ล้งโวยใช้‘กม.ต่างด้าว’จับมั่ว อ้อนขอเดินสายรับจ้างเก็บผลไม้ข้ามเขต

อนุรักษ์ ทศรัตน์

ชาวสวนลำไยภาคเหนือโอดแรงงานขาด ค่าแรงพุ่ง ต้องจ่ายค่าหัวต่างด้าว 500 บาท/วัน ส่วนล้งโวยเจ้าหน้าที่รัฐจับมั่ว อ้อนรัฐผ่อนเงื่อนไขให้ต่างด้าวที่ใช้บอร์เดอร์พาสเดินสายรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย ทุเรียน มังคุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการล้งและผู้ส่งออกลำไยกำลังประสบปัญหาไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตพื้นที่เข้าไปทำงานนอกพื้นที่ที่มีการลงทะเบียนไว้ได้ ส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยฤดูกาลปี 2561/2562 ที่กำลังจากออกสู่ตลาดเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ ที่คาดว่าผลผลิตลำไยจะมีถึง 1.07 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.91% จากปีก่อน โดยเฉพาะภาคเหนือจะมากถึง 6.5 แสนตัน ล่าสุดผู้ประกอบการ ชาวสวนลำไย และล้งได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายมาโนช ไชย์สุวรรณ ผู้ประกอบการล้งลำไยและกรรมการสมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ กล่าวว่า ล้งและผู้ส่งออกลำไยประสบปัญหาไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตพื้นที่ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเรียกตรวจสอบและจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนใน จ.เชียงใหม่ และข้ามเขตไปทำงานในลำปาง 30 คน โดยให้เหตุผลว่าข้ามเขตนอกพื้นที่ที่ลงทะเบียนไว้ไม่ได้ และไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงาน

จึงประสานเจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัด และเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานเจรจาช่วยเหลือ เนื่องจากแรงงานทั้งหมดขึ้นทะเบียนมีเอกสารถูกต้อง และตาม พ.ร.บ.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ อนุญาตให้เคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตได้ไม่จำกัดพื้นที่ แต่ต้องมีเอกสารครบ หลังเจรจาแม้ไม่ได้ถูกปรับและจับกุม แต่แรงงานไม่สามารถเข้าเก็บลำไยได้ และถูกให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว

รัฐจึงควรทำความเข้าใจแนวปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะมีโทษหนัก นอกจากนี้เสนอเรื่องการทำแบบฟอร์มสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการล้ง/ผู้ส่งออก กับเจ้าของสวนว่ามีการซื้อขายจริง อีกทั้งมีใบมอบอำนาจตัวแทนนายจ้างที่จะพาแรงงานข้ามเขต เพราะนอกจากแรงงานเกษตรภาคอุตสาหกรรมก็กระทบด้วย

นายประเทือง คงรอด รองประธานองค์กรเครือข่ายผู้ปลูกและผลิตลำไยภาคเหนือ เปิดเผยว่า ชาวสวนลำไยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างมาก และเป็นปัญหาต่อเนื่องหลายปีแล้ว  โดยเฉพาะแรงงานรับจ้างเก็บผลผลิต คัดแยกลำไย และตัดแต่งกิ่ง เนื่องจากแรงงานไทยในท้องถิ่นหันไปทำงานอื่นที่มีรายได้ดีกว่า ส่วนแรงงานต่างด้าวหายาก และต้องจ้างในอัตราที่สูง 400-500 บาท/วัน เจ้าของสวนหลายรายต้องแก้ปัญหาด้วยการจ้างเหมาเก็บผลผลิตให้สามารถเก็บผลผลิตได้ทัน จึงอยากให้รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เช่น เปิดรับอาสาสมัครเก็บลำไย จ้างนักเรียนนักศึกษาช่วงที่ผลผลิตออกจำนวนมาก

นายวัลลภ ปริวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด แห่งประเทศไทย กับนายภานุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด แห่งประเทศไทย กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ได้รับผลกระทบจากที่กฎหมายกำหนดว่าให้ต้องจ้างต่างด้าวภายใต้ MOU เท่านั้นจึงรับจ้างนอกพื้นที่ได้ แต่การนำเข้าแรงงานภายใต้ MOU ต้นทุนสูงถึงรายละ 2-3 หมื่นบาท ไม่สามารถใช้บอร์เดอร์พาสที่มีค่าใช้จ่าย 1,800 บาท/คนได้

ล้งใน จ.จันทบุรีซึ่งมี  200 แห่ง และที่ผ่านมาจะขนย้ายแรงงานต่างด้าวไปรับซื้อมังคุดใน จ.นครศรีธรรมราช ชุมพร รับภาระไม่ไหวต้องลดว่าจ้างแรงงานต่างด้าวลง ทำให้แรงงานขาด 1 หมื่นคน จึงมีล้งไปรับซื้อผลผลิตทางภาคใต้ลดลง 60-70% ส่งผลต่อเนื่องถึงเกษตรกร เพราะผลผลิตมีมากแต่ล้งรับซื้อเพื่อส่งออกลดทำให้ราคาตกต่ำ จนถูกมองว่ากดราคารับซื้อ เช่นเดียวกับปัญหาซึ่งเกิดขึ้นกับเจ้าของสวนลำไย จ.เชียงใหม่ ลำพูน ทั้งนี้ ได้เสนอให้ จ.นครศรีธรรมราชและชุมพรหาแนวทางปลดล็อกให้ใช้บอร์เดอร์พาสได้เช่นเดียวกับจันทบุรี

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้มีการกำหนดพื้นที่ หรือท้องที่ ในการทำงานของแรงงานต่างด้าว ทำให้แรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จัดทำทะเบียนประวัติ และขออนุญาตทำงาน สามารถทำงานได้ทุกพื้นที่กับนายจ้างตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต แต่ต้องทำงานตามที่ได้ขออนุญาตไว้เท่านั้น