เปิดแผนหมื่นล. “ครม.สัญจรอุบลฯ” ของบฯ 12 ถนน-สนามบินใหม่เชื่อมอีสานล่าง

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค. 2561 พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ มีพื้นที่ติดกับ สปป.ลาว กัมพูชา มีจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนรวม 9 แห่ง ส่งผลให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอินโดจีน ดังนั้นจึงเตรียมเสนอของบประมาณการในการพัฒนาโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การแก้ไขอุทกภัย การยกระดับการผลิต การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการท่องเที่ยว รวมงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท

เร่งถนน 4 เลนเชื่อมอีสานล่าง

การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการค้าชายแดนได้เสนอของบประมาณในการเร่งรัดขยายถนนเป็น 4 ช่องทาง 12 สาย คือ 1) ทางหลวงหมายเลข 2169 ยโสธร-เลิงนกทา 2) ทางหลวงหมายเลข 2083 และ 2351 มหาชนะชัย-ค้อวัง-ยางชุมน้อย 3) ทางหลวงหมายเลข 202 ตอนสะพานคลองลำเซ-ปทุมราชวงศา ระยะทาง 15 กม. และทางหลวงหมายเลข 202 ยโสธร-อำนาจเจริญ ระยะทาง 31.925 กม. 4) ถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลฯ ฝั่งตะวันออก ทางหลวงหมายเลข 231

5) ทางหลวงหมายเลข 2178 วารินชำราบ-กันทรลักษ์ 6) ทางหลวงหมายเลข 292 ทางเลี่ยงเมืองยโสธร 7) ขยายผิวจราจรสาย อจ.3022 แยก ทล.212 บ้านพุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ ระยะทาง 4.22 กม. 8) ศึกษาการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี 9) ศึกษาการก่อสร้างถนนเชื่อมสนามบินอุบลราชธานี ระยะทาง 2.518 กม. 10) ทางหลวงหมายเลข 220 ตอนวังหิน-ขุขันธ์ 11) ทำเกาะกลางทางหลวงหมายเลข 2050 อุบลฯ-ตระการพืชผล และ 12) เร่งรัดถนนวงแหวนด้านทิศเหนือ จ.ศรีสะเกษ ระยะทาง 15 กม.

นอกจากนี้ ขอรับสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 3 แห่ง คือ ขอทำเกาะกลางทางหลวงหมายเลข 217 วารินชำราบ-ช่องเม็ก, ขอขยายทางหลวงหมายเลข 221 ตอนศรีสะเกษ-ภูเงิน-กันทรลักษ์-เขาพระวิหาร ระยะทาง 50 กม. เป็น 4 เลน, ขอขยายความกว้างทางหลวงหมายเลข 2112+2222 เขมราฐ-โขงเจียม-พิบูลมังสาหาร, ขอพัฒนาชายแดน “ช่องเม็ก” ให้เป็น “เมืองศูนย์การค้าชายแดน”, พัฒนาวิมานพญาแถน จ.ยโสธร โดยย้ายเรือนจำเพื่อปรับภูมิทัศน์ และศึกษาออกแบบอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน ให้เป็นแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวของจังหวัดอำนาจเจริญ

ชง “เลิงนกทา” สนามบินแห่งที่ 2

สำหรับโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) เร่งรัดการขยายสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี ให้เสร็จเร็วขึ้น จากเดิมจะเสร็จปี 2565 ประกอบด้วย ลานจอดเครื่องบินให้รองรับเครื่องโบอิ้ง 737 จาก 5 ลำ เพิ่มเป็น 10 ลำ, สะพานเทียบพร้อมส่วนต่อเติม 2 ตัว, ลานจอดรถยนต์ 4 ชั้น และปรับปรุงต่อเติมร้านอาหาร, ปรับปรุงต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสาร จุดตรวจรถยนต์ และตรวจค้นบุคคล

2) เร่งรัดศึกษา “สนามบินมุกดาหาร” เพื่อนำผลศึกษามาพิจารณาประกอบข้อเสนอที่ขอให้พิจารณาความเป็นไปได้เพิ่มเติมในส่วน “สนามบินเลิงนกทา” เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยลดความหนาแน่นสนามบินอุบลราชธานี อยู่ใกล้กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจมุกดาหาร ไม่มีปัญหาด้านพื้นที่ และใช้งบประมาณในการพัฒนาน้อย

ส่วนการเร่งรัดโครงข่ายคมนาคมทางราง แบ่งเป็น 2 โครงการ 1) ศึกษาโครงการรถไฟทางคู่ วารินชำราบ-ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี และ 2) ศึกษาความเป็นไปได้โครงการรถไฟสถานีวารินชำราบ-อำนาจเจริญ-เลิงนกทา เชื่อมโครงการรถไฟทางคู่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

เป้าฮับนวัตกรรมเกษตรแปรรูป

การพัฒนาแหล่งน้ำ กลุ่มจังหวัดมีพื้นที่เกษตรรวม 13.818 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทาน 1.08 ล้านไร่ แต่มีปัญหาการบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัย จึงเสนอของบประมาณ 3 ส่วน คือ 1) แยกเป็น แก้มลิง 20 โครงการ อาคารบังคับน้ำ 8 โครงการ ฝาย 3 โครงการ สูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์ 3 โครงการ ระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ 2 โครงการ 2) เพื่อแก้อุทกภัย มีประตูระบายน้ำ 4 โครงการ ระบบระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำ 1 โครงการ และ 3) ศึกษาความเหมาะสม 5 โครงการ คือ ทางผันน้ำฝั่งขวาลำน้ำมูล จ.อุบลราชธานี, ลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง (ร้อยเอ็ด-ยโสธร), ลำเซบาย, ลำเซบก และศึกษาความเหมาะสมการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนยโสธร

ด้านการยกระดับการผลิต เพื่อพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมการเกษตรแปรรูป บรรจุภัณฑ์และการเก็บรักษา จึงขอรับการสนับสนุน 2 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบด้านอาหาร ทั้งเนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง และขอรับการสนับสนุนยกระดับกลุ่มคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์

เพิ่มศักยภาพ รพ.รับผู้สูงวัย

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต 4 จังหวัด มีประชากรรวม 4.2 ล้านคน มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 13.4% และมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่มีโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 1,188 เตียง เพียงแห่งเดียว ให้บริการครอบคลุมถึง 8 จังหวัด รวมถึงผู้ป่วยประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้แออัด ไม่เพียงพอ จึงขอรับการสนับสนุนเพิ่มศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

รวมถึงการขอรับการสนับสนุนยกระดับศูนย์การแพทย์แผนไทย-พนา ให้เป็น “ศูนย์ศึกษาพัฒนาคุณภาพด้านการแพทย์แผนไทย” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงขอรับการสนับสนุนด้านครุภัณฑ์ในการพัฒนา “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม” ในส่วนห้องผ่าตัดสำหรับแพทย์เฉพาะทาง หู ตา คอ จมูก ระบบทางเดินปัสสาวะ และศัลยกรรมทั่วไป

ดัน “อำนาจเจริญ” เมืองสมุนไพรไทย

การประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอ 2 ประเด็น อาทิ ส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรตามนโยบายแปลงใหญ่ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในการยกระดับ จ.อำนาจเจริญให้เป็น “เมืองแห่งสมุนไพร” โดยจะร่วมบูรณาการทุกกระทรวงภายใต้ยุทธศาสตร์แผนแม่บทสมุนไพรแห่งชาติ

พร้อมทั้งพัฒนา 4 จังหวัดเป็นพื้นที่แห่งเกษตรอินทรีย์ ยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์จาก 300,000 ไร่ในปี 2560 เป็น 1,300,000 ไร่ในปี 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งปัจจุบันผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ปีละ 5,000 ตัน มูลค่า 2,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมวางเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์และสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่น ๆ ที่ได้มาตรฐานเป้าหมายรวม 4 ปี (2561-2564) จำนวน 1 ล้านไร่ โดยกำหนดจุดยืนการพัฒนา คือศูนย์กลางของนวัตกรรมเกษตรแปรรูปและเกษตรอินทรีย์

ก่อนหน้านี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อน โดยนำร่องเกษตรอินทรีย์ใน จ.ศรีสะเกษและยโสธร โดยยโสธรถือเป็นต้นแบบที่ดำเนินการพร้อมกันทั้งจังหวัด 89 กลุ่มตั้งแต่ปี 2560 บางส่วนได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จึงต้องพัฒนาสู่การรับรองต่อไป เน้นจัดอบรมให้ความรู้ สนับสนุนการรับรองมาตรฐาน กิจกรรมแปรรูป เชื่อมโยงการผลิตและการตลาดต่อไป

นอกจากนั้น ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจ ด้วยอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ปี 2561-2564 ประมาณ 1 ล้านไร่ และส่งออกผ่านประชารัฐ SMEs และวิสาหกิจชุมชน

ปัจจุบันมีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลก 318 ล้านไร่ใน 183 ประเทศ มูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรวม 3.0 ล้านล้านบาท สำหรับไทยมีพื้นที่ผลิตรวม 0.3 ล้านไร่ เป็นอันดับ 8 ของเอเชีย และอันดับ 60 ของโลก สินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยที่สำคัญ ได้แก่ กะทิ เครื่องแกง ซอส ข้าว มะพร้าวน้ำหอม ชา กาแฟ และสมุนไพร คิดเป็นมูลค่ารวม 2,310 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติจะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า การบริโภค และการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล