พิโกฯติงสินเชื่อ “ออมสิน” กฎเข้มกู้ยาก

ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ติงออมสินวางเงื่อนไขปล่อยกู้โหด ไม่สอดคล้องกับสภาพการกู้ยืมเงินในความเป็นจริง กำหนดหลักการตั๋ว PN อายุ 180 วัน ต้องยื่นรายละเอียดการปล่อยกู้ย้อนหลัง 1 เดือน ปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะ 50% จากยอดปล่อยกู้ลูกค้า ด้านนักกฎหมายอธิบายแนวทางจดหลักประกันทรัพย์สินลูกหนี้ แนะเจ้าหนี้รอบคอบตรวจสอบหลักประกัน-วางสัญญารัดกุมประกันความเสี่ยง

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2561 สมาคมพิโกไฟแนนซ์ฯจัดประชุมสมาชิก โดยเชิญตัวแทนจากธนาคารออมสินเข้าชี้แจงในประเด็นการอนุมัติสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) รวมถึงเชิญนักกฎหมายมาให้ความรู้แก่สมาชิกในการจดหลักประกันทางธุรกิจ โดยนายอวยชัย สังข์ทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารออมสินได้อนุมัติหลักการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยกำหนดเงื่อนไขในการขอสินเชื่อ ประกอบด้วย 1.จดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมาย หรือเป็นบริษัทจำกัด และมีใบอนุญาตประกอบการในฐานะพิโกไฟแนนซ์ 2.มีลายเซ็นกำกับจากคณะกรรมการสมาคมพิโกไฟแนนซ์ หรือนายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์

โดยสินเชื่อสำหรับพิโกไฟแนนซ์นั้นจะเป็นเงินกู้ระยะสั้น ในระบบตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว PN อายุ 180 วัน ซึ่งในปีแรกจะพิจารณาจากผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการ โดยกำหนดเพดานการปล่อยกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท/ราย/จังหวัด หรือหากมีหลายสาขาในจังหวัดเดียวกันจะมีเพดานรวมกันที่ 10 ล้านบาท และหากมีสาขาในหลายจังหวัดจะมีเพดานรวมกันไม่เกิน 40 ล้านบาท หรือ 4 จังหวัด เพื่อประกันความเสี่ยงของธนาคารออมสินในตัวผู้ประกอบการ รวมถึงดอกเบี้ยจะเริ่มที่ MOR+1% จนถึง +3.5% ต่อปี โดยจะคิดดอกเบี้ยเท่าไรขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละราย และรายละเอียดของผู้ประกอบการและลูกหนี้ของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ วงเงินของตั๋วสัญญาใช้เงินในแต่ละฉบับได้กำหนดวงเงินไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีเงื่อนไขการตรวจจ่าย คือ ผู้ประกอบการต้องส่งรายชื่อของลูกหนี้ และสัญญากู้เงินมาประกอบการเบิกจ่ายทุกครั้ง สัญญานำเบิกและทำตั๋วไม่เกิน 1 เดือน และให้เบิกได้ไม่เกิน 50% ของยอดเงินกู้ที่นำเสนอขอสินเชื่อ ซึ่งสินเชื่อดังกล่าว ธนาคารออมสินได้มอบหมายให้สมาคมศูนย์ธุรกิจ SMEs เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบในระดับภูมิภาค จากที่เดิมมีเพียง 18 ศูนย์ ดูแลรายตามภาคเฉลี่ย 2-3 จังหวัด/ศูนย์ ซึ่งหากเป็นไปตามแผนของธนาคารออมสินจะมีการจัดตั้งศูนย์ธุรกิจ SMEs ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ภายในเดือนกันยายน 2561 และผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์สามารถติดต่อขอกู้ยืมที่ศูนย์ในจังหวัดที่จดทะเบียนบริษัทไว้ได้ทันที

ด้านนายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนี้ไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคม สมาคมพิโกไฟแนนซ์จะทำหน้าที่ในฐานะตัวกลางรวบรวมรายชื่อสมาชิก และจำนวนที่ต้องการขอสินเชื่อจากธนาคารออมสิน เพื่อนำเสนอให้ทางธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อในระยะเริ่มต้น แต่จะเป็นยอดเงินรวมเท่าไรขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินกำหนด และรายละเอียดอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ โดยจะทราบรายละเอียดในการปล่อยสินเชื่อครั้งแรกนี้ราวต้นเดือนกันยายน

พิโกแนะออมสินปรับระบบ

ในขณะที่นายไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรีมันนี่ จำกัด ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ตั้งข้อสังเกตต่อเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารออมสินว่า ไม่สอดคล้องกับระบบในการปล่อยกู้ของพิโกไฟแนนซ์ เพราะเป็นการปล่อยกู้เพียง 50% ของปริมาณที่ผู้ประกอบการปล่อยกู้ในเดือนที่ผ่านมา เท่ากับว่าได้เพิ่มอัตราเงินหมุนเข้าไปในตัว

ผู้ประกอบการในปริมาณที่น้อยกว่าเดิม และมีแนวโน้มจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถปล่อยกู้ได้ในเดือนถัดมาในปริมาณที่น้อยลงกว่าเดือนแรก เนื่องจากได้รับเงินสนับสนุนเพียง 50% ของการปล่อยกู้ในเดือนแรก ทั้งนี้ ในท้ายที่สุดเงินหมุนเวียนในระบบพิโกที่จะนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะลดลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่มีเงินก้อนใหญ่สำหรับผู้ผู้ประกอบการใช้หมุนในการจัดการ

นอกจากนี้ รูปแบบการใช้ตั๋วเงินของธนาคารออมสินในการปล่อยกู้เอง ไม่เข้ากับระบบการใช้เงินของกลุ่มประชาชนฐานรากที่กู้เงินกับพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ระบบจ่ายดอกเบี้ยรายเดือนแล้วจ่ายเงินต้นเต็มจำนวนในปลายสัญญา กล่าวคือมีทั้งระบบที่ทั้งผ่อนชำระเงินต้น และไม่ผ่อนชำระเงินต้น ตามแต่ผู้ประกอบการแต่ละรายกำหนด ทำให้ในระยะเวลา 180 วันของตั๋ว PN ของธนาคารออมสินไม่เพียงพอต่อการนำเงินต้นมาจ่ายสินเชื่อคืนของผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ เนื่องจากเงินถูกนำไปใช้หมุนเวียนในการปล่อยกู้แก่ลูกค้าหมด ดังนั้นหากจะมีมาตรการเพื่อสนับสนุนพิโกไฟแนนซ์อาจจำเป็นต้องคำนึงเงื่อนไขดังกล่าวด้วยผู้เชี่ยวชาญแนะหลักประกันใหม่

ส่วนประเด็นการใช้ทรัพย์สิน หรืออุปกรณ์สำหรับประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันในการกู้-ยืมเงินจากพิโกไฟแนนซ์ เช่น ตู้เย็น เครื่องชงกาแฟ ซึ่งได้มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น ศาสตราจารย์พิเศษไพฑูรย์ คงสมบูรณ์ อาจารย์พิเศษ มหาบัณฑิต หลักสูตรนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนำทรัพย์สินดังกล่าวมาใช้เป็นหลักประกันนั้นจะสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นต่อได้ โดยต้องมีข้อตกลงในกำกับให้ลูกหนี้ดูแลและบำรุงหลักประกันดังกล่าว โดยเสนอว่าให้ระบุในสัญญาไปด้วยว่า หากทรัพย์สินผิดไปจากการรับรองในครั้งแรก ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญา


ทั้งนี้ กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าลูกหนี้จะต้องทำบัญชีเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน ดังนั้นในข้อสัญญาหากทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน ประกอบด้วย ทรัพย์สินหลายชิ้น ลูกหนี้จะต้องแจ้งทรัพย์สินหลักประกันให้เจ้าหนี้ทราบ ทุก ๆ 15 วัน เพื่อเจ้าหนี้จะได้ตรวจสอบว่า จำนวน ปริมาณ และมูลค่าของทรัพย์สินนั้นยังมีอยู่เท่าเดิมหรือไม่ และหากมูลค่าลดลงสามารถเรียกร้องให้ลูกหนี้เพิ่มหลักประกันได้ โดยฝ่ายเจ้าหนี้หรือพิโกไฟแนนซ์นั้นต้องอาศัยกลไกด้านข้อสัญญา ในการรับประกันความเสี่ยงของตนเอง