สมาคมท่องเที่ยวระยองขานรับEEC ปี”64เป้า6.4หมื่นล.-ปมขยะเสม็ดยังวังวน

เมืองระยองเผยความหลากหลายของการท่องเที่ยวด้วยแบรนดิ้ง "Surprise Rayong" ที่ไม่เพียงแต่ให้นักท่องเที่ยวนึกถึงเกาะเสม็ดเท่านั้น ยังมีถนนวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ทัวร์สวนผลไม้ สวนทุเรียนร้อยกว่าสายพันธุ์ สวนพฤกษศาสตร์บนพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดใน EEC สามารถล่องแม่น้ำชมเหยี่ยวแดงได้ มีศูนย์เพาะพันธุ์เต่าทะเลเกาะมันในเกาะทะลุ รวมไปถึงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวระยองปรับตัวตั้งเป้ารายได้เพิ่ม 12.7% หลังแผน EEC เดินเครื่องปี 2564 คาดรายได้ทะลุ 6 หมื่นล้านบาท ภาคเอกชนและรัฐเร่งประชาสัมพันธ์ “Surprise Rayong” สร้างการรับรู้แหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ชี้นักท่องเที่ยวจีนยังมาแรง พร้อมเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป สแกนดิเนเวียเพิ่ม เผยปัญหาขยะล้น “เกาะเสม็ด” ยังหนักอก 

นายปริย ตัณฑเกษม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จังหวัดระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาใน 3 จังหวัด (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประมาณ 29.9 ล้านคน โดยจังหวัดระยองมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวทั้งหมดอยู่ที่ 26.4% หรือประมาณ 7 ล้านคน เมื่อเกิดแผนพัฒนา EEC จนถึงปี 2564 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาใน 3 จังหวัดนี้ 46.72 ล้านคน หากจังหวัดระยองยังคงมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวเท่าเดิมจะอยู่ที่ 12.3 ล้านคน ด้านรายได้คาดการณ์จากทั้ง 3 จังหวัดในปี 2560 อยู่ที่ 285,572 ล้านบาท ระยองมีมาร์เก็ตแชร์ 12.7% หรือประมาณ 30,641 ล้านบาท และหากตั้งเป้ารายได้เท่าเดิมในปี 2564 มูลค่าด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดระยองจะอยู่ที่ 64,590 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการด้านธุรกิจการท่องเที่ยวด้านต่าง ๆ เริ่มปรับตัวเพื่อพัฒนาตลาดท่องเที่ยวเมืองระยองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง มีสมาชิกประมาณ 180 ราย มาจาก 6 กิจการ ได้แก่ ร้านอาหาร บริษัททัวร์ ธุรกิจสินค้าโอท็อป ธุรกิจภาคเกษตร และการท่องเที่ยว พร้อมทั้งเข้าไปส่งเสริมนโยบายเพื่อร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานระยอง และท่องเที่ยว

และกีฬาจังหวัดระยอง ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการไปโรดโชว์ทั่วทุกภูมิภาคเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัด ทำให้สมาคมเป็นที่ยอมรับ เมื่อเกิด EEC ทุกหน่วยงานจึงเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ทั้งด้านคมนาคม วัฒนธรรม โดยร่วมกันชูเรื่องความหลากหลายของการท่องเที่ยวเมืองระยองด้วยคำว่า “Surprise Rayong” เพื่อให้นักท่องเที่ยวนึกถึงเกาะเสม็ด 

และยังมีถนนวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ทัวร์สวนผลไม้ สวนทุเรียนร้อยกว่าสายพันธุ์ สวนพฤกษศาสตร์บนพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดใน EEC และสามารถล่องแม่น้ำชมเหยี่ยวแดงได้ มีศูนย์เพาะพันธุ์เต่าทะเลที่เกาะมันใน เกาะทะลุ ซึ่งคำนี้เป็นแบรนดิ้งการท่องเที่ยวของจังหวัดระยอง

นอกจากนี้ ในแผน EEC ยังชูให้ระยองเป็น biz city จากการเป็นแหล่งรวมของสถานประกอบการจากนักลงทุนทั่วโลกที่เข้ามาลงทุน สิ่งที่ตามมาคือ การประชุมสัมมนา การศึกษาดูงาน ขณะเดียวกัน EEC ยังชูสโลแกนว่า B-leisure destination คือ หลังการทำงานก็ต่อด้วยท่องเที่ยว

โดยภาพรวมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี 3-5% โดยสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทยมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศอันดับ 1 คือ ชาวจีน นิยมมาเที่ยวเกาะเสม็ด 

ถัดมาเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น เข้ามาพร้อมการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมภายในตัวเมือง เฉลี่ยค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 2,370 บาท/คน/วัน และสิ่งที่เพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่คือการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและสแกนดิเนเวียให้มากขึ้น 

ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยกับนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเที่ยวระยองแบบวันเดย์ทริปเท่านั้น

ด้านผู้ประกอบการโรงแรมที่พักมองว่ามาร์เก็ตแชร์ในการรับนักท่องเที่ยวของเมืองระยองยังสามารถเติบโตได้อีก เริ่มมีการขยับขยายทั้งขนาดพื้นที่ การขยายเชนโรงแรม มีการรีโนเวต การลงทุนเพิ่มขึ้น 

ส่งผลให้ราคาที่ดินไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จากปีที่แล้วไร่ละ 2 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 2.8-2.9 ล้านบาท และโรงแรมที่พักยังขยายกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเริ่มมีการรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มเวดดิ้งอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหม่สำหรับจังหวัดระยอง

“ตลาดเวดดิ้งอินเดียมาครั้งหนึ่งปิดโรงแรม 3-4 คืน เป็นตลาดที่มีการใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างสูง ทั้งที่แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีเพราะยุ่งยาก แต่ปัจจุบันตลาดอินเดียมีหลายระดับที่ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสนใจ ตลาดจีนเองเริ่มพัฒนาเข้ามาพักยังโรงแรมจาก 1 คืนเป็น 2 คืน สามารถจ่ายค่าห้องพักได้ในราคาที่สูงขึ้น บางครั้งมีหน่วยงานมาประชุมสัมมนามีการท่องเที่ยวต่อ ร้านค้า ร้านอาหารได้รับการใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย ถึงอย่างไรก็ตาม ตอนนี้นักท่องเที่ยวที่มาลงอู่ตะเภา 98% จะเลี้ยวไปที่พัทยา ระยองอาจจะยังน้อยอยู่ เราต้องค่อย ๆ สร้างการรับรู้และรอดูความชัดเจน ณ วันนี้”

ทั้งนี้ ตัวเลขจำนวนห้องพักที่รองรับนักท่องเที่ยวของจังหวัดระยอง จากข้อมูลกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในปี 2559 อยู่ที่ 14,318 ห้อง แต่ยังมีอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ เช่น โรงแรมบนเกาะเสม็ด ถึงกระนั้นอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 67% ตลอดทั้งปี และแนวโน้มในปี 2561 ตลาดการท่องเที่ยวของเมืองระยองเองค่อนข้างดี 

ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือท่องเที่ยวกลุ่มพักผ่อนทั่วไป (เลเชอร์) เมื่อเข้าช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย ส่วนในเดือนมิถุนายน-ธันวาคม จะเป็นนักท่องเที่ยวทัวร์สวนผลไม้ นอกจากนี้ มีลูกค้ากลุ่มคอร์ปอเรตเข้ามาเติมอัตราการเข้าพักในช่วงวันธรรมดา

อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของจังหวัดระยองที่จะมาพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่ EEC มีอยู่หลายปัจจัย เช่น 1.เรื่องของน้ำประปาที่จะขึ้นสู่เกาะเสม็ดที่ผู้ประกอบการต้องขนน้ำจากฝั่งเข้ามาในเกาะเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว 2.เรื่องสถานีรถไฟความเร็วสูงจากอู่ตะเภาที่จะเชื่อมมาสู่ระยอง ที่ถูกตัดออกไป ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะทำให้การท่องเที่ยวพัฒนาขึ้น และ 3.ปัญหาเรื่องขยะของเกาะเสม็ด แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของระยองที่มีประมาณ 9 ตัน/วัน ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเกาะที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.ระยอง) ได้งบประมาณของ EEC มาประมาณ 90 กว่าล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาในส่วนนี้