ธ.ก.ส.หนุนพัฒนา 4 ด้าน เปิด “เกาะยาวน้อย” ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยว

เมื่อพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวในแถบทะเลอันดามัน หลายคนอาจจะลืมนึกถึงจังหวัดพังงา หนึ่งในจังหวัดที่มีเกาะน้อยใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับจังหวัดกระบี่ และหนึ่งในนั้นมี “เกาะยาวน้อย” ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบด้านท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน ป่าต้นน้ำ สัตว์ป่า และนกนานาชนิด

โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เข้าไปร่วมให้การสนับสนุนเงินทุนในโครงการต่าง ๆ และปล่อยสินเชื่อให้คนในชุมชนสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว

“อภิรมย์ สุขประเสริฐ” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. บอกว่า ในปี 2561 ธ.ก.ส. มีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนต้นแบบ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่การเป็นชุมชนอุดมสุขใน 4 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประเพณีวัฒนธรรม จำนวน 800 ชุมชน พร้อมทั้งเชื่อมโยงไปสู่เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจำนวน 35 ชุมชน โดยชุมชนจะเป็นผู้กำหนดการบริหารจัดการ ส่วน ธ.ก.ส.จะช่วยสนับสนุนส่วนที่ขาดแคลนและนำความรู้เข้าไปช่วยพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนโครงการอนุรักษ์นกเงือก การจัดตั้งกองทุนธนาคารปูม้า การแปรรูปอาหารทะเล ยกระดับเป็นผู้ประกอบการ SMEs การเลี้ยงปลาและกุ้งมังกรในกระชัง เพื่อผลิตสินค้าและบริการรองรับนักท่องเที่ยว เช่น การทำผ้าบาติก ที่พักแบบโฮมสเตย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนของเกาะยาวไปแล้ว เป็นจำนวนเงิน 2.39 ล้านบาท

“ธนัชญา ดีช่วย” ผู้จัดการสาขา ธ.ก.ส. สาขาเกาะยาวน้อย จ.พังงา เล่าว่า นอกจากเงินจำนวน 2.39 ล้านบาทแล้ว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ทาง ธ.ก.ส.ได้มอบทุนจำนวน 25,000 บาท ให้กับชุมชนในการสนับสนุน 2 โครงการ แบ่งเป็นโครงการธนาคารปูม้า 15,000 บาท

โครงการจัดสร้างบ้านให้นกเงือกของเกาะยาวน้อย 10,000 บาท โดยร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเกาะยาวน้อยเป็นชุมชนท่องเที่ยวเพียงแห่งเดียวในพื้นที่การดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวใหญ่ และตำบลพรุใน

“ตำบลที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดประมาณปี 2557-2559 คือเกาะยาวน้อย แต่เมื่อถึงปี 2560 ถึงปัจจุบันทางเกาะยาวใหญ่จึงเริ่มมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นตามมา เพราะในพื้นที่เกาะยาวใหญ่มีอยู่ 2 ตำบล คือตำบลเกาะยาวใหญ่ กับตำบลพรุใน ซึ่งมีเนื้อที่มากกว่าเกาะยาวน้อย และมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น สิ่งที่บ่งบอกว่าการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส.ประสบความสำเร็จคือ เศรษฐกิจดีขึ้น สังเกตได้จากความเจริญในด้านการประกอบอาชีพ ทั้งการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ มีการสร้างโฮมสเตย์ รวมถึงการประมงที่ทาง ธ.ก.ส.ได้ขยายสินเชื่อเกี่ยวกับประมง ทำให้ชาวบ้านมีการซื้อเรือประมงเพิ่มขึ้น ด้านการลงทุนส่วนใหญ่คนที่เข้ามาลงทุนเป็นคนในพื้นที่ มีทุนต่างจังหวัดเช่นภูเก็ตบ้าง ขณะที่นักลงทุนต่างชาติมีไม่ถึง 3% รวมแล้วเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว การประมง การบริการด้านการท่องเที่ยวเติบโตจากปีที่แล้วประมาณ 5%”

“สิทธิชัย ศักดา” ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา บอกว่า ทิศทางการท่องเที่ยวของอำเภอเกาะยาว และเกาะอื่น ๆ ในเขตจังหวัดพังงามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เขาตะปู เกาะปันหยี หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน ตั้งแต่ปี 2555 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.6 ล้านคน และตัวเลขล่าสุดในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวรวมเพิ่มเป็น 4.6 ล้านคน สัดส่วนท่องเที่ยวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวจากยุโรปมากถึง 3.3 ล้านคน มี

นักท่องเที่ยวคนไทยเพียง 1.3 ล้านคนเท่านั้น ทั้งที่หมู่เกาะ และทะเลในจังหวัดพังงาสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น เรียกได้ว่าเป็น “มัลดีฟเมืองไทย” เลยก็ว่าได้

สำหรับอำเภอเกาะยาว ทั้งเกาะยาวน้อย-เกาะยาวใหญ่ นักท่องเที่ยวจากประเทศทางยุโรปไม่เคยลดน้อยลง กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และเริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามามากขึ้น ทางจังหวัดเองมีแผนสนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเรื่องการพัฒนาถนน การทำห้องน้ำสาธารณะตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การพัฒนาบุคลากร และเน้นเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจในช่วงไฮซีซั่นมารองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างเพียงพอ

“แหล่งท่องเที่ยวที่สร้างเม็ดเงินให้จังหวัดพังงามากที่สุดคือ อ่าวพังงา เพราะสามารถเที่ยวได้ทั้งปี ถัดมาคือหมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน เที่ยวได้ 7 เดือน ทั้งยังมีความโดดเด่นด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีเอกลักษณ์อีกมากมาย รายได้รวมทั้งจังหวัดในปี 2560 อยู่อันดับที่ 8 ของประเทศ คาดว่าปีนี้น่าจะขยับขึ้นไปอันดับที่ 6 หรือ 7 มูลค่ารวมน่าจะประมาณกว่า 4.5 พันล้านบาท มากกว่าตัวเลขปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ตอนนี้โรงแรมเชนใหญ่ ๆ มาติดต่อทางจังหวัดหรือทางอำเภอเพื่อขออนุญาตก่อสร้างที่พักโรงแรม โดยเฉพาะที่เขาหลัก คาดว่าการก่อสร้างที่พักโรงแรมจะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 10% ทำให้ราคาที่ดินในส่วนของเกาะยาวและเขาหลักเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5-10 ล้านบาทต่อไร่”