กรมอุทยานฯไฟเขียว”เฉลิมชัย”ทุ่ม10ล้าน สร้างศาลา-อนุสรณ์สถานจ่าแซมถ้ำหลวง

ผู้สื่อข่างรายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา ที่สมาคมขัวศิลปะ บ้านขัวแคร่ ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมชัวศิลปะพ พร้อมด้วยศิลปินชาวเชียงรายหลากหลายแขนงได้ไปรวมตัวเพื่อวาดภาพ “เดอะฮีโร่” ใบใหญ่ขนาดความยาว 13 เมตร กว้าง 3 เมตรเท่าจำนวนทีมยาวเชนหมูป่าอะคาดามี 13 คนที่ได้รับการช่วยเหลือจากการติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย จนปลอดภัยทุกคน

โดยกิจกรรมมีการใช้สีน้ำวาดบนผืนผ้าใบเป็นรูปเหตุการณ์ ตั้งแต่การติดถ้ำของทีมฟุตบอล จนถึงปฏิบัติการช่วยเหลือและรูปบุคคลต่างๆ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่ระดมกำลังกันเข้าไปช่วยเหลือจนทั้งหมดให้ปลอดภัยและนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในปัจจุบัน

โดยอาจารย์เฉลิมชัยได้เริ่มวาดภาพของจ่าเอกสมาน กุนัน หรือจ่าแซม นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ กองทัพเรือ ที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการช่วยเหลือดังกล่าวก่อนที่ศิลปินคนอื่นๆ จะทะยอยวาดภาพทั้งหมดโดยใช้ระยะเวลาถึงวันที่ 15 ก.ค.นี้ จึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยตลอดกิจกรรมศิลปินต่างสวมเสื้อยืดสีขาวมีข้อความบนเสื้อว่าฮีโร่และภาพเป็นสัญลักษณ์ด้วย

วันเดียวกันอาจารย์เฉลิมชัยและศิลปินได้ร่วมกันแถลงว่าจะมีการสร้างศาลายาว 20 เมตร ห้องน้ำ 20 ห้อง บริเวณด้านหน้าถ้ำหลวงภายในวนอุทยานฯ และทำรูปปั้นขนาด 1 เท่าครึ่งของจ่าเอกสมานไว้บริเวณด้านหน้าศาลาดังกล่าวด้วย ส่วนภายในศาลาจะนำภาพวาดขนาดยาว 13 เมตรที่แล้วเสร็จดังกล่าวไปจัดแสดง

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่าตนเกรงว่าเมื่อเวลาผ่านไปผู้คนจะหลงลืมเรื่องนี้ไปดังนั้นจึงรีบดำเนินการโดยใช้งบประมาณส่วนตัวประมาณ 10 ล้านบาท สร้างอนุสรณ์สถานดังกล่าวออกแบบโดยอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินชาวเชียงรายผู้ชำนาญศิลปะเกี่ยวกับไม้และสามารถออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติของวนอุทยานดังกล่าวได้อย่างลงตัว ภายในนอกจากจะมีภาพไปจัดแสดงยังมีรูปถ่ายปฏิบัติการที่จะมีการขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั่้้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ภายใต้ศิลปะ ที่มีความสุนทรียภาพให้ผู้คนได้ไปศึกษา รวมทั้งยังจะสร้างรูปปั้นของจ่าแซมไว้ด้านหน้าขนาด 1 เท่าครึ่งของคนจริงคาดว่าจะสูงประมาณ 2.40 เมตร แต่จะใช้ระยะเวลาในการจัดทำแบบ 2 เดือนกว่าและหล่อด้วยโลหะแล้วเสร็จราวเดือน ก.พ.2562

“ดังนั้นจะทำเป็นฐานไว้ด้านหน้าก่อน ส่วนศาลาจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนเพื่อให้ทันการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติของ จ.เชียงราย ช่วงเดือน พ.ย.นี้ และผู้คนจะได้ไปเยือนเพื่อชมก่อนได้ จึงเรียกได้ว่าสถานที่แห่งนี้จะมีครบทั้งด้านจิตรกรรม ปฏิมากรรมและสถาปัตยกรรมอย่างแท้จริง”

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันได้รับการอนุญาตจากกรมวนอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เจ้าของสถานที่ให้เข้าไปจัดสร้างแล้วโดยตนและอธิบดีกรมได้เดินทางไปดูพื้นที่ในวันที่ 15 ก.ค.2561 จากนั้นศิลปินจะเริ่มก่อสร้างทันทีที่เลือกสถานที่และได้รับอนุญาตให้สร้างได้ โดยตนจะมอบเงินล่วงหน้าให้อาจารย์สมลักษณ์ก่อนจำนวน 1 ล้านบาท จากนั้นหากไม่พอก็ไปรับเพิ่มเติมอีกได้จนกว่าจะสร้างแล้วเสร็จ เมื่อแล้วเสร็จก็ให้รัฐบริหารจัดการซึ่งตนก็ยังกังวลอยู่ จึงจะจัดหารายได้ด้วยการจัดทำโปสเตอร์ โปสการ์ด ของฝากของที่ระลึก ฯลฯ จำหน่ายภายในศาลาเพื่อให้มีรายได้ให้เจ้าหน้าที่ได้นำไปบริหารจัดการต่อไป

ด้านอาจารย์สมลักษณ์ กล่าวว่าศาลาดังกล่าวศาลาดังกล่าวเป็นรูปทรงศิลปะล้านนาร่วมสมัยหลังคา 2 ชั้น มีช่องสำหรับระบายอากาศระหว่างหลังคา ไม้ที่ใช้เป็นไม้เก่า เช่น เสาบ้านเก่า ฯลฯ พื้นเป็นคอนกรีตซึ่งจะมีความคงทนและงดงามเข้ากับธรรมชาติของป่าไม้และขุนเขา ที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน การก่อสร้างก็ระดมศิลปินโดยไม่คิดค่าจ้างใดๆ ทั้งสิ้นด้วย

“ตลอดระยะเวลาการสร้างผลงานทางศิลปะ บรรดาศิลปินได้ทุ่มเทอย่างเสียสละ แม้แต่ชาวบ้านข้างเคียงก็ทำอาหารมาเลี้ยงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และภาคเอกชนก็สนับสนุนน้ำดื่มอาหารให้ครบถ้วนด้วย”าจารย์สุวิทย์กล่าว