เอกชนอีสานเร่งฟื้นฟูกิจการหลังอุทกภัยใหญ่ จี้รัฐบริหารจัดการน้ำ-คุมเข้มผังเมือง

เอกชนอีสานเร่งฟื้นฟูกิจการหลังอุทกภัยใหญ่เริ่มคลี่คลาย วอนรัฐบาลทำจริงจังเรื่องบริหารจัดการน้ำ วางผังเมืองเข้ม ขณะที่การช่วยเหลือด้านการเงินต้องประเมินจากข้อเท็จจริงมากกว่าใช้หลักเกณฑ์ปกติ ด้านร้านค้ายังไม่กล้าสต๊อกของ หวั่นน้ำท่วมรอบใหม่

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)รายงานสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-3 ส.ค. 2560 ทำให้เกิดอุทกภัยและน้ำไหลหลาก 44 จังหวัด รวม 258 อำเภอ 1,167 ตำบล 8,198 หมู่บ้าน 43 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 385,824 ครัวเรือน 1,218,003 คน ผู้เสียชีวิต 23 ราย สูญหาย 2 คน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 34 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 10 จังหวัด เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด และภาคกลาง 1 จังหวัด แต่ยังต้องจับตาพายุฝนรอบใหม่ด้วย

ผลกระทบไม่ต่ำหมื่นล้าน

นายมงคล ตันสุวรรณ ประธานหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (มุกดาหาร สกลนคร นครพนม) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้คาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ประกอบการทั้งโรงแรม ที่พัก ท่องเที่ยว และเกษตรกร ประชาชน สำหรับเกษตรกรที่ทำประกันภัยไว้จะได้รับค่าชดเชยไร่ละ 1,260 บาท รวมถึงการจ้างรายวัน เมื่อธุรกิจถูกชัตดาวน์ พนักงานแทบไม่ได้ทำอะไร

ทั้งนี้มองว่าเบื้องต้นเอกชนต้องฟื้นฟูตัวเอง ซึ่งจะฟื้นฟูได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐและธนาคาร อาทิ การปล่อยกู้เพิ่มเติม การกำหนดวงเงินให้ครอบคลุมความเสียหาย และการยืดเวลาชำระหนี้ให้ยาวขึ้น เพราะภาคอีสานปัจจุบันเศรษฐกิจภาพรวมไม่โตมาก แม้ว่าจีดีพีภาพรวมประเทศจะอยู่ที่ 3.2% ขณะที่ภาคอีสานไม่ถึง แต่เราพออยู่ได้ก็มาเกิดน้ำท่วมซ้ำเติม

“ต้องขอความเห็นใจเรื่องการให้วงเงินที่เหมาะสมในการฟื้นฟู บางธนาคารให้รายละ 5 หมื่นบาท อาจเหมาะกับรายย่อย ๆ แต่สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ความเสียหายไม่น้อยกว่า 5-10 ล้านบาท ต้องประเมินจากข้อเท็จจริงมากกว่าใช้หลักเกณฑ์ปกติ”

นายมงคลกล่าวอีกว่า ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม รัฐบาลต้องคิดจริงจังเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะเรื่องผังเมืองต้องยกให้เป็นกระทรวงได้แล้ว เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการลงทุน บ้านเราลูบหน้าปะจมูก เช่น การตั้งห้างค้าปลีกที่ต้องอยู่ห่างเมืองไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร แต่เปิดช่องให้ทำประชามติ ซึ่งที่ผ่านมาก็ผ่านทุกห้าง แล้วการเข้ามาอยู่ใจกลางเมืองเป็นการเข้ามาทำลายนิเวศธุรกิจ ทำให้รายย่อยต่าง ๆ อยู่ไม่ได้ รวมถึงการก่อสร้างถมที่ยกสูงไปทับแก้มลิงธรรมชาติ และแก้ปัญหาด้วยการทำทางระบายน้ำซึ่งแออัด ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากในภาคต่าง ๆ หากเป็นอย่างนี้ระยะยาวประเทศไทยแย่แน่นอน

อีสานล่าง 2 ชะลอขนส่งสินค้า

ด้านนายวิทยา วิรารัตน์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดทางภาคอีสาน ขณะนี้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก มีเพียงพื้นที่การเกษตรของอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้รับความเสียหายประมาณ 1 พันไร่ ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมรับมือมวลน้ำจากสกลนคร โดยเฉพาะภาคการค้าตอนนี้ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่กล้าสต๊อกสินค้า ทำให้การขนส่งสินค้าชะลอตัว เพราะกังวลว่ามวลน้ำจะไหลบ่าเข้ามาในพื้นที่ แต่คาดว่าหากมวลน้ำผ่านไปแล้ว ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ขณะที่มาตรการฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด จะต้องดูว่าได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นหากร้านค้าใดได้รับผลกระทบ สินค้าเสียหาย ทางหอการค้าได้ติดต่อซัพพลายเออร์ เพื่อขอเปลี่ยนหรือเคลมสินค้า หากร้านค้าที่เสียหายมาก อาจจะช่วยเจรจากับธนาคารให้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรืองดดอกเบี้ย 1-2 เดือน

“มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจภาคอีสานตอนล่าง 2 นั้น ในไตรมาส 3 ดีกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นปีงบประมาณ หน่วยราชการต้องรีบใช้เงิน ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการซื้อขาย ส่งผลให้เกิดเงินสะพัดในตลาด ขณะเดียวกันกลุ่มหอการค้าพยายามจะจัดอีเวนต์เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและเปิดตลาดใหม่ ๆ โดยนำสินค้าจากนักธุรกิจ เอสเอ็มอี สินค้าโอท็อประดับ 5 ดาว มาเปิดตลาดในกลุ่มจังหวัด รวมถึงนำนักธุรกิจที่แข็งแรงและเติบโตไปจัดอีเวนต์ในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย” นายวิทยากล่าว

การค้าเสียหายหนัก – นอกจากภาคการเกษตร ปศุสัตว์จะเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว ภาคธุรกิจการค้าในเขตเมืองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยเฉพาะในตัวเมืองสกลนคร


โคขุนโพนยางคำกระทบ 50%

ด้านนายสุชิน วันนาพ่อ รองประธานกรรมการที่ 1 สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจการเลี้ยงโคขุนโพนยางคำได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดปัญหาน้ำท่วมวันที่ 29 ก.ค. 60 เป็นต้นมา โดยมีระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 3 เมตรในพื้นที่เขตปฏิบัติงานของสหกรณ์ทั้งในจังหวัดสกลนคร และนครพนม เนื่องจากโคไม่มีที่อยู่ และยังเริ่มขาดแคลนอาหาร เพราะไม่สามารถขนส่งอาหารเม็ดจากสหกรณ์ไปให้กับสมาชิก ซึ่งปกติจะต้องส่งอาหาร 3-4 หมื่นถุงต่อเดือน

ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกประมาณ 6,000 ราย จาก 22 กลุ่ม มีโคขุนในระบบกว่า 12,000 ตัว ซึ่งทุกเดือนจะมีการขุนโคเพิ่ม 800 ตัว/เดือน และนำเข้าโรงเชือด 650 ตัว/เดือน โดยมีอุปสรรคในการขนส่งเนื้อจากโรงเชือดและวัว เนื่องจากถนนบางสายถูกน้ำท่วมไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ขณะที่ผู้รับซื้อเนื้อโคก็ไม่สามารถเดินทางมารับเนื้อได้ บางรายจึงหยุดการขายในช่วงนี้ แต่ยังพอมีเนื้อที่มาจากห้องเย็นในจังหวัดส่งให้ตลาดใหญ่ที่วังทองหลาง สุขุมวิทได้ แม้จะเริ่มชะลอตัวลงก็ตาม

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ชัดเจน คาดว่าอยู่ในหลักล้านบาท เนื่องจากสมาชิกประมาณ 50% ถูกน้ำท่วมมากน้อยตามระดับพื้นที่ และยังต้องรอดูสภาพอากาศต่อไป