พิโกมีเฮออมสิน-อัลฟ่าปล่อยกู้พันล้าน

สมาคมพิโกมีเฮ ! 5 ส.ค.นี้ “ออมสิน-กองทุนอัลฟ่า” ดีเดย์ปล่อยกู้เฉียด 1 พันล้าน ดอกเบี้ย MOR +1-3.5% หลังดิ้นขอรัฐหาแหล่งสินเชื่อต้นทุนต่ำมาปีกว่า แถมกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันจดทะเบียนใช้ “อุปกรณ์” เป็นหลักประกันเงินกู้ ด้าน “บริษัท ทรีมันนี่ จำกัด” ฉะเชิงเทรา ผู้ประกอบการหัวก้าวหน้าเล็งผนึกสมาคมธนาคารไทย จดทะเบียน “บัญชีออมทรัพย์-บัญชีเงินเดือน” เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน

หลังจากกระทรวงการคลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเปิดให้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียน กำหนดเพดานดอกเบี้ย พร้อมกำหนดค่าดำเนินการอื่น ๆ ไม่เกิน 36% ต่อปี แต่ตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการพิโกมีปัญหาเรื่องการหาแหล่งเงินต้นทุนถูกมาปล่อยกู้ และพยายามขอให้ธนาคารของรัฐเข้ามาสนับสนุนนั้น

ล่าสุด นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ทั่วประเทศ วันที่ 5 สิงหาคม 2561 มีข่าวดีเรื่องการจัดหาแหล่งเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ คือ ธนาคารออมสินได้อนุมัติวงเงินปล่อยกู้ให้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท และจะประกาศเงื่อนไขการอนุมัติวงเงินการปล่อยกู้ และอัตราดอกเบี้ย MOR +1% ถึง +3.5% แต่หากมีสาขาย่อยในหลายจังหวัดกำหนดเพดานรวมไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยเบื้องต้นได้มอบให้สมาคมพิโกไฟแนนซ์ฯเป็นผู้รวบรวมรายชื่อ และข้อมูลของสมาชิกที่มีความประสงค์จะขอกู้เงินจากธนาคารออมสิน ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจะให้เฉพาะคนอยู่ในสมาคมพิโกไฟแนนซ์ และนายกสมาคมต้องลงนามรับรอง คาดว่าจะเริ่มได้ภายใน 7 วัน หลังจากการประกาศอย่างเป็นทางการของธนาคารออมสิน หรือภายในวันที่ 12 สิงหาคม 2561

นอกจากนี้ กองทุนอัลฟ่า (Alpha) ซึ่งเป็นอีกแหล่งเงินทุนจากทวีปยุโรป มีการเสนอปล่อยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ในประเทศไทย จำนวนขั้นต่ำ 20 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือกว่า 600 ล้านบาท โดยกำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะปล่อยเงินกู้ให้ต่อเมื่อรวบรวมจำนวนเงินกู้ขั้นต่ำได้ 330 ล้านบาท โดยจะให้กู้ต่อรายในปริมาณ 2 เท่าของทุนจดทะเบียน ในอัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน หรือ 15% ต่อปี ขณะนี้มีผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ จำนวน 9 ราย เสนอขอวงเงินสินเชื่อรวมทั้งหมด 165 ล้านบาท

นายไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรีมันนี่ จำกัด ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะมาประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการนำอุปกรณ์ที่มีอยู่มาวางเป็นหลักในการกู้ยืมเงินได้ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน เช่น เครื่องชงกาแฟ ไม้มีค่า เป็นต้น ยกเว้นทองคำและทะเบียนรถยนต์ ซึ่งหลักประกันทางธุรกิจสำหรับพิโกไฟแนนซ์นี้ ผู้ขอกู้ไม่จำเป็นต้องนำหลักประกันมาไว้ที่บริษัทพิโกไฟแนนซ์ สามารถเก็บไว้ใช้ในการหารายได้ โดยไม่สามารถขาย ซ่อนเร้น หรือทำให้เสียหายได้

“อุปกรณ์ที่ใช้เป็นหลักประกันได้นั้น จะมีข้อบังคับผ่านพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มาตรา 86 ที่ควบคุมการทำให้หลักประกันเสียหาย ซ่อนเร้น ตลอดจนโอนให้ผู้อื่นนั้น ต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นโทษทางอาญาควบคุมอยู่ ทั้งนี้ ในวันที่ 5 สิงหาคม 2561 หลังการประชาสัมพันธ์การจดทะเบียนหลักประกันในการประชุมสมาคมพิโกไฟแนนซ์แห่งประเทศไทยแล้ว จะเริ่มทำการจดทะเบียนสมาชิกและยื่นรับจดทะเบียนผู้ประกอบการที่ต้องการใช้หลักประกันดังกล่าว ในวันที่ 6 สิงหาคม 2561 โดยผู้ประกอบการพิโกแต่ละรายต้องแต่งตั้งตำแหน่งซูเปอร์แอดมินขึ้นมา

นายไชยวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนบริษัท ทรีมันนี่ จำกัด มีการใช้โมเดลการจดทะเบียนบัญชีออมทรัพย์ หรือบัญชีเงินเดือนของผู้กู้เงินเป็นหลักประกัน ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 เช่นเดียวกัน โดยในอนาคตจะทำการพูดคุยและอาจนำไปสู่การร่วมงานกันระหว่างสมาคมพิโกไฟแนนซ์ และสมาคมธนาคารไทย ในการเชื่อมโยงบัญชีและข้อมูลในการกู้ยืมเงิน เพื่อให้สามารถควบคุมได้ ซึ่งหากใช้บัญชีเป็นหลักประกันได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้หลักประกันแบบอื่น และยังสามารถป้องกันการเกิดหนี้เสียได้ เพราะสามารถหักเงินจากบัญชีได้เลย

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์มาจดทะเบียนประมาณ 276 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่สมาคมพิโกไฟแนนซ์แห่งประเทศไทยมีสมาชิกผู้ประกอบการทั่วประเทศทั้งสิ้น 265 ราย และหากพิจารณาเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.) พบมีผู้ประกอบการพิโกมาจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 63 แห่ง โดยบางแห่งเป็นสาขาของผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น บริษัท มั่งมีกรุ๊ป 2017 จ.ระยอง มีเครือข่ายอีก 2 สาขา คือ บริษัท มั่งมีกรุ๊ป จำกัด 2018 จ.ระยอง และบริษัท มั่งมีกรุ๊ป 2015 จำกัด จ.ชลบุรี นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทแสนสุขพิโก มีเครือข่ายอีก 3 สาขา ได้แก่ บริษัท แสนสุขพิโก นครสวรรค์ จำกัด, บริษัท แสนสุขพิโก พิษณุโลก จำกัด และบริษัท แสนสุขพิโก นครปฐม จำกัด ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวส่อแววจะเกิดปัญหาหลังผู้ประกอบการหลายรายร้องเรียนว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้านเงินทุนสำรองในการปล่อยเงินกู้เข้าสู่ระบบเพื่อฟื้นฟูปัญหาหนี้นอกระบบ