RTC จีบจีนทำรถไฟรางเบาเชียงใหม่ ทุ่ม 5 พันล. เร่งศึกษา-ปั้น “ห้วยแก้ว” ฮับศก.

RTC วาดแผน 3-5 ปีผุดรถไฟฟ้ารางเบามูลค่า 5 พันล้านบาท เล็งร่วมทุนบริษัทผลิตรถไฟฟ้าจีน ประเดิมเส้นแรก “สนามบิน-นิมมานฯ” หนุนปั้นศูนย์เศรษฐกิจถนนห้วยแก้วฮับเชื่อมต่อการเดินทาง เผยผลงาน 3 เดือนรถโดยสารประจำทาง RTC City Bus มีผู้ใช้บริการกว่า 6.5 หมื่นคน เตรียมเพิ่มเส้นทางใหม่ R4 เชื่อม 3 มหาวิทยาลัย-ศูนย์ราชการ-ศูนย์ประชุมฯ

นายฐาปนา บุญยประวิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิสท์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (RTC : Regional Transit Corporation) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ใน 3-5 ปี RTC มีแผนงานที่จะมุ่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (tram) มูลค่า 5,000 ล้านบาท ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทผลิตรถไฟฟ้าของจีน ซึ่งให้ความสนใจร่วมเป็นพันธมิตรในการลงทุนครั้งนี้ ส่วนรูปแบบของการร่วมทุนที่ได้เจรจาในเบื้องต้น ฝ่ายจีนจะลงทุนตัวรถไฟฟ้า ส่วน RTC จะลงทุนระบบรางและการบริหารจัดการ

โดยในระยะ 3 ปีนับจากนี้จะเป็นช่วงเวลาของการศึกษาออกแบบ พัฒนาเส้นทาง และสำรวจรายละเอียดเชิงกายภาพของพื้นที่ เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการวางโครงข่ายระบบราง ซึ่งต้องหารือหน่วยงานท้องถิ่นหลายส่วน โดยคาดว่าพร้อมที่จะลงทุนพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาสายแรกภายใน 5 ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มทุนจีนดังกล่าวเป็นบริษัทผลิตรถไฟฟ้ารายใหญ่ มีฐานการผลิตอยู่ในจังหวัดสระบุรี โดยมีตลาดหลักครอบคลุมประเทศอาเซียนทั้งหมด

นายฐาปนากล่าวว่า โครงข่ายเส้นทางเดินรถไฟฟ้ารางเบาสายแรก เริ่มต้นจากสนามบินเชียงใหม่เชื่อมถนนนิมมานเหมินท์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีปริมาณการเดินทางที่ค่อนข้างหนาแน่นทุกวัน การเติมโครงข่ายรถไฟฟ้ารางเบาจะเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่มายังจังหวัดเชียงใหม่ และมีจุดหมายปลายทางเข้ามายังย่านถนนนิมมานเหมินท์ ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว และแหล่งช็อปปิ้ง นอกจากนี้ ยังรองรับการเดินทางของคนในท้องถิ่นว่าจะมีทางเลือกมากขึ้น

นายฐาปนากล่าวต่อว่า แผนงานสำคัญของ RTC อีกด้าน คือ การเร่งพัฒนาพื้นที่ถนนห้วยแก้วให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจมาตรฐานระดับโลก เนื่องจากย่านถนนห้วยแก้วถือเป็นแกนเศรษฐกิจสำคัญ 2 แกนมาบรรจบกัน คือ แกนถนนซูเปอร์ไฮเวย์และแกนถนนนิมมานเหมินท์ที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจ ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นย่านที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น ทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม พื้นที่ค้าปลีก ร้านอาหารที่มีมากกว่า 300 ร้าน เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจ และเป็นแรงส่งให้ย่านถนนห้วยแก้วกลายเป็นศูนย์เศรษฐกิจที่เติบโตได้ในอนาคต

ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจถนนห้วยแก้ว จำเป็นต้องนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางการคมนาคม (Transit-Oriented Development : TOD) มาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม แม้ถนนห้วยแก้วจะไม่ใช่ชุมทางการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ แต่ศักยภาพที่เด่นชัดเป็นถนนสายหลักที่มีการเดินทางขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (multimodal street) และเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางไปสู่สถานที่ต่าง ๆ อาทิ เขตเมืองเก่า ซูเปอร์ไฮเวย์ นิมมานเหมินท์ ในอนาคตพื้นที่ถนนห้วยแก้วจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ในเขตเมือง

โดยหลักการของ TOD คือจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงสุด ทั้งการพัฒนาทางเดินเชื่อมต่อ ทางเท้า การพัฒนาพื้นที่สีเขียว การจัดการขยะ ปัญหาน้ำทิ้ง น้ำเสีย จะทำให้เกิดพื้นที่พาณิชยกรรมใหม่ดึงดูดการลงทุนและคนเข้ามาทำงาน การลงทุนอาคารสำนักงานจะเพิ่มขึ้น จะมีการพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาหลักที่ตั้งอยู่บริเวณนี้ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ 2 ฝั่งถนนห้วยแก้วยังมีพื้นที่ว่างอยู่กว่าร้อยละ 40 สามารถลงทุนในกิจกรรมต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจได้

โดยเฉพาะนัยสำคัญยิ่งคือการเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนระบบรอง ทั้งรถโดยสารประจำทาง (city bus) และรถไฟฟ้ารางเบา (tram) จะเป็นกลไกสำคัญให้คนหันมาใช้บริการรถขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยถนนห้วยแก้วจะเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางขนส่งทางถนนที่ขนคนเข้ามา และสามารถเชื่อมต่อด้วยการเดิน-การปั่นจักรยานจะต้องพัฒนาให้เป็นถนนเดินได้ (walkable street) ที่มีประสิทธิภาพ

ในอีก 2 เดือนข้างหน้า RTC จะร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่จัดเวทีสัมมนาในประเด็นการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจถนนห้วยแก้วให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจมาตรฐานระดับโลก โดยการสนับสนุนของ สกว.จะเสนอให้มีการออกแบบศูนย์เศรษฐกิจถนนห้วยแก้วให้เป็นผังเฉพาะ เป็นต้นแบบของการพัฒนาย่านเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต

สำหรับรถโดยสารประจำทาง “RTC city bus” ซึ่งให้บริการในพื้นที่เขตอำเภอเมืองเชียงใหม่จำนวน 3 เส้นทาง คือ สาย R1 (สวนสัตว์-มช.-ห้างเมญ่า-คูเมือง-ขนส่งช้างเผือก-ร.ร.ปรินส์ฯ-เซ็นทรัลเฟสติวัล) สาย R2 (สนามบิน-คูเมือง-กาดหลวง-ช้างคลาน-หนองหอย-ร.ร.มงฟอร์ต-ห้างพรอมเมนาดา-ตลาดหนองหอย-ร.ร.มงฟอร์ตประถม-ร.ร.พระหฤทัย-ร.ร.เรยีนาฯ) และสาย R3 (สนามบิน-นิมมานฯ-ไนท์บาซาร์) ผลการดำเนินงานในช่วงระยะ 3 เดือนที่เปิดให้บริการ พบว่ามีอัตราผู้โดยสารใช้บริการราว 65,000 คน มีจำนวนรถทั้งสิ้น 17 คัน แนวโน้มการใช้บริการของผู้โดยสารมีทิศทางค่อนข้างดี มีอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายฐาปนากล่าวต่อว่า ราวไตรมาส 4 ของปีนี้ ได้เตรียมเพิ่มเส้นทาง “RTC city bus” เส้นทางใหม่เป็นสายที่ 4 (สาย R4) ซึ่งจะเชื่อม 3 มหาวิทยาลัย 1 ศูนย์ราชการ 1 ศูนย์ประชุมฯ (หลัง มช.-ผ่านเข้า มช.-ถนนห้วยแก้ว-ม.ราชมงคล-เมญ่า-ซูเปอร์ไฮเวย์-ข่วงสิงห์-ม.ราชภัฏ-ศูนย์ราชการ-ศูนย์ประชุมนานาชาติ) จะทำให้ RTC city bus มีโครงข่ายเส้นทางที่ให้บริการเข้าถึงแต่ละย่านชุมชนสำคัญในเขตเมืองได้กว้างและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น