ผู้ว่าฯ “ภานุ แย้มศรี” เปิดแผนพัฒนานนทบุรี ปรับผังเมือง-ขนส่งมวลชน

“นนทบุรี” หนึ่งในจังหวัดปริมณฑลที่เชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะถูกวางไว้ให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัย แต่ทิศทางการไปสู่เมืองที่อยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพนั้น “ภานุ แย้มศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้จังหวัดนนทบุรีมีการขยายตัวของอาคารบ้านเรือนมากขึ้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร แบ่งเป็น คอนโดฯ 397 โครงการ 142,686 ห้องชุด และบ้านจัดสรร 1,406 โครงการ 290,127 หลัง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการใหม่ทุกเดือน เดือนละ 5-6 โครงการ ทำให้การพัฒนาที่ดินเกิดขึ้นตลอดเวลา ปัจจุบันมีประชากรตามทะเบียนราษฎร 1.2-1.3 ล้านคน แต่มีประชากรแฝงประมาณ 7 แสนคน รวมแล้วมีประชากรที่อาศัยอยู่กว่า 2 ล้านคน

ภาพรวมเศรษฐกิจ-การลงทุน

โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดนนทบุรี ปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 อยู่ที่ 284,726 ล้านบาท ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวประมาณ 187,589 บาท มีทิศทางของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2561 คาดว่ามีการขยายตัวร้อยละ 4.4 รายได้หลักที่สร้างเศรษฐกิจให้กับจังหวัดมาจาก 3 กลุ่ม คือ 1.การค้าส่ง-ปลีก มีห้างสรรพสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าภายในจังหวัดกว่า 13 แห่ง 2.ภาคอุตสาหกรรมและการผลิต 3.การให้บริการด้านชุมชน สังคม และบริการอื่น ๆ ตามลำดับ หากอนาคตสามารถนำผู้ประกอบการในนนทบุรีที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ เข้ามาจดทะเบียนในจังหวัดได้ ภาษีกลุ่มนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการลงทุนสาธารณูปโภคเข้ามาในนนทบุรีหลายด้าน ทั้งทางหลวงพิเศษ ทางหลวงตัดใหม่ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รถไฟฟ้าสายสีม่วง ขณะเดียวกันรถไฟฟ้าสายสีชมพูอยู่ระหว่างดำเนินการ มีเรือด่วนที่สามารถสัญจรไปยังกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญ เพราะทำให้การสัญจรจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปภาคตะวันตกของประเทศสะดวกขึ้น

ปีงบประมาณ 2560-2561 จังหวัดได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการต่าง ๆ วงเงินกว่า 7,663.39 ล้านบาท และ 3,582.40 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในปี 2561 ยังคงทรงตัว แต่ด้านเกษตรกรรมมีแนวโน้มหดตัวลง เนื่องจากการขยายตัวของสังคมเมืองทำให้พื้นที่การเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง

เร่งแก้ปัญหาขยะพัฒนาเมือง

นโยบายการขับเคลื่อนจังหวัด คือ “จังหวัดสะอาด” สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยการใช้หลัก 3R คือ การใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ มีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะ 25% จากที่มีอยู่ในจังหวัดประมาณ 1,400 ตัน/วัน ซึ่งมีแนวทางการขับเคลื่อน 11 แนวทาง ได้แก่ การคัดแยกขยะต้นทาง กำจัดขยะอันตราย ขยะติดเชื้อ ขยะชิ้นใหญ่ การทำความสะอาดถนนสายหลัก ถนนสายรอง คูคลอง จัดระเบียบป้ายโฆษณา กำจัดวัชพืชริมทาง การจัดระเบียบสายไฟฟ้า/สายสื่อสาร และการจัดอาคาร

นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังได้ดำเนินโครงการที่สำคัญ เช่น การบริหารจัดการน้ำท่วม การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เพิ่มคุณภาพการให้บริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น

“การเป็นเมืองที่อยู่อาศัยนั้น หนีไม่พ้น 4 เรื่อง สะอาด สะดวก สบาย และปลอดภัย หากเราทำได้ ประชาชนจะมีความสุข ซึ่งเรื่องใหญ่ที่สุดของจังหวัดในตอนนี้ คือ เรื่องของความสะอาด ผมพยายามกระตุ้นทุกคนในจังหวัดให้รับรู้ว่า นนทบุรีจะสะอาดไม่ได้เลย ถ้าทั้ง 3 ภาคส่วน ภาครัฐ ภาคประชาชน ประชาสังคมและผู้ประกอบการไม่ร่วมมือกัน วิสัยทัศน์ของจังหวัด คือ เมืองที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพดี ไปสู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องทำงานบูรณาการร่วมกับท้องถิ่น เพื่อรองรับการเข้าสู่เมืองที่อยู่อาศัยชั้นดีของคนทุกระดับ”

ปรับผังเมือง-ระบบขนส่ง

ด้านการจราจรของนนทบุรีเป็นหนึ่งในปัญหาไม่ต่างไปจากกรุงเทพมหานคร เพราะมีข้อจำกัดในระบบขนส่งมวลชน รถติดทั้งขาเข้า-ขาออก ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องของผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรีเดิมที่หมดอายุไป และผังเมืองใหม่กำลังอยู่ในขั้นตอนการยกร่าง และกลายมาเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่และการขยายถนน นับเป็น 1 ใน 2 จังหวัดของประเทศไทยที่กรมโยธาธิการและผังเมืองถ่ายโอนอำนาจให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรีเป็นเจ้าของเรื่อง และต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีจดหมายแสดงข้อคิดเห็นขอปรับปรุงผังเมืองกว่า 1,093 ฉบับ ต้องการปรับเปลี่ยนสีในการใช้ที่ดิน 63 คำร้อง ปรับข้อกำหนดของสีที่ใช้ในพื้นที่ 68 คำร้อง และเสนอการปรับเปลี่ยนคมนาคมอีก 5 คำร้อง

“ทางจังหวัดได้นำข้อเสนอของทุกฝ่ายมาประมวลผลทั้งหมดตามขั้นตอน ซึ่งการยกร่างผังเมืองต้องผ่านหลายกระบวนการ ฉะนั้น การขยายถนนแก้ปัญหาการจราจรอาจจะต้องใช้เวลาชั่วอายุคน แต่การพัฒนาเมืองและสิ่งปลูกสร้างจะต้องยึด พ.ร.บ.ควบคุมอาคารและสิ่งปลูกสร้างฯตามเทศบัญญัติ โดยให้เป็นไปตามทิศทางของผังเมือง”


ขณะเดียวกัน การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสำรองอย่าง shuttle bus อีกหนึ่งโครงการที่เริ่มมีการพูดคุยกันเพื่อนำมาแก้ปัญหาจราจร โดยอาจจะทำเป็นสมาร์ทบัส ซึ่งอาจจะศึกษาเส้นทางถนนราชพฤกษ์ทั้ง 2 ฝั่งของจังหวัดนนทบุรี เนื่องจากปัจจุบันไม่มีสัมปทานเดินรถอยู่ โดยเป็นถนนที่มีบ้านจัดสรรตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จะมีการประชุมพูดคุยกันระหว่างหลายหน่วยงาน ได้แก่ อบจ. ขนส่งจังหวัด ซึ่งจะทำหน้าที่ในการดูแลเส้นทางเดินรถ แขวงทางหลวงชนบท ตำรวจ บริษัทเอกชน และรถไฟฟ้ามหานคร เพื่อจะตั้งต้นว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ หากโครงการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จริง คาดว่าสามารถลดการใช้รถส่วนตัวได้ 10-15% และทำให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับประชาชนที่ให้บริการรถสองแถวเพื่อให้รู้เวลาเดินรถอย่างเป็นเวลา