัญหาในประเด็นดังกล่าว ทางฝ่ายเมียนมาแจ้งว่าการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อยู่ในจังหวัดเมืองสาก จังหวัดท่าขี้เหล็ก ซึ่งจะหารือร่วมกับจังหวัดเมืองสากเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 นายกฯสั่งการด่วนให้ทุกส่วนราชการเร่งแก้ปัญหาแม่น้ำกก เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ดำเนินการแก้ไขสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน เจรจาประเทศเพื่อนบ้าน หยุดหรือปรับปรุงวิธีทำเหมืองกันสารปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ลดผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตประจำวัน
ล่าสุดวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 ทางด้าน นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การปนเปื้อนโลหะหนักในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง พื้นที่ จ.เชียงรายว่า จากข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดินโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2568 พบว่า แม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง บริเวณพื้นที่ จ.เชียงราย มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก โดยเฉพาะ “สารหนู” และ “ตะกั่ว” เกินค่ามาตรฐานในหลายจุด เช่น จุดบ้านแซว บ้านหัวฝาย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 บ้านป่าซางงาม
สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า กรณีผลกระทบจากสารหนูเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำ มีสาเหตุหลักมาจากการทำเหมืองในพื้นที่ต้นแม่น้ำสาย แม่น้ำรวกและแม่น้ำกก ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค วิถีชีวิตประมง รวมถึงการเกษตร โดยรัฐบาลไทยต้องเร่งเจรจา 4 ฝ่าย แก้ไขปัญหาเหมืองปล่อยสารพิษลงแม่น้ำกก
ขณะเดียวกันยังได้ออกมาเปิดเผยภาพ พบปลาติดเชื้อ ในแม่น้ำกกและแม่น้ำโขง ในพื้นที่แม่น้ำโขงบ้านหาดไคร้, แม่น้ำโขง หน้าวัดแก้ว, หาดฮ่อน แม่น้ำโขงบ้านหัวเวียง เชียงของ, จุดปากแม่น้ำกก, บริเวณปากแม่น้ำคำ บ้านสบคำ และจุดฝายป่ายางมน บ้านเมืองงิม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน-17 พฤษภาคม 2568

เศรษฐกิจเชียงรายระส่ำ
ตัวเลขโครงสร้างเศรษฐกิจมวลรวมของจังหวัดเชียงราย มีมูลค่าประมาณ 1.6 แสนล้านบาท เป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือรองจากเชียงใหม่และนครสวรรค์ ส่วนใหญ่รายได้หลักคือภาคการท่องเที่ยว ที่มีถึง 35% ของ GPP มีนักท่องเที่ยวมาเยือนสูงถึง 5-6 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 58,000 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 ของภาคเหนือ เป็นรองเพียงเชียงใหม่ รองลงมาภาคการเกษตร มีมูลค่า 45,000 ล้านบาท คิดเป็น 27% และภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่า 36,000 ล้านบาท หรือ 22%
นอกจากนั้นยังส่งผลต่อการใช้น้ำภาคการเกษตรที่มีมูลค่ารองลงมาในการนำน้ำจากแม่น้ำกก และแม่น้ำสาขามาหล่อเลี้ยงภาคการเกษตรในพื้นที่ และการประมงในแม่น้ำ ซึ่งกระทบตรงต่อการบริโภคสินค้าการเกษตรของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว อันจะประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมา ภาพรวมไม่น้อยกว่า 60% ของ GPP หรือกว่า 1 แสนล้านในภาพรวม ยังไม่รวมถึงผลกระทบเชิงสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่จะดูแลรักษาในระยะยาว
ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นหัวใจเศรษฐกิจของเชียงรายที่ไต่อันดับขึ้นมาเป็นจังหวัดอันดับที่ 5 ที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทย และมีสถิตินักท่องเที่ยวพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี