ผู้ว่าฯเชียงใหม่เร่งปั้นสมาร์ทซิตี้ หนุนขนส่งสาธารณะ-เมืองสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 สิงหาคม 2561) นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมสภากาแฟสื่อมวลชน เพื่อพบปะและพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากับสื่อมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่ ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังเร่งเดินหน้าการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ โดยยุทธศาสตร์เชิงรุก จะมุ่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) พร้อมเตรียมเปิดเวที Chiang Mai Forum เพื่อพบปะหารือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน และสถาบันการศึกษาราว 20-30 คน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตั้งเป้าว่าจะทำทุกเดือนโดยเวทีแรกเริ่มสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 จะนำหัวข้อการพัฒนา Smart City เป็นประเด็นแรก ซึ่งปัจจัยหนึ่งของการเป็นสมาร์ท ซิตี้นั้น การมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเมือง และจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรของเมือง

ล่าสุด รัฐบาลได้อนุมัติให้เร่งดำเนินการโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่ สนข.ได้ทำการศึกษา โดยเร็วๆ นี้ สนข.และ รฟม.จะเข้ามาหารือในแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าว ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาคเอกชน (RTC) ที่ได้มีการลงทุนให้บริการรถบัสโดยสารประจำทาง (Smart Bus) ในจังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นโอกาสการพัฒนาเมืองที่สำคัญ โดยทางจังหวัดเชียงใหม่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคเอกชนเดินหน้าต่อไปให้ได้ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเห็นว่าจำเป็นต้องมีจุดบริการ-จุดจอดที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถบัสโดยสารสาธารณะให้มากขึ้น ขณะเดียวกันจะเร่งส่งเสริมเมืองสุขภาพ โดยต้องยึดโยงทั้งเมืองและชนบท ทำให้คนที่เข้ามาอยู่เชียงใหม่อยู่อย่างมีความสุขและมีความปลอดภัย โดยศักยภาพของเชียงใหม่ที่มีอยู่แล้วต้องพัฒนาให้ดีขึ้นและเกิดมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะศักยภาพของความเป็นเมือง Food Valley ก็ต้องพัฒนาระบบเกษตรปลอดภัย

นายศุภชัยกล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่จะเดินหน้าด้วยยุทธศาตร์เชิงรุก รับ และปรับตัว โดยเชิงรุกคือการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น การพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ ขณะเดียวกันก็ต้องรุกพัฒนาปัญหาเดิมที่มีอยู่ อาทิ ปัญหาน้ำเสียในคลองแม่ข่า ปัญหาขยะและขยะติดเชื้อ ที่ต้องพัฒนาเรื่องการคัดแยกขยะ ส่วนยุทธศาสตร์เชิงรับและปรับตัวคือ การปรับและพัฒนาในสิ่งที่มีต้นทุนอยู่แล้วให้ดีขึ้น เช่น ด้านท่องเที่ยว ด้วยการทำให้เมืองมีความน่าอยู่และปลอดภัย และรักษาแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ของเมืองให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ต้องให้ความสำคัญทั้งเมืองเชียงใหม่ที่มีจำนวน 2,066 หมู่บ้าน โดยภาคชนบทต้องสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ด้วยกระบวนการเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่ในภาคเมืองก็ต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชน-เอสเอ็มอีมีความเข็มแข็ง โดยการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่จะต้องมุ่งให้เกิดการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและประชาชนอยู่อย่างมีความสุข