แม่สาย ไม่รอดน้ำท่วม ย้อนฟังคำพูดนักวิชาการ ยัน “ต้องย้ายเมือง”

น้ำท่วม แม่สาย 2568

กรณีสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน เมื่อเวลา 02.56 น. ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 ไหลเข้าท่วมในเขตพื้นที่เทศบาลแม่สาย โดยเทศบาลตำบลแม่สาย ได้มอบหมายให้งานป้องกันฯ สำนักปลัดเทศบาล เทศบาลตำบลแม่สาย ดำเนินการเเจ้งเตือนโดยเปิดเสียงไซเรนเตือนภัยและใช้รถประกาศเสียงตามสายแจ้งประชาชนให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์และยกของขึ้นสู่ที่สูงหรืออพยพชั่วคราวออกจากพื้นที่เสียง

เนื่องจากมีรายงานจากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติจุดที่ 1 บ้านโจตาดาที่เเจ้งเตือนว่าจะมีมวลน้ำมาสมทบอีกระลอกและดำเนินการเปิดประตูน้ำชลประทานคลอง RMC เพื่อเร่งระบายน้ำให้ลดระดับให้เร็วมากที่สุด โดยมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ชุมชนเเม่สาย ม.1) ต.เเม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ชุมชนเกาะทราย ม.7 และชุมชนไม้ลุงขน ม.10)

รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อเดือนเมษายน 2568 ระบุว่า แม่สายมีขนาดลำน้ำเดิมกว้างราว 150 เมตร และตื้นมาก ปัจจุบันความกว้างของลำน้ำเหลือเพียง 20 – 30 เมตรเท่านั้น ดังนั้นความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมก็จะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่บริเวณสายลมจอยเป็นพื้นที่เสี่ยงและจะถูกน้ำท่วมแน่นอน

ในข้อเท็จจริงคือ มีการรุกล้ำลำน้ำสายทั้งสองฝั่งทั้งเมียนมาและไทย ทุกคนรุกลำน้ำสาย ถ้าจะแก้ปัญหาได้จริง จำแป็นต้องย้ายเมืองในจุดที่รุกล้ำลำน้ำออกไปทั้งหมด และบริเวณนั้นให้ทำเป็น Flood Plain โดยต้องย้ายทั้งฝั่งไทยและท่าขี้เหล็ก จากลำน้ำระยะ 100 เมตรต้องออกไปอยู่ที่อื่น ซึ่งกรมโยธาวางแผนระยะยาวไว้แล้ว และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

รศ.ชูโชค กล่าวว่า พื้นที่ราว 90% เป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในระยะ 100 เมตร เป็นพื้นที่ลำน้ำสายเก่า ตลาดสายลมจอยทั้งตลาดอยู่ในท้องน้ำทั้งหมด การขุดลอกช่วยได้น้อย ถ้าน้ำมาเท่าปีที่แล้ว ต่อให้ขุดลอก ทำพนัง ก็ท่วมเหมือนเดิม จะหนักเท่าเดิม การขุดลอกวันนี้เป็นการเอาดินตะกอนออก ซึ่งพื้นที่น้ำหายไปประมาณ 70% อย่างไรก็ท่วม

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สทนช. อยู่ระหว่างจัดทำแผนขุดลอกแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก และแนวป้องกันชั่วคราวกึ่งถาวร ปัจจุบันได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินการแล้วจำนวน 74.8600 ล้านบาท ภายใต้กรอบการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่าง ประเทศไทย – สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

โดยประเทศไทยมีแผนการขุดลอกแม่น้ำรวก ความยาว 30.9 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2568 กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568 โดยกรมการทหารช่าง จะดำเนินการจำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณพนังกั้นน้ำชั่วคราวน้ำแม่สาย บริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ท่าขี้เหล็ก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จุดที่ 2 ขุดลอกแม่น้ำรวก ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และจุดที่ 3 ขุดลอกแม่น้ำรวก บ้านวังลาว ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผน และพร้อมรับมือในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้