ทุ่ม1.2พันล้านบูม “บูเก๊ะตา”เชื่อมท่องเที่ยววัฒนธรรม

นราธิวาสลุยพัฒนา 2 ด่าน “บูเก๊ะตา-ตากใบ” เสริมแกร่งค้าชายแดน รัฐทุ่ม 1.2 พันล้านสร้างด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ขณะที่ด่านตากใบลุ้นโครงการสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่เกาะสะท้อน มูลค่าโครงการ 2 พันล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าค้าชายแดน 3 ด่านไม่ต่ำ 4.5 พันล้านในปี 2560

ข้อมูลจากสำนักงานการพาณิชย์ จังหวัดนราธิวาส ระบุว่า จังหวัดนราธิวาสมีมูลค่าการค้าชายแดน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2558 เฉลี่ย 3,414.47 ล้านบาท โดยปี 2558 เป็นการส่งออก 843 ล้านบาท สินค้าสำคัญ ได้แก่ เศษยาง บุหรี่ และแป้งมันสำปะหลัง ขณะที่การนำเข้า 2,118 ล้านบาท ได้แก่ ไม้แปรรูป มะพร้าว และหนังโคทั้งตัวหมักเกลือ สัดส่วนการค้าชายแดนภาพรวม ด่านสุไหงโก-ลก ร้อยละ 88 รองลงมา คือ ด่านตากใบ ร้อยละ 10 และด่านบูเก๊ะตา ร้อยละ 2 โดยจังหวัดนราธิวาสตั้งเป้ามูลค่าการค้าชายแดนปี 2560 ไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท ภายใต้โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ปัจจุบันด่านสุไหงโก-ลกได้รับงบประมาณ 10.7 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องตรวจหนังสือเดินทางระบบ PIBICS 13 ชุด และระบบ E-Finger Print 5 ชุด และกล้องโทรทัศน์วงจรปิด 30 ตัว ขณะที่ด่านบูเก๊ะตากำลังก่อสร้าง ส่วนด่านตากใบเสนอโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก มูลค่า 2,000 ล้านบาท

ดร.อติสันต์ ภูวพิพัฒนวงศ์ นายด่านศุลกากรบูเก๊ะตา เปิดเผยว่า ด่านบูเก๊ะตาอยู่ตรงข้ามกับด่านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย กระทรวงมหาดไทยประกาศเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวร

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 โดยการสัญจรผ่านทางสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก เชื่อมบ้านบูเก๊ะตา ประเทศไทย และบูกิต บุหงา ประเทศมาเลเซีย ด่านทั้งสองฝั่งเปิดทำการทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00-18.00 น. ขณะที่ด่านศุลกากรบูเก๊ะตา เปิดให้บริการนำเข้า ส่งออก เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 มูลค่าการค้า เฉลี่ยเดือนละ 2.4 ล้านบาท สินค้ายังเป็นไก่แช่เย็น แช่แข็ง ส่วนการขยายตัวสินค้าจะมากขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการปรับปรุงสะพาน ที่ปัจจุบันรับน้ำหนักได้เพียง 15 ตัน หากขจัดปัญหานี้ได้ จะทำให้สถิติคนเข้าออก และสินค้าจะทวีสูงขึ้น เป็นด่านที่น่าจับตาคู่กับด่านสุไหงโก-ลก

บูมค้าชายแดน – โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรบูเก๊ะตาแห่งใหม่ บนพื้นที่ 40 ไร่ ที่อ.แว้ง จ.นราธิวาส อยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 1 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นปี 2560

สำหรับยานพาหนะที่ผ่านเข้าออก ที่ไม่ใช่รถสินค้า เฉลี่ยเดือนละ 8,770 คัน/เดือน คนเข้าออกเฉลี่ยวันละ 770 คน ในอนาคตน่าจะเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าทางสะดวกขึ้น อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากประชาชนทั้ง 2 ฝั่งนับถือศาสนาเดียวกัน บริโภคอาหารเหมือนกัน โดยฝั่งไทยมีความได้เปรียบเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนามากกว่า จึงมองว่าบูเก๊ะตาจะเป็นเส้นทางอนุรักษ์ เชื่อมโยงไป กลันตัน-กัวลาลัมเปอร์-ยะโฮร์บาห์รู-สิงคโปร์ ล่าสุดจะเห็นว่ามีตัวเลขแปลก ๆ คือ ชาวมาเลเซียเข้ามาทางด่านบูเก๊ะตา และโก-ลก ไปใช้เครื่องบินที่นราธิวาส เชื่อมโยงไปแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของประเทศไทยขณะนี้มีเพิ่มมากขึ้น

“วันนี้เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงบริเวณด่านบูเก๊ะตา คือ มีการเปิดร้านขายยาขนาดใหญ่ ที่ไม่น่าจะเกิดที่ชายแดน มีการก่อสร้างตึกรามบ้านช่อง ถนนมีการขยาย 4 เลน ที่ดินจากราคาหลักแสน ตอนนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ขณะที่ฝั่งมาเลเซีย มีการสร้างห้างริมทาง คล้ายตลาดโรงเกลือเพื่อให้คนไทยไปขายของ ส่วนหนึ่งเป็นกลยุทธ์ให้คนมาเลเซียซื้อของในประเทศตัวเอง ปัจจุบันมีคนไทยเข้าไปค้าขายวันหนึ่งประมาณรถ 100 คัน”

สำหรับการพัฒนาด่านศุลกากร บนพื้นที่ 40 ไร่ โครงการปรับปรุงเพิ่มเติม วงเงิน 23.5 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นปี 2560 และระยะที่ 3 วงเงิน 92.9 ล้านบาท และมติ ครม.วันที่ 2 สิงหาคม 2559 ได้อนุมัติโครงการจัดหาที่ดินเพิ่มเติมเพื่อการดำเนินโครงการพัฒนาด่านศุลกากรบูเก๊ะตา

รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,152 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดหาที่ดิน 430 ล้านบาท ค่าก่อสร้างรั้วระยะแรก 12.8 ล้าน และค่าก่อสร้าง ระยะที่ 4 ปี (2562-2564) 1,066.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านถือว่าล่าช้า เพราะด่านบุกิตบุหงา รัฐกลันตัน ได้ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2553 ด้วยงบประมาณ 45.8 ล้านริงกิต

ด้านนายศิริพงษ์ วุฒินันท์ นายด่านศุลกากรตากใบ กล่าวว่า ด่านตากใบเปิดทำการเวลา 05.00-18.00 น. ดูแลทั้งทางบก และทางน้ำที่ยาวเกือบ 80 กิโลเมตร ทำให้ภารกิจค่อนข้างเยอะ ขณะที่การนำเข้าส่งออกด่านนี้ไม่สูงมากนัก เนื่องจากค้าทางทะเลมีข้อจำกัดด้วยการใช้แพขนานยนต์ข้ามฝั่ง ซึ่งมีอยู่ประเทศละ 1 ลำเท่านั้น

ผลัดกันขนคนและสินค้าอย่างละครึ่งชั่วโมง ใช้มานาน 20 กว่าปี มีปัญหาซ่อมแซมตลอด ขณะนี้ได้ทำเรื่องของบประมาณจาก ศอบต.อนุมัติแล้ว และใช้งบประมาณจาก อบจ.ส่วนหนึ่ง รวม 38 ล้านบาท คาดว่าอีก 5-6 เดือนจะมีเรือมาทดแทน นอกจากนี้ได้รับจัดสรร 3 ล้านบาทมาสร้างโป๊ะเทียบเรือ งบประมาณ 9 ล้านบาท ในโครงการก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือศุลกากรด่านชายแดนตากใบ และงบประมาณ 1.5 ล้านบาทสร้างอาคารห้องน้ำ เนื่องจากปัจจุบันใช้ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดการชำรุด และสกปรก

นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก เพื่อเป็นการขนส่งทางบก ปัจจุบันยังไม่ลงตัว ล่าสุดประชุมร่วมกับ สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง คาดว่าจะใช้งบฯทั้งสิ้น 2,000 กว่าล้านบาท หรืออาจมากกว่า มีข้อตกลงร่วมกัน 2 ฝ่ายว่าสร้างที่ ต.เกาะสะท้อน

นายศิริพงษ์กล่าวอีกว่า ถ้ามีสะพานเราจะได้เปรียบ เนื่องจากระยะทางไม่ไกลจากจังหวัดนราธิวาส และชายแดนกลันตัน เป็นระยะทางไม่เกิน 60 กิโลเมตร ขณะนี้ทราบว่าทางมาเลเซียกำลังจะก่อสร้างถนน เพื่อกระจายสินค้าไปภาคเหนือของเขา ถึงแม้ว่าวันนี้รัฐกลันตันใหญ่อันดับ 4 จะมีฐานะยากจน เพราะส่วนมากทำเกษตร แต่ทิศทางการพัฒนาของประเทศมาเลเซียได้กำหนดยุทธศาสตร์เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตร อีกทั้งโครงการทำสะพานข้ามฝั่งตรงแม่น้ำโก-ลก อยู่ในเขตพื้นที่ตากใบ ต.เกาะสะท้อน แม้ว่าโครงการนี้จะเกิดไม่เร็วนัก แต่ไม่นานเกินไป เพราะรัฐบาลไทยกับมาเลเซียได้ทำเอ็มโอยูแล้ว

“หากมีสะพานมั่นใจว่าค้าชายแดนจะโตมากกว่า 50% และจะเพิ่มเป็น 100% ในปีถัดไป เราเติบโตที่สินค้าที่จำเป็น อุปโภคบริโภค และสินค้าเกษตรจะมาตากใบมากขึ้น”