WHA บินเจรจาร่วมหุ้นนิคมอุดรก.ค.นี้

“ดับบลิวเอชเอ” บินด่วนนัดเจรจานิคมอุตสาหกรรมอุดรร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ลุยลงทุนภาคอีสานต้นกรกฎาคมนี้

หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการส่งเสริมและสนับสนุนให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว และยุทธศาสตร์จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ประกาศเชิญชวนให้ภาคเอกชนยื่นเสนอพื้นที่มา และเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2557 กนอ.ได้ลงนามสัญญากับบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เพื่อดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จ.อุดรธานี โดยมีเอกชนผู้ลงทุนพัฒนาและให้บริการระบบสาธารณูปโภค บนพื้นที่ 2,219 ไร่ ต.โนนสูง และ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี มูลค่า 2,900 ล้านบาท

นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ผู้บริหารบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด จ.อุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 คณะผู้บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHA จะเดินทางมาเยี่ยมชมพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้แก่ พื้นที่โครงการ แหล่งน้ำดิบ พื้นที่จัดตั้งศูนย์ logistic จากนั้นผู้บริหารดับบลิวเอชเอจะสำรวจสถานที่สำคัญในรอบตัวเมืองอุดรธานี และช่วงบ่ายจะหารือแนวทางการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กับบริษัท ดับบลิวเอชเอฯ ด้านการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคแบบครบวงจรในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

สำหรับความก้าวหน้ากรณีที่ทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีได้เข้าพบทางผู้บริหาร กนอ. เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดตั้งเขตปลอดอากร (free zone) ได้ข้อสรุปว่า จะจัดตั้งเป็นเขตปลอดอากรของกรมศุลกากร

อนึ่ง ในส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ นั้น คาดว่ากลางปี 2562 จะแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แล้วว่า ปลายปีนี้ถึงต้นปี 2562 ทางนิคมจะสั่งเครื่องจักร เช่น เครื่องบำบัดน้ำเสีย เครื่องสูบน้ำเข้ามา คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนของสาธารณูปโภค ประมาณ 1,200 ล้านบาท และบริษัทมีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในอนาคตอีกด้วย

ปัจจุบันสภาพพื้นที่และถนนหลักภายในโครงการมีการปรับเกรดแล้วเสร็จ 80% สถานีไฟฟ้าย่อยภายในโครงการ ขนาด 100 MW มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2561 ตามแผนจะมีการเชื่อมโยงกระแสไฟกับจังหวัดสกลนคร ส่วนอาคารสำนักงานเตรียมว่าจ้างผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์หรือผ่านการทำงานเกี่ยวกับโครงการนิคมอื่น ๆ มาดำเนินการ โดยจะมีสายไฟฟ้าอยู่ใต้ดิน คาดว่าจะใช้งบฯก่อสร้าง 40-50 ล้านบาท

ส่วนพื้นที่ติดทางรถไฟกว่า 400 ไร่ เพื่อรองรับการเป็นลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (container yard-CY) และบ่อเก็บน้ำสำรองจำนวน 3 บ่อ พื้นที่ 110 ไร่ ความจุรวม 1,600,000 ลบ.ม. ซึ่งทางนิคมได้เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาดำเนินโครงการท่าเรือบก หรือ inland container depot : ICD ในพื้นที่ของนิคม และบรรจุลงในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งล่าสุด นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. ได้ทำหนังสือถึงบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี แจ้งว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม จึงเสนอคณะกรรมการกำกับงานศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟฯ กำหนดพื้นที่ CY จากบริเวณสถานีหนองตะไก้ เป็นนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยบรรจุไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟฯ ระยะกลาง ปี 2565-2569 และเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาดำเนินการต่อไป


สำหรับลาน ICD นั้นทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ลงพื้นที่ตรวจดูความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยเฉพาะพื้นที่ติดทางรถไฟกว่า 400 ไร่ ที่เสนอให้ทำเป็นลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (container yard-CY) ภายในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี