ตราดดันตั้ง100รง.สกัดน้ำมันกฤษณา

ไม้กฤษณา - จังหวัดตราดถือเป็น 1 ในจังหวัดที่มีการทำธุรกิจโรงงานสกัดน้ำมันจากไม้กฤษณาจำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งโรงงานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากพื้นที่ตั้งโรงงานบางส่วนติดปัญหาผังเมือง

ผู้ประกอบไม้กฤษณาจังหวัดตราดดันปลดล็อกผังเมืองรวมผุด “100 โรงงานสกัดน้ำมัน” รายย่อยในพื้นที่ อ.บ่อไร่ หลังเจอปัญหาเป็นพื้นที่สีเขียวพาดขาว ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทุกจำประเภท ชี้เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรไม่ก่อมลพิษ เผย 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไม้-น้ำมันกฤษณาอันดับ 3 ของโลก สร้างมูลค่ากว่า 10,000 กว่าล้านบาท แต่กำลังถูกคู่แข่งสำคัญ “เวียดนาม-จีน” แย่งตลาดหนัก พร้อมชง สมอ.ออกใบรับรองมาตรฐานแบ่งเกรดคุณภาพส่งออก

รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ระบุว่า จากการสำรวจโครงการพัฒนายกระดับศักยภาพสถานประกอบการ SMES วิสาหกิจชุมชน ในเชิงเทคนิคและมาตรฐานการผลิตด้วยนวัตกรรมสู่มาตรฐานสากล ประจำปีงบประมาณ 2561 ของธุรกิจไม้กฤษณา พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยผลิตและส่งออกไม้กฤษณาและน้ำมันกฤษณาเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท โดยแหล่งผลิตน้ำมันกฤษณาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงงานในจังหวัดจันทบุรีและตราด ปริมาณการผลิตรวม 41,248 มิลลิลิตร ทั้งนี้ จากประมาณการของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด ในภาคตะวันออกมีผู้ทำไม้กฤษณาและน้ำมัน 151 ราย จังหวัดตราด มีผู้ทำไม้กฤษณาประมาณ 60-70 รายมีรายได้ประมาณ 170 ล้านบาท/เดือน หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี แต่ระยะ 2 ปีที่ผ่านมารายได้ลดลง 25% เพราะประสบปัญหาการแข่งขันทางการตลาดจากเวียดนาม จีน ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ในจังหวัดตราดมีประมาณ 15-20 ราย

นายดำ พุทธเกษร ประธานกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสกัดน้ำมันไม้กฤษณาจังหวัดตราด กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้ประกอบการน้ำมันไม้กฤษณาในจังหวัดตราดได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสกัดน้ำมันไม้กฤษณาขึ้น โดยกฤษณาถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดตราด ชาวบ้านมีโอกาสพัฒนาน้ำมันกฤษณาส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกปีละหลายพันล้านบาท ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 70 ราย มีทั้งที่จดทะเบียนจัดตั้งโรงงานแล้วประมาณ 30-40 ราย ส่วนที่เหลือยังไม่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งโรงงานได้ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันไม้กฤษณาของสมาชิกเหล่านี้ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบ่อไร่ ซึ่งพื้นที่เกือบทั้งอำเภอเป็นพื้นที่สีเขียวพาดขาวที่ห้ามทำอุตสาหกรรมทุกจำพวก โดยปัจจุบันพื้นที่อำเภอบ่อไร่มีโรงกลั่นน้ำมันไม้กฤษณารายย่อยอีกประมาณ 50 รายที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคม เท่ากับในพื้นที่อำเภอบ่อไร่มีโรงกลั่นน้ำมันไม้กฤษณาที่รอการปรับแก้ผังเมืองเพื่อตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องรวม 100 ราย

ทั้งนี้ ภาครัฐน่าจะมีแนวทางแยกธุรกิจโรงงานกลั่นน้ำมันกฤษณาออกจากประเภทโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป โดยไม่ต้องรอแก้ไขผังเมืองรวม เนื่องจากกระบวนการผลิตไม่ได้ทำลายมลภาวะ ไม่มีน้ำเสีย ไม่มีกลิ่นหรือเสียงดังรบกวนเหมือนกับอุตสาหกรรมทั่วไป เพราะหากรอการจัดทำผังเมืองรวมฉบับใหม่ กว่าจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลานานหลายปี เพราะตอนนี้ผังเมืองรวมเพิ่งอยู่ระหว่างประชุมรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่

นายอดิศักดิ์ อุรเคนทร์ อุตสาหกรรมจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการต้องการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานสกัดน้ำมันกฤษณา 46 ราย แต่ยังไม่สามารถอนุญาตให้จัดตั้งโรงงานและให้ใบอนุญาต รง.4 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากพื้นที่ตั้งโรงงานโดยเฉพาะ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ซึ่งปลูกไม้กฤษณาจำนวนมาก ติดปัญหาผังเมืองรวมจังหวัดตราดเป็นพื้นที่สีเขียวพาดขาว ประเภทอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว ห้ามสร้างโรงงานทุกจำพวก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปลดล็อกเรื่องผังเมือง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไม้กฤษณาให้เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดตราดก่อน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การขอใบรับรองมาตรฐานการผลิต

“จังหวัดสนับสนุนการจัดตั้งคลัสเตอร์ ด้านองค์ความรู้ การลดต้นทุนการผลิตพลังงานในโรงงาน ให้ผลผลิตได้มาตรฐาน ผู้ประกอบการมีความตื่นตัว แต่การตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันมีปัญหาเร่งด่วนต้องปลดล็อกผังเมืองรวมจังหวัดก่อน อนาคตคลัสเตอร์ไม้กฤษณาจังหวัดตราดอาจจะมีการเชื่อมโยงกันในภาคตะวันออกเรื่องวัตถุดิบ นวัตกรรมการผลิต ตลาด ตลอดจนการออกใบรับรองมาตรฐาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเพราะคลัสเตอร์เพิ่งเริ่มต้นการพัฒนาในปี 2560-2561”

นายพิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มภาคตะวันออก 2 และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด กล่าวว่า จังหวัดตราดมีผู้ประกอบการน้ำมันกฤษณา 68 ราย มีพื้นที่ปลูก ประมาณ 5 ล้านต้น มีรายได้ประมาณ 170 ล้านบาท/เดือน หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งผู้ประกอบการมีการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรถูกต้องตามอนุสัญญาไซเตส (CITES) ดังนั้น ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราดจึงต้องการผลักดันให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)ช่วยตรวจสอบสารตกค้างในน้ำมันกฤษณาและกำหนดมาตรฐานกลางตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแบ่งเกรดน้ำมันตามคุณภาพ และออกใบรับรองการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลางและยุโรป เป็นการสร้างความเชื่อถือให้มาตรฐานของสินค้า และไม่ให้ถูกกดราคา และอนาคตมีแนวทางพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นตลาดกลางน้ำมันกฤษณา เนื่องจากไทยมีโรงงานสกัดน้ำมันกฤษณาที่ทันสมัย และมีวัตถุดิบมากกว่าประเทศอื่น ๆ

“ชาวบ้านบางกลุ่มปลูกแบบออร์แกนิกไร้สารเคมี แต่เมื่อส่งออกกลับถูกกดราคา อ้างว่าเป็นไม้ที่ใช้สารเคมี เป็นอันตรายทำให้ถูกกดราคา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราดได้สนับสนุนให้มีการก่อตั้งสมาคมไม้กฤษณาจังหวัดตราด เบื้องต้นต้องการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดทำมาตรฐานของน้ำมันกฤษณา แบ่งเกรดของน้ำมันตามคุณภาพ เกรด 1-4 และมีใบรับรองสำหรับผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน เพราะการทำตลาดต่างประเทศใบรับรองสำคัญมาก เป็นการสร้างความเชื่อถือให้มาตรฐานของสินค้าและไม่ให้ถูกกดราคา รวมทั้งการจัดหาตลาดให้ผู้ผลิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้โดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง”