รฟม.เร่งเดินหน้ารถไฟฟ้าเชียงใหม่ 8 หมื่นล้าน สายสีแดง-เริ่มก่อสร้างปี64

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ ว่าวันนี้ (5 กรกฎาคม 2561) คณะผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมคณะ ได้ร่วมประชุมหารือกับภาครัฐและเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ถึงการดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้อนุมัติมอบหมายให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินงาน ขณะนี้มีความคืบหน้าในหลายระดับ

โดยจะใช้กรอบแนวทางการพัฒนาตามแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การกำกับการศึกษาจัดทำแผนแม่บทฯดังกล่าวโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
ทั้งนี้ ลักษณะระบบขนส่งสาธารณะระบบหลักในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) มีความเหมาะสมกับเส้นทางในจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด

แบ่งเป็น 2 โครงข่ายคือ โครงข่าย A และ โครงข่าย B ซึ่งโครงข่าย A มีโครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างระดับดินและใต้ดิน 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงวิ่งแนวทิศเหนือ สายสีน้ำเงิน วิ่งแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก และสายสีเขียว วิ่งเชื่อมย่านธุรกิจ

ขณะที่โครงข่าย B ก็เป็นระบบ LRT ที่มี 3 เส้นทางเช่นกัน แต่วิ่งระดับดินทั้งหมด โดยทั้ง 2 ระบบหลักดังกล่าว จะเชื่อมต่อด้วยระบบรองและระบบเสริม ซึ่งจะใช้รถประจำทางเป็น Feeder

นายสาโรจน์ กล่าวอีกว่าจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบความเหมาะสมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ พบว่า โครงข่าย A มีความเหมาะสมมากที่สุดและมีแรงดึงดูดในการใช้บริการมากที่สุด โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้า (LRT) สายสีแดงเป็นสายแรก

“ภายในสิ้นปี 2561 จะจัดจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมออกแบบในรายละเอียด ซึ่งคาดว่าราวต้นปี 2562 บริษัทที่ปรึกษาจะลงพื้นที่และออกแบบรายละเอียดอย่างเต็มรูปแบบ และราวต้นปี 2563 จะนำเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติโครงการ จากนั้นราวกลางปี 2563 จะประกาศประกวดราคา โดยจะเริ่มการก่อสร้างได้ราวปี 2564 และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567” นายสาโรจน์กล่าว

ด้าน ดร.ทรงยศ กิจธรรมเกษร อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า โครงข่าย A ซึ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งผสมระดับดินและใต้ดิน ที่วางไว้ 3 สายหลัก มีมูลค่าการก่อสร้างเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานราว 80,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน) และมีมูลค่าการลงทุนระบบ Feeder อีกราว 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้โครงข่าย A สายสีแดง วิ่งแนวทิศเหนือ-ใต้ เริ่มต้นที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ผ่านศูนย์ราชการ ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ สิ้นสุดที่เส้นทางไปอำเภอหงดง (บริเวณห้างบิ๊กซี)